วันนี้ (2 กุมภาพันธ์) ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถมาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยในช่วงทดลองให้บริการขณะที่ยังไม่ได้เดินรถเต็มรูปแบบ ไม่ได้เรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นเวลาเกือบ 3 ปี อันเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับทาง กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ) กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า อ่อนนุช-แบริ่ง ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวต่อรอบ
“ทั้งนี้ จากการคำนวณอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะรวมเป็นเงิน 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทาง กทม. จึงปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายลงมาอยู่ที่ 104 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3-4 พันล้านบาท โดยเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564-2572 จะมีผลขาดทุนรวมประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท” ประพาสกล่าว
ประพาสกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กทม.ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ ซึ่งเห็นว่า แนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ กทม.สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไป และจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพต่อไป
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล