ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิผลสูงสุด
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กนง. ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝากให้กับธนาคารพาณิชย์ที่ต้องนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 0.23% ทำให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.40% ซึ่งในระยะต่อไป กนง. ยังมองการลด FIDF Fee เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่ต้องพิจารณาใช้ในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงธุรกิจ SMEs และกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอาชีพอิสระ (Self-Employed) 2. กลุ่มรายได้น้อย 3. กลุ่มที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ที่ยังคงไม่ฟื้นตัวนัก และสามารถรอบรับผลกระทบรอบใหม่น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ
ขณะที่แรงขับเคลื่อนของภาครัฐ ผ่านมาตรการที่ตรงจุดส่งผลให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น และเศรษฐกิจยังโตได้ แม้จะโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยต้องติดตามการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย ได้แก่
- การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ สถานการณ์ฟื้นตัวทั่วโลก
- ประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต้องเพียงพอและไม่ขาดช่วง เพื่อประคองภาคส่วนของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยเร่งการเบิกจ่าย (วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ในแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ และใช้คู่กับการดำเนินการนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจ และเพิ่มทักษะแรงงาน
- ตลาดแรงงานที่เปราะบางขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะสั้น
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. ประเมินว่า จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 (ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ) สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง และต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวของสภาพคล่องยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนที่ถูกกระทบ ทำให้เสถียรภาพในระบบการเงินยังเปราะบางในบางจุด นโยบายการเงินจึงต้องกระจายสภาพคล่องให้ทั่วถึง
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนมองว่ามีการเคลื่อนไหวตามค่าเงินสกุลภูมิภาค แต่ยังต้องติดตามการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการที่จำเป็น
“ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์