×

ชูสามนิ้วต้านรัฐประหาร…ยุทธการ ‘อารยะขัดขืน’ ฝืนยึดอำนาจปะทุทั่วเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
03.02.2021
  • LOADING...
ชูสามนิ้วต้านรัฐประหาร

 

 

เสียงตีหม้อข้าวและเครื่องครัวดังกระหึ่มจากตึกแถวย่านที่พักอาศัยกลางนครย่างกุ้ง ในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 2 หลังการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาบนท้องถนน รถยนต์และรถจักรยานยนต์บีบแตรเป็นเสียงดังกังวาน ทั้งที่การจราจรไม่ได้ติดขัดอะไร

 

สำนักข่าว Reuters และสื่อต่างชาติล้วนรายงานประสานเสียงกันว่า นี่คือจุดเริ่มต้น ‘การอารยะขัดขืน’ ของชาวเมียนมา เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารเมื่อเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์

 

แม้บรรยากาศหลังการยึดอำนาจ จากที่มีรายงานผ่านสื่อเมียนมาและสำนักข่าวต่างประเทศจะดูเหมือนวิถีชีวิตที่ดำเนินไปตามปกติ

 

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่สำนักข่าว Reuters และ AFP ได้เข้าไปพูดคุยด้วยนั้นล้วนไม่เห็นด้วยกับการก่อรัฐประหารของกองทัพ เพราะเป็นการนำประเทศกลับไปสู่ระบอบรัฐบาลทหารที่สิ้นสุดลงเมื่อปี 2011 ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วมาวันนี้ยังถูกซ้ำเติมจากวิกฤตทางการเมืองอีก

 

ก่อนหน้าที่ ‘เสียงเครื่องครัว-แตรรถบนท้องถนน’ จะดังขึ้นยามตะวันลับฟ้า กลุ่มเครือข่ายเยาวชนแห่งย่างกุ้ง หนึ่งในกลุ่มนักเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมียนมาได้ประกาศเริ่มการ ‘อารยะขัดขืน’ ทั่วประเทศผ่านทาง Twitter และ Facebook ภายหลังอินเทอร์เน็ตและระบบโทรคมนาคมกลับมาใช้การได้ตามปกติ

 

ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง จำนวนผู้กดติดตามแคมเปญ ‘Civil Disobedience Movement’ หรือแปลเป็นไทยว่า ‘การรณรงค์อารยะขัดขืน’ บนหน้า Facebook ได้เพิ่มขึ้นเกิน 1 แสน 5 หมื่นคน

 

และเมื่อเข้าสู่วันที่ 3 ของการรัฐประหาร (3 กุมภาพันธ์) สัญญาณความไม่พอใจ โกรธเคือง และต่อต้านกองทัพเมียนมาเด่นชัดขึ้นและดังมากขึ้นเรื่อยๆ

 

บรรดาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ พร้อมใจติดริบบิ้นสีแดง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของ ออง ซาน ซูจี และ ‘ผละงาน’ ที่นอกเหนือจากกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์เพื่อประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร

 

ออง ซาน มิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงในเมืองกั่นก้อให้สัมภาษณ์กับ AFP ว่า พวกเขาจะยอมรับก็แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนแพทย์ในเมืองมัณฑะเลย์ระบุว่า “ฉันไม่ปรารถนาจะทำงานใต้เผด็จการทหาร”

 

การ ‘ชูสามนิ้ว’ อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จากภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่อง The Hunger Games ซึ่งคนไทยคุ้นเคยดีจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยนับแต่ปีที่แล้ว ตอนนี้ชาวเมียนมาได้ ‘รับสืบทอด’ นำไปใช้เพื่อเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ต่อต้าน ‘รัฐประหาร’

 

สัญลักษณ์ชูสามนิ้วในเมียนมากลายเป็นเทรนด์บนโลกสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เมื่อบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามมหาศาลพร้อมใจกันโพสต์รูปภาพตัวเองชูสามนิ้ว หรือข้อความต่อต้านกองทัพเมียนมา

 

ไม่ว่าจะ ไป่ ทาคน (Paing Takhon) นายแบบชื่อดังที่มีผู้ติดตามเขาบนเพจ Facebook มากกว่า 1 ล้าน 4 แสนคน ซึ่งนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เขาโพสต์ข้อความไม่พอใจต่อการยึดอำนาจอย่างต่อเนื่อง และวันนี้เขาได้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์สวมเสื้อยืดสีแดงตราสัญลักษณ์พรรค NLD พร้อมชูสามนิ้ว ซึ่งมีคนแชร์เกือบ 2 หมื่นครั้ง และกดไลก์เกือบ 4 แสน 5 หมื่นไลก์ภายในเวลาไม่ถึง 8 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ยังมีนักแสดง นางงาม นายแบบ-นางแบบ อินฟลูเอนเซอร์อีกหลายคนที่โพสต์ข้อความต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพ

 

ถิ่นซาร์ ชุนเลย ยี่ (Thinzar Shunlei Yi) นักเคลื่อนไหวชาวเมียนมา และหนึ่งในผู้ริเริ่ม ‘การรณรงค์อารยะขัดขืน’ ให้สัมภาษณ์ AFP ผ่านวิดีโอคอลว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เริ่มจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ก่อนแพร่ขยายเป็นวงกว้างไปถึงคนเมียนมาที่ไม่พอใจกับการรัฐประหารของกองทัพ

 

“พวกเขาเป็นสารตั้งต้น เป็นแรงบันดาลใจไปถึงผู้คนทุกช่วงวัย… ฉันคิดว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่พวกเรารังเกียจมากที่สุด และฉันเชื่อว่าอีกไม่นานประชาชนจะลงถนนเพื่อต่อต้าน”

 

ถิ่นซาร์กล่าวต่อว่า กำลังเกิดการขับเคลื่อนให้ประชาชนออกมาประท้วงบนท้องถนน นำโดยแกนนำกลุ่มนักศึกษาที่ตอนนี้กำลังวางแผนกันอยู่ในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยพลังของเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน

 

“เรามีอุปกรณ์ดิจิทัลและโลกดิจิทัลที่เราได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหาร… นี่แหละเป็นอาวุธเพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร”

 

ส่วนการ ‘ตีเครื่องครัว-บีบแตรรถ’ นั้น ถิ่นซาร์ชี้ว่า จะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่จะมีทุกคืนเวลา 20.00 น. “เราตีหม้อและกระทะเพื่อส่งเสียงขับไล่มารร้าย (ผู้นำรัฐประหาร) ออกจากประเทศของเรา”

 

ด้าน ขิ่น ซอว์ วิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในเมียนมา วิเคราะห์ถึงการรณรงค์ให้ประชาชนอารยะขัดขืนต่อต้านการรัฐประหารว่า “มันคือประกายไฟที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนมวลชน” แต่ช่วงหนึ่งสัปดาห์หลังการรัฐประหารจะเป็น ‘ห้วงเวลา’ สำคัญที่สุด

 

“ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าผู้คนวางแผนจะกระทำการที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ไหม แต่หากเทียบเคียงกับสถานการณ์ในอดีต ถ้าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะเป็นช่วง 4-5 วันนับจากนี้ หรือไม่กระแสก็จะตกไปเลยในความคิดของผม”

 

ทั้งนี้การลุกฮือประท้วงอาจเป็น ‘ดาบสองคม’ เพราะเสี่ยงกับการที่กองทัพจะใช้กำลังปราบปรามจนกลายเป็นเหตุนองเลือดได้

 

เหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมคือการประท้วงในปี 1988 หรือที่เรียกกันว่า ‘การก่อการกำเริบ 8888’ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เหตุผลที่เรียกว่า ‘8888’ เพราะเริ่มขึ้นในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 นั่นเอง ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่ทำให้ออง ซาน ซูจี กลายเป็นวีรสตรีแห่งประชาธิปไตย

 

ครั้งนั้นนักศึกษาออกมาประท้วง ตามมาด้วยประชาชน พระภิกษุ และบุคคลจากทุกสาขาอาชีพรวมนับแสนคน แต่กลับนำมาสู่การ ‘รัฐประหารเลือด’ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และการรัฐประหารปี 1988 ก็ทำให้เมียนมาอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหารต่อเนื่องกว่าสองทศวรรษ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X