×

ฝ่ายวิจัย ‘กรุงศรี’ ประเมินกรณีรัฐประหารทำเศรษฐกิจเมียนมาหยุดชะงัก

02.02.2021
  • LOADING...

จากกรณีที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เข้ารักษาอำนาจรัฐบาลแล้ว และล่าสุดเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยระบุกรอบเวลา 1 ปี โดยการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนี้เป็นที่รับรู้กันว่า เกิดจากประเด็นที่กองทัพเมียนมามองว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 มีความไม่โปร่งใส โดยผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการตั้งอย่างท่วมท้น ด้วยที่นั่งในสภาถึง 396 ที่นั่ง จากทั้งหมด 476 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (USDP) ได้ที่นั่งเพียง 33 ที่นั่ง

ฝ่ายวิจัยกรุงศรี มองว่า กรณีที่เกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบต่อเมียนมาและเศรษฐกิจของประเทศใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ความเชื่อมั่นที่ลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ก่อนหน้านี้เมียนมาพึ่งพิงในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ รวมถึงอุปสงค์จากภายนอก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและก่อให้เกิดการจ้างงาน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และปฏิรูปเศรษฐกิจอีกด้วย

นับแต่การเปิดประเทศอีกครั้งในปี 2553 ได้มีโครงการออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน อาทิ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตอุตสาหกรรม กฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ และกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งหลังจากนั้น FDI ก็กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี การเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และนโยบายของรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้ FDI ซึ่งมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวจากโควิด-19 น่าจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

2. ความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการที่ประเทศฝั่งตะวันตก และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะยกเลิกการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและที่ไม่ใช่การเงิน รวมถึงการบอยคอตทางการเมือง และเศรษฐกิจจากประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากการรัฐประหารจะเข้ามากระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง และเป็นสิ่งที่ขัดต่อวิถีประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าเมียนมาได้สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนไว้ทดแทน แต่ตลาดหลักอย่าง สหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ต่างเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับเมียนมา ด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้า และเป็นแหล่งเม็ดเงินลงทุนที่สำคัญ

มากไปกว่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมียนมายังได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ IMF ซึ่งหากการช่วยเหลือเหล่านี้ถูกระงับไป จะส่งผลให้การปฏิรูปอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงัก

3. การปฏิวัติอาจจะทำให้เศรษฐกิจของเมียนสะดุดได้ในระยะข้างหน้านี้ โดยการปฏิวัติไม่ได้เพียงแค่ทำให้ประชาธิปไตยที่อยู่ในระยะเริ่มต้นสะดุดลง แต่ยังทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจหยุดชะงักไปด้วย ในระยะสั้น เราคาดว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะถูกกระทบอย่างหนัก ในขณะที่การแพร่ระบาดก็ยังคงมีอยู่

แต่ในระยะกลาง เรายังมีมุมมองเชิงบวกว่า กองทัพเมียนมาจะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจต่อ รวมถึงการเปิดเสรีด้านอุตสาหกรรมการเงิน แต่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ นอกจากนี้ เมียนมาน่าจะผูกสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทหาร ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนระบุว่าเมียนมาเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด อิงจากการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือทางเทคนิค ทำให้จีนน่าจะเป็นประเทศที่เข้ามาสนับสนุนเมียนมาต่อจากนี้ หากเมียนมาเผชิญกับการคว่ำบาตรโดยประเทศฝั่งตะวันตก

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย เราคาดว่าการค้าระหว่างประเทศอาจจะชะงักเล็กน้อย โดยเฉพาะการค้าขายชายแดน รวมถึงกระแสเงินทุนระหว่างไทยและเมียนมา หากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มยุโรป มีมาตรการด้านลบต่อเมียนมา อาจทำให้การค้าขายระหว่างไทยและเมียนมาถูกกระทบด้วยเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X