ภาพรวมตลาดหุ้นไทย (SET) ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้จะปรับขึ้นได้ดีในช่วงครึ่งเดือนแรกจากระดับ 1,449.35 จุด ไปแตะจุดสูงสุดของปีที่ 1,561.66 จุด แต่หลังจากนั้นดัชนีเข้าสู่โหมดปรับฐานจนดัชนีร่วงกลับมาใกล้เคียงกับระดับเดิมที่ 1,455-1,470 จุด ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีปิดตลาดที่ 1,466.98 จุด
แนวโน้มในเดือนกุมภาพันธ์ที่มาถึงนี้ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ให้คำแนะนำว่า ควรจะคงน้ำหนักหุ้นไทยในเดือนนี้ที่ 40% ของพอร์ต จากแนวโน้มฟันด์โฟลว ซึ่งยังมีหลายปัจจัยหนุนให้ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นฝั่งเอเชีย รวมถึงไทย คือ
1. ไทยจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 น่าจะเห็น Pend Up Demand ที่แรงกว่าในอดีตตอนมีการคลายล็อกดาวน์ และอาจฟื้นตัวได้เร็วเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่เริ่มมีการฉีดวัคซีน หนุนกำไรบริษัท มีโอกาสฟื้นตัวเร็วขึ้น
2. อาจเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากสหรัฐฯ มาในฝั่งเอเชียมากขึ้น ตามนโยบายการขึ้นค่าจ้างและภาษีในสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน รวมถึงความกังวลเรื่องการลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE Tapering) ผ่อนคลายลงมาก
“ในเชิงพื้นฐานคงจะเห็น Downside ของตลาดหุ้นไทยในเดือนกุมภาพันธ์อีกไม่มากนัก หลังตัวเลข GDP ถูกประกาศปรับลดลงมาแล้ว จากตรงนี้ไปหากในไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และควบคุมการแพร่ระบาดได้ คาดว่าจะยังเห็นภาพเงินลงทุนไหลเข้าอยู่ ขณะเดียวกันเม็ดเงินในประเทศก็ยังมีค่อนข้างสูง สังเกตได้จากยอดจองหุ้น OR ถึงระดับล้านคน และยอดเปิดบัญชีใหม่เมื่อปีก่อนที่สูงถึงกว่า 7 แสนบัญชี จากปกติที่ปีละกว่า 3 แสนบัญชี”
ส่วนความเสี่ยงในการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนปี 2564 แม้จะมีความเสี่ยงจากการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อ แต่กำไรของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมีสัดส่วนเพียง 4% ของกำไรทั้งหมด แต่อาจถูกหักล้างจากแรงหนุนกำไรกลุ่มพลังงานสัดส่วนกว่า 30% ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ยังยืนเหนือสมมติฐานที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
โดยภาพรวมเชื่อว่า การปรับฐานของดัชนีไม่น่าจะลดลงไปต่ำกว่า 1,420-1,450 จุด โดยฝ่ายวิจัยฯ ยังคงประเมินกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 7.19 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (ESP) อยู่ที่ 65.04 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อน และเป็นการฟื้นตัวได้เด่นเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดหุ้นในแถบตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
ในเชิงกลยุทธ์ การลงทุนเลือกหุ้นใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่ง ซึ่งได้แรงหนุนจากฟันด์โฟลวที่คาดมีกำไรเติบโตเด่นในปีนี้ อาทิ PTT, SCC, BDMS, CPF และหุ้นปันผลสูงอย่าง TISCO, MCS ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่ขยับขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าทางพื้นฐานอย่าง HANA ต้องระมัดระวังในการชื้อขายหรือเก็งกำไร
ด้าน สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า คาดว่าตลาดหุ้นไทยเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มแกว่งตัวออกข้างสลับกับการฟื้นตัว หลังจากที่ปรับฐานลดลงมาอยู่ในระดับนี้ โดยประเมินว่า แนวรับบริเวณ 1,450 จุด เป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับการเข้าซื้อ
“เราประเมินดัชนีเป้าหมายของ SET ไว้ที่ 1,510 จุด ซึ่งในส่วนนี้เป็นการประเมินหุ้น DELTA ที่ระดับ 263 บาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันหุ้น DELTA ยังอยู่ที่ระดับประมาณ 500 บาท สะท้อนว่าระดับดัชนีในตอนนี้ถือว่าค่อนข้างต่ำจากเป้าหมาย และเป็นโอกาสของการเข้าซื้อ”
สำหรับการปรับฐานในช่วงที่ผ่านมามองว่า เป็นการขายทำกำไรในหลายสินทรัพย์และหลายตลาดทั่วโลก แต่ด้วยโมเมนตัมของการฟื้นตัวของกำไรและสภาพคล่องที่ยังมีอยู่ในระบบค่อนข้างสูง ประกอบกับตัวเลข GDP ที่ถูกปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ทำให้ยังมีอัพไซด์จากระดับปัจจุบันพอสมควร
ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย และบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ภาพตลาดหุ้นไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงของการค้นหาฐาน ซึ่งการปรับตัวลงที่ผ่านมาเป็นผลจากเงินทุนที่ไหลออกจากเอเชีย หลังจากที่มีการปรับประมาณการ GDP ของตลาดพัฒนาแล้วขึ้น สวนทางกับตลาดเกิดใหม่ที่ถูกปรับลง
สำหรับภาพรวมตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์เชื่อว่า ดัชนีจะยืนอยู่เหนือแนวรับบริเวณ 1,380-1,420 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่บริเวณ 1,500 จุด โดยประเมินกลยุทธ์ในเชิงตั้งรับในระหว่างที่ตลาดกำลังประเมินผลของผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 ที่ทยอยประกาศออกมาในระหว่างนี้ รวมถึงการประเมินแนวโน้มของไตรมาส 1 ปีนี้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล