พลังของโซเชียลมีเดียสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนสถาบัน ที่เรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพด้านการลงทุนถึงกับขาดทุนอย่างหนักจากหุ้น GameStop
GameStop เป็นบริษัทขายวิดีโอเกมรายใหญ่สุดของโลก กระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันมีรวมทั้งสิ้น 5,509 สาขา ในอดีต GameStop เคยมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
ต่อมา GameStop ต้องเผชิญการดิสรัปต์จากธุรกิจเกมออนไลน์ที่เข้ามาตีตลาด ทำให้คนซื้อแผ่นเกมลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้นักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนประเภทบริหารความเสี่ยง หรือ ‘เฮดจ์ฟันด์’ มองว่าธุรกิจของ GameStop ไม่น่าจะไปต่อ จึงเข้ามาทำการ ‘ชอร์ตเซล’ หรือ ‘การยืมหุ้นมาขาย’ เพื่อเก็งกำไรช่วงหุ้นขาลง ส่งผลให้ราคาหุ้น GameStop ไหลลงต่อเนื่อง
กระทั่งเริ่มมีกลุ่มนักลงทุนรายย่อยเห็นว่า ราคาหุ้น GameStop เริ่มต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น และได้นำบทวิเคราะห์ต่างๆ เกี่ยวกับหุ้น GameStop มาพูดคุยกันผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อว่า Reddit ซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้ลงทุนรายย่อย
จากนั้นมาก็เกิดปรากฏการณ์รวมพลังของกลุ่มผู้ลงทุนรายย่อย เข้ามาไล่ซื้อหุ้น GameStop จนราคาพุ่งขึ้นเกินกว่า 1,000% ในเวลาเพียงไม่กี่วัน กลายเป็นสงครามหุ้นระหว่างนักลงทุนรายย่อยกับนักลงทุนสถาบัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนสถาบันมืออาชีพ ที่ชอร์ตหุ้นตัวนี้ไว้ขาดทุนอย่างหนัก และยังต้องกลับมาไล่ซื้อหุ้นคืนเพื่อปิดสถานะชอร์ตเซล สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงตลาดวอลล์สตรีทอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
นอกจากหุ้น GameStop แล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเริ่มเกิดขึ้นกับหุ้นตัวอื่นๆ ด้วย เช่น AMC Entertainment ซึ่งเป็นธุรกิจโรงภาพยนตร์ และหุ้น BlackBerry ผู้ผลิตมือถือชื่อดังในอดีต ซึ่งทำธุรกิจ Enterprise Software และ IoTs
กระแสดังกล่าวลุกลามมากขึ้น จนเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (28 มกราคม) แอปพลิเคชันเทรดหุ้นชื่อดังอย่าง Robinhood ได้งดให้บริการซื้อหุ้นที่มีการเก็งกำไรสูง 13 ตัว ซึ่งรวมถึงหุ้นเก็งกำไรที่ได้รับการพูดถึงมากใน Reddit อย่าง GameStop และ AMC โดยคำสั่งงดให้บริการมีหลายระดับ เช่น อนุญาตให้ลูกค้าขายหุ้นได้อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ให้เปิดสถานะใหม่ในหลักทรัพย์บางประเภท เรียกหลักประกันเพิ่ม ปิดสถานะการซื้อขายอัตโนมัติหากลูกค้ามีความเสี่ยงที่จะไม่มีหลักประกันกรณีถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม
ซีอีโอของ Robinhood วลาด เท็นเนฟ (Vlad Tenev) กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า การที่ Robinhood หยุดการซื้อขายในหุ้นที่มีแรงเก็งกำไรสูงนั้นก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท และลูกค้าผู้ใช้งานหลายล้านคน
เท็นเนฟกล่าวว่า Robinhood เป็นบริษัทนายหน้า เรามีข้อกำหนดทางการเงินมากมาย เรามีข้อกำหนดเงินกองทุนสุทธิที่กำหนดโดย ก.ล.ต. และเงินฝากของสำนักหักบัญชี นั่นคือเงินที่เราต้องฝากที่สำนักหักบัญชีต่างๆ ภายใต้ข้อกำหนดเหล่านี้ บางส่วนจะผันผวนไปตามภาวะตลาด และในสภาวการณ์ที่มีการเข้ามาซื้อขายเพื่อเก็งกำไรในหุ้นสูง กระแสเงินของบริษัทก็ผันผวนสูงตาม
อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธข้อกังขาที่ว่า Robinhood กำลังเผชิญปัญหาด้านสภาพคล่อง และยืนยันว่า Robinhood ได้ใช้วงเงินเครดิตเป็นมาตรการเชิงรุก
ทั้งนี้ Robinhood เป็นบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายหลักทรัพย์ชื่อดังของอเมริกา โดยนอกจากให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายแล้ว ยังให้บริการกู้เงินสำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย
การออกกฎพิเศษครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่ใช้บริการมานานเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม Robinhood อธิบายว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านเงินทุนที่ได้รับคำสั่งจาก ก.ล.ต. และยืนยันว่า ลูกค้าผู้ใช้งานทุกคนจะสามารถส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นได้ตามปกติในวันศุกร์นี้
โดยราคาหุ้น GameStop เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 500 ดอลลาร์ในการซื้อขายช่วงแรกของวันพฤหัสบดี จากระดับราคาต่ำกว่า 19 ดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2563 และตลอดวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ราคาหุ้น GameStop ผันผวนอย่างมาก หลังจากนักลงทุนรายย่อยต้องเผชิญกับมาตรการจำกัดการซื้อขายของ Robinood และท้ายที่สุดหุ้น GameStop ก็ปิดตลาดดิ่งลงถึง 44.29% เช่นเดียวกับหุ้น AMC ที่ลดลงไปกว่า 56.63%
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2021/01/28/robinhood-will-allow-limited-buying-of-restricted-securities-friday-gamestop-jumps-after-hours.html
- https://www.cnbc.com/2021/01/28/robinhood-ceo-says-it-limited-buying-in-gamestop-to-protect-the-firm-and-protect-our-customers.html
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-01-28/robinhood-clients-report-trading-restrictions-on-gamestop-amc?srnd=wealth&sref=CVqPBMVg