×

ทองคำในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นอย่างไรในปีนี้

30.01.2021
  • LOADING...
ทองคำในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นอย่างไรในปีนี้

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) คือสินทรัพย์ต่างประเทศที่ถือครองหรืออยู่ภายใต้การควบคุมโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ มักจะประกอบไปด้วยเงินตราต่างประเทศต่างๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร ปอนด์ เยน และหยวน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีทองคำ พันธบัตรรัฐบาล สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDR) และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศอีกด้วย

 

ขณะที่ทองคำถือเป็นส่วนสำคัญของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง สะท้อนจากข้อมูลของ World Gold Council พบว่า ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ของปี 2019 โครงสร้างของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก ประกอบไปด้วย สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 54% ของเงินทุนสำรองทั้งหมดทั่วโลก ตามมาด้วยสกุลเงินยูโร 17% ทองคำ 13% และเงินหยวนของจีน 2%

 

“ที่น่าสนใจคือสัดส่วนของทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากระดับ 10% ในปี 2017 บ่งชี้ความสำคัญของทองคำในพอร์ตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี”

 

แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มสั่นคลอน หลังจาก WGC รายงานว่าธนาคารกลางทั่วโลก ‘ขายสุทธิ’ ทองคำรวมกันทั้งสิ้น 12.1 ตันในไตรมาส 3 ของปี 2020 ซึ่งถือเป็นไตรมาสแรกที่ธนาคารกลางขายสุทธิในทองคำนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2010 สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดข้อสงสัยในนักลงทุนบางส่วนว่านี่เป็นสัญญาณว่าธนาคารกลางจะเปลี่ยนความคิดต่อการสะสมทองคำหรือไม่

 

WGC ให้เหตุผลว่าแรงขายของเหล่าธนาคารกลางสืบเนื่องมาจากการที่ทองคำมีประสิทธิภาพเหนือกว่าสินทรัพย์ในเงินทุนสำรองอื่นๆ ในปี 2020 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นการขายทองคำบางส่วนของธนาคารกลางเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับรักษาเสถียรภาพของตลาดและสกุลเงินของประเทศนั้นๆ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลคือการขาดผู้ซื้อหลักอย่างธนาคารกลางรัสเซียที่ได้ระงับการเข้าซื้อทองคำในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นให้เหมืองทองและธนาคารในประเทศส่งออกออกคำมากขึ้น และนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในรัสเซีย หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำจนทำให้รัสเซียขาดรายได้หลัก 

 

ขณะที่ในอนาคต WGC เชื่อว่าเหล่าธนาคารกลางจะยังคงเดินหน้ากระจายความเสี่ยงของพอร์ตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยทองคำ เห็นได้ว่าแบบสำรวจของ WGC ที่ส่งไปยังธนาคารกลางจำนวน 150 ประเทศทั่วโลก โดยมีธนาคารกลางที่ร่วมตอบแทบบสอบถามจำนวน 51 ประเทศ และแบ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 11 ประเทศ รวมถึงประเทศในตลาดเกิดใหม่อีก 40 ประเทศ  

 

ผลสำรวจพบว่า “ธนาคารกลางคิดเป็นสัดส่วน 20% เตรียมจะเพิ่มปริมาณทองคำสำรองของประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสัดส่วนเพียง 8% ในการสำรวจปี 2019” ไม่ใช่แค่นั้น มากกว่า 67% ของธนาคารกลางผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าสัดส่วนของทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะเติบโตขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 13% สู่ระดับ 14-20%

 

แม้แรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางในปี 2020 จะชะลอตัวลงจากปี 2018-2019 อย่างไรก็ดี YLG เชื่อว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่อง และบทบาทของทองคำในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากหลายประเทศยังมีแนวโน้มจะเข้าซื้อทองคําต่อไปเพื่อการกระจายการลงทุนและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศท่ามกลางปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ปรับสมดุลพอร์ตลงทุนเนื่องจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งใช้ทองคำเพื่อจัดการสภาพคล่องหรือเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับทองคำในระยะยาว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X