×

บทเรียนหุ้น Alibaba กับสงครามจิตวิทยาในตลาดหุ้น

06.02.2021
  • LOADING...
หุ้น Alibaba

ข่าวใหญ่ที่สุดเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาคือข่าว แจ็ค หม่า หายตัวไป ตอนนั้นนักลงทุนก็เก็งกันไปต่างๆ นานา เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากโดยปกติแล้ว แจ็ค หม่า ถือเป็นมหาเศรษฐีที่มีการออกสื่อบ่อยมากๆ แต่อยู่ดีๆ ก็หายตัวไปเป็นเดือน คนจึงเริ่มสังเกตกันว่าหรือจะมีอะไรมากกว่านั้น?

 

ก่อนที่ข่าวจะออกมาในช่วงวันที่ 4 มกราคม ช่วงนั้น Alibaba ของ แจ็ค หม่า นับว่าเจอศึกหนักจากรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็นการยับยั้ง IPO ของ Ant Financial หรือการเข้าตรวจสอบการผูกขาดธุรกิจของ Alibaba ตอนนั้นหุ้น Alibaba เคยขึ้นไปเทรดสูงสุดที่ 319 ดอลลาร์ ลงมาต่ำสุดที่ 211 ดอลลาร์ ใช้เวลาแค่เดือนกว่าๆ หุ้นลงมาแล้ว 34% หรือประมาณ 1 ใน 3 ถือว่าเยอะมากนะครับกับเวลาเพียงแค่เดือนกว่าๆ

 

หลังจากนั้นก็มีข่าว แจ็ค หม่า หายตัวตามออกมา นักลงทุนในตลาดก็ตื่นตระหนกกัน หลายคนรอบตัวผมขายหุ้นทิ้ง คิดว่า Alibaba จบแล้ว แต่เชื่อไหมครับว่าตอนที่ข่าวออกมานั้น หุ้นของ Alibaba ได้ทำจุดต่ำสุดในรอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

วันที่ข่าว แจ็ค หม่า หายตัวออกมาคือวันที่ 4 มกราคม 2564 หุ้น Alibaba ติดลบไป 2.1% แต่วันรุ่งขึ้นหุ้นกลับพลิกตัวขึ้นแรงถึง 5.51% ท่ามกลางข่าวร้ายสารพัดในตอนนั้น สุดท้ายวิ่งมาถึง 257 ดอลลาร์ ขึ้นจากวันที่ข่าว แจ็ค หม่า ออกที่ 227 ดอลลาร์ ตอนนี้กำไรไปแล้วอย่างน้อย 13% ใช้เวลาไม่ถึง 20 วัน ขัดกับความรู้สึกและข่าวที่มากระทบหูตลอดเวลามากๆ สาเหตุคืออะไร 

 

1. ตลาดหุ้นเป็นสถานที่ที่เทรดอยู่บนความคาดหวังของนักลงทุนเสมอ ไม่เคยเทรดอยู่ในเหตุการณ์ปัจจุบัน หลายๆ ครั้งเราจะเจอว่าเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อหุ้นคือซื้อตอนที่มีข่าวร้ายออกมาหนักๆ จนหุ้นถูกทิ้งลงมามากอย่างมีนัย ในกรณีของ Alibaba คือลงมา 1 ใน 3 เลยทีเดียว คนในตลาดพากันกลัว อ่านข่าวก็มีแต่ข่าวร้าย เมื่อถึงจุดที่มืดมนที่สุดของหุ้นตัวนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเดียวคือการกลับสู่แสงสว่าง หุ้นจะเกิดการกลับตัว เลิกตอบรับกับข่าวร้าย และวิ่งขึ้นไปรอข่าวดีแบบหุ้น Alibaba รอบนี้ และนี่คือเหตุผลว่าทำไม วอร์เรน บัฟเฟตต์ จึงบอกว่า “จงกล้าในเวลาที่คนอื่นกลัว”

 

2. แม้การ ‘กล้าในเวลาที่คนอื่นกลัว’ จะเป็นสิ่งที่ควรทำในตลาดหุ้น แต่ควรจะต้องกล้าในสิ่งที่ถูกต้องด้วย หุ้นที่มีพื้นฐานคือหุ้นที่เราควรกล้าในการช้อนซื้อกรณีมีข่าวร้ายและตกมาหนักๆ ในขณะเดียวกันถ้าหุ้นไม่มีพื้นฐานการช้อนซื้อในตอนที่มีข่าวร้ายจะเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์ได้เลยว่าหุ้นที่เราซื้อนั้นจะกลับมาดีเหมือนเดิมหรือไม่ จะกลับมาโตได้หรือเปล่า ความแข็งแกร่งจะเปลี่ยนแปลงไปไหม 

 

ลองนึกภาพว่าหุ้นที่คุณซื้อตอนมีข่าวร้ายเป็นหุ้นที่คุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทเลยนอกจากชื่อหุ้น การจะควบคุมจิตใจให้ไม่กลัวและนอนหลับได้ตามปกตินั้นยากมาก ดังนั้นในกรณีที่หุ้นพื้นฐานไม่ดีหรือไม่มีพื้นฐาน การกลัวในเวลาที่คนอื่นกลัวอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า

 

3. นอกจากเข้าใจตัวหุ้นแล้วอาจจะต้องเข้าใจ ‘เหตุ’ ที่ทำให้หุ้นตัวนั้นตกด้วยว่าเพราะอะไร อย่างรอบนี้บอกได้ชัดๆ เลยว่า Alibaba ตกลงมาจากการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลจีน หุ้นตกลงมาด้วยเหตุผลอะไรก็มักจะกลับขึ้นไปเมื่อเหตุผลนั้นมันหายไป ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการเล่นสงครามจิตวิทยาเยอะมาก การกระทำของรัฐบาลหลายๆ ครั้งไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการทำลายธุรกิจ แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะสื่อสารไปหาคนที่กำลังทำตัว ‘ไม่น่ารัก’ ในสายตาของรัฐบาลให้เข้ามาจิบน้ำชาคุยกัน สุดท้ายก็ได้ข้อสรุป ถ้าเราไปอ่านบทสรุปเรื่อง Ant Financial จะเจอที่ แจ็ค หม่า บอกว่ารัฐบาลอยากได้อะไรของ Ant Financial ก็ให้เอาไปได้เลย จริงๆ ตรงนี้เป็นจุดที่ แจ็ค หม่า บอกแล้วว่ายอมปรับตัว แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก แต่เข้าเมืองตาหลิ่วคงต้องหลิ่วตาตาม และเล่นตามกฎของบ้านเมืองนั้นๆ

 

ผมไม่คิดว่าประเทศจีนที่พยายามเชื้อเชิญให้คนเข้าไปในลงทุนในประเทศจะทำลาย Alibaba และ Ant Financial ด้วยวิธีการป่าเถื่อนแบบนี้ ผมยังคงเชื่อว่าเป็นการคุยเพื่อตักเตือน แจ็ค หม่า มากกว่า เพราะไม่อย่างนั้นภาพลักษณ์ที่จีนพยายามปรับปรุงจะต้องถูกชาวโลกมองแย่ๆ ไปอีกนาน แล้วถึงตอนนั้นใครจะกล้ามาลงทุนในจีน

 

ถ้าสามารถเชื่อมต่อเรื่องราวด้วยข้อมูลและคิดหาเหตุผลแบบนี้ได้ ผมเชื่อว่าจะทำให้เราไม่จิตตกไปตามข่าว และมองเห็นความจริงเบื้องหลังจนพบกับโอกาสในวิกฤตแบบรอบนี้ของ Alibaba ที่อยู่ดีๆ หุ้นที่ดีที่สุดในจีนตัวหนึ่งลดราคาลงมาให้ซื้อ

 

ความรู้และประสบการณ์สำคัญในการลงทุนก็จริง แต่เรื่องการบริหารจิตใจและจิตวิทยาของตลาดหุ้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสุดท้ายกำไรหรือขาดทุน คนที่ส่งผลกระทบมากที่สุดอาจจะเป็นจิตใจของเรานี่เอง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising