×

จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ หลังการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

โดย THE STANDARD TEAM
02.02.2021
  • LOADING...
จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้-หลังการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

สถานการณ์ภายในเมียนมายังคงคลุมเครือ หลังเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของกองทัพผ่านพ้นไปแล้วเกิน 24 ชั่วโมง  

 

โดยบรรยากาศในอดีตเมืองหลวงอย่างนครย่างกุ้ง เต็มไปด้วยความเงียบสงัด หมอกควันแห่งความหวาดกลัว และไม่มั่นใจต่ออนาคตของประชาชนปรากฏขึ้น หลังกองทัพนำกำลังบุกควบคุมตัวออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD พร้อมด้วยผู้นำคนสำคัญทางการเมือง และนักเคลื่อนไหวอีกหลายสิบคน

 

การรัฐประหารรอบนี้ แม้จะไร้เสียงกระสุนปืนและปราศจากการนองเลือด ทว่าภาพความกลัวในยุคการปกครองของรัฐบาลทหาร กลับผุดขึ้นในใจชาวเมียนมาอีกรอบ หลายคนหวาดหวั่นต่อสิ่งที่จะตามมา หลังไร้วีรสตรีและสัญลักษณ์แห่งความหวังอย่าง ‘ซูจี’ 

  • เดินหน้ากวาดล้างกลุ่มปรปักษ์?

หนึ่งในความหวาดกลัวแรกที่เกิดขึ้น คือการขยายอำนาจของกองทัพเมียนมาหลังจากนี้ และการเดินหน้ากวาดล้างนักการเมือง และผู้ที่แสดงตัวเป็นปรปักษ์ และวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ 

 

นักข่าวคนหนึ่งในย่างกุ้งเผยว่า เขากังวลว่าสื่อที่วิจารณ์กองทัพจะตกเป็นเป้าหมายจนนอนไม่หลับ โดยกลัวว่าจะมีทหารมาเคาะประตู

 

เช่นเดียวกับประชาชนในหลายเมือง ที่บอกกับสื่อต่างชาติว่า พวกเขาเป็นกังวลเรื่องอนาคต และการหาเลี้ยงชีพหลังจากนี้ ภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้วยังคงไม่จางหาย กลับเจอรัฐประหาร ซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง 

 

ในกรุงเนปิดอว์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ แม้ธุรกิจส่วนใหญ่จะกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่การควบคุมความมั่นคงทั่วเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้น สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตยังถูกปิดกั้น รถถังและรถหุ้มเกราะประจำการหน้ารัฐสภา ขณะที่ทหารจำนวนมาก ตรึงกำลังหน้าอาคารที่ทำการรัฐบาล และบ้านพักทางการที่คาดว่าใช้กักตัวนักการเมืองบางคน 

  • รัฐบาลเฉพาะกาลใต้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ภายหลังยึดอำนาจ กองทัพเมียนมาภายใต้การนำของ พลเอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ถ่ายอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการมาสู่มือกองทัพ พร้อมตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล โดยสั่งปลดรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย 24 คนออกจากตำแหน่ง แต่งตั้งเหล่านายทหารระดับสูงเข้าทำงานแทนที่ 11 คน และตั้งรองประธานาธิบดี มิน ส่วย ขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี 

 

ในแถลงการณ์ที่ออกโดยกองทัพหลังยึดอำนาจให้คำมั่นว่ากองทัพจะจัดการเลือกตั้งหลังสิ้นสุดภาวะฉุกเฉิน โดยได้เปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้งยกชุด และดำเนินการสืบสวนกรณีการโกงเลือกตั้ง หลังกองทัพอ้างว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีการทุจริตอย่างแพร่หลายจนนำไปสู่การตัดสินใจยึดอำนาจของกองทัพ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ 

 

“จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่เสรีและเป็นธรรมหลังจากนั้น ความรับผิดชอบของรัฐจะถูกส่งต่อไปยังพรรคที่ชนะ ตามหลักการและมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตย” พลเอก อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว

 

และเพื่อให้เกิดความชอบธรรม กองทัพอ้างรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ในช่วงภาวะฉุกเฉิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีสิทธิ์เข้าครอบครอง และใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ

 

ด้านพรรค NLD ออกแถลงการณ์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ปล่อยตัวซูจี และนักการเมืองที่ถูกจับโดยทันที พร้อมทั้งอนุญาตให้มีการเปิดประชุมสภาเพื่อเดินหน้าบริหารประเทศตามครรลองประชาธิปไตย พร้อมประณามการก่อรัฐประหารว่า เป็นการฉุดรั้งประเทศให้ถอยหลัง และเรียกร้องให้เคารพผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่พรรค NLD เป็นฝ่ายชนะอย่างถล่มทลาย 

 

ขณะที่ชะตากรรมของซูจีและนักการเมืองที่ถูกควบคุมตัวนั้น จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าถูกคุมขังอยู่ที่ไหน สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่า พวกเขาอาจถูกกักตัวในที่พักที่กรุงเนปิดอว์ เพราะซูจีและบรรดา ส.ส. ต้องเข้าร่วมการเปิดประชุมสภาวันแรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

  • แรงกดดันจากนานาชาติ และโอกาสที่เมียนมาจะถูกคว่ำบาตร

นานาชาติต่างแสดงความกังวลไปจนถึงส่งสัญญาณต่อต้านกรณีรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา หลายประเทศและองค์การระหว่างประเทศเรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวซูจี และผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด รวมทั้งให้คืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน โดยหลังจากนี้กระแสกดดันจะถาโถมใส่เมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ 

 

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดจัดการประชุมฉุกเฉินเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หลังอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวประณามการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นว่า เป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมา

 

ขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ ประณามการกระทำของกองทัพเมียนมาว่า ทำให้กระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยที่ดำเนินมากว่าทศวรรษต้องถอยหลัง และขู่จะกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตร ตอบโต้การรัฐประหาร

 

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวจากภาคธุรกิจที่ลงทุนในเมียนมาก็ถูกจับตาเช่นกัน โดย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ของญี่ปุ่น ได้ประกาศระงับการผลิตในโรงงาน 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในเมียนมา โดยให้เหตุผลเพื่อความปลอดภัยของคนงานกว่า 400 คน หลังเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์หลังการรัฐประหาร โดยจะดำเนินการผลิตต่อหลังได้รับการยืนยันในความปลอดภัย

 

นอกจากการระงับผลิตชั่วคราวในโรงงานของบริษัทบางรายแล้ว เหตุการณ์รัฐประหารที่สร้างความไม่แน่นอน และบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าเมียนมาด้วย จึงน่าจับตาว่าวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น จะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่บอบช้ำอยู่แล้วจากวิกฤตโควิด-19 มากเพียงใด ขณะที่นานาชาติยังจับตาปัญหาสิทธิมนุษยชนที่อาจเลวร้ายลง โดยเฉพาะสวัสดิภาพของชนกลุ่มน้อย เช่น โรฮีนจา ที่ก่อนหน้านี้ถูกกองทัพกวาดล้างอย่างหนัก

 

ภาพ: Vadim Savitsky / TASS / Dan Himbrechts / Getty Images)

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X