วันนี้ (28 มกราคม) ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงชี้แจงเกี่ยวกับไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มงานเลี้ยงวันเกิดของดีเจมะตูม-เตชินท์ พลอยเพชร ซึ่งมีปัญหาว่าไทม์ไลน์คลาดเคลื่อนต่างจากที่เปิดเผยในตอนแรก หรือบางรายอ้างว่าให้ไทม์ไลน์แล้วแต่เจ้าหน้าที่ไม่นำไปเผยแพร่ โดยขออธิบายขั้นตอนการสอบสวนโรคก่อนจะเผยแพร่ไทม์ไลน์ ดังนี้
- แพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย ซักประวัติและไทม์ไลน์จากผู้ป่วยว่าเดินทางไปไหนมาบ้าง จากนั้นแพทย์หรือพยาบาลที่ซักประวัติจะเป็นผู้บันทึกลงในเอกสารตามที่ผู้ป่วยแจ้ง เรียกว่าใบโนเวล จากนั้นส่งให้กรมควบคุมโรคหรือสำนักอนามัยของ กทม.
- เมื่อทาง กทม. ได้รับใบโนเวลแจ้งประวัติและไทม์ไลน์ของผู้ป่วยแล้ว จะโทรศัพท์ไปสอบถามผู้ป่วยซ้ำ ลงลึกในรายละเอียด เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยไปพบใครบ้าง มีกลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูงกี่คน มีการพบปะกับผู้ป่วยรายก่อนหน้าหรือไม่ และติดเชื้อวันไหนกันแน่ ซึ่งในขั้นตอนนี้หากผู้ป่วยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องลงไทม์ไลน์ไปตามจริงว่าไม่ให้ข้อมูล
- คณะกรรมการพิจารณาการเผยแพร่ไทม์ไลน์ต่อสาธารณชน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้ง มีทั้งแพทย์ นักกฎหมาย นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันพิจารณาว่าไทม์ไลน์ดังกล่าวมีจุดใดที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือไม่ เช่น สิ่งที่อาจทำให้ทราบตัวตนของผู้ป่วย
- เมื่อไทม์ไลน์ได้รับการพิจารณาแล้วว่าไม่มีจุดใดที่เปิดเผยแล้วจะมีผลในทางผิดกฎหมายหรือละเมิดผู้ป่วย ก็จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน
ร.ต.อ. พงศกร ระบุว่า กรณีที่เป็นปัญหา คือผู้ป่วยรายที่ 647 เป็นชาย อาชีพนักร้อง ในการซักประวัติเพื่อลงใบโนเวลครั้งแรก ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล และเมื่อ กทม. จะติดต่อเพื่อสอบถามเพิ่มเติมก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงต้องเผยแพร่ไทม์ไลน์เท่าที่สามารถสืบค้นได้
จนกระทั่งช่วงบ่ายวานนี้ (27 มกราคม) ผู้ป่วยเพิ่งติดต่อกลับมาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่ผู้ป่วยจะไปแถลงไทม์ไลน์ของตัวเองออกรายการโทรทัศน์ ซึ่งรายนี้เจ้าหน้าที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมว่า ที่ผู้ป่วยให้ไทม์ไลน์ภายหลังว่า ระหว่างวันที่ 10-21 มกราคมที่ผ่านมาไม่ได้ไปไหน อยู่แต่ในที่พักนั้นจริงหรือไม่
ส่วนผู้ป่วยรายที่ 658 ผู้ป่วยชาย อาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ในตอนแรกให้ข้อมูลแค่ว่าไปร่วมงานวันเกิดเพื่อนที่โรงแรมบันยันทรี เขตสาทร ส่วนระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม และวันที่ 14-21 มกราคม ไม่ยอมให้ข้อมูล ก็จะต้องไปสอบสวนโรคเพิ่มว่าข้อมูลที่ให้มาเป็นจริงหรือไม่ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 657 ที่ผู้ป่วยแถลงไทม์ไลน์ผ่านเฟซบุ๊กตัวเองว่าอยู่บ้าน ก็ต้องไปพิสูจน์เพิ่มเติมว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
ร.ต.อ. พงศกร ระบุด้วยว่า การสอบสวนไทม์ไลน์ไม่ได้สอบสวนแค่ครั้งเดียวจะเสร็จสิ้น เช่น กรณีผู้ป่วยกลุ่มก้อนงานเลี้ยงวันเกิดต้องสอบสวนโรคเพิ่มเติมหลายครั้งมาก เพราะในครั้งแรกผู้ป่วยบางรายไม่ยอมให้ข้อมูล แต่มาให้ข้อมูลภายหลัง เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องตรวจสอบอีกว่าข้อมูลนั้นเป็นจริงหรือไม่ หากให้ข้อมูลเท็จ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนทีมสอบสวนโรคของ กทม. มีหลายทีม แต่จะให้เจ้าหน้าที่ 1 คนต่อการรับผิดชอบซักถามผู้ป่วย 1 คนเท่านั้น เพื่อป้องกันความสับสน ดังนั้นยืนยันได้ว่าการสอบสวนโรคของ กทม. เป็นไปตามขั้นตอน มีเอกสารการสอบสวนโรคที่ชัดเจน ซึ่งทาง กทม. จัดเก็บไว้ทั้งหมด หากผู้ป่วยรายใดสงสัย สามารถขอดูไทม์ไลน์ตัวเองได้
ส่วนกรณีผู้ป่วยให้ข้อมูลแล้ว แต่ขอเจ้าหน้าที่สงวนความเป็นส่วนตัวไว้ สามารถทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในที่ส่วนตัว เช่น มีเพื่อนมาหาที่คอนโดมิเนียม และไม่อยากเปิดเผยความสัมพันธ์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องไปสอบสวนโรคเพื่อนคนนั้น แต่ไทม์ไลน์ที่อยู่ในที่สาธารณะจะไม่สามารถปกปิดหรือสงวนไว้ส่วนตัวได้
ร.ต.อ. พงศกร ยังได้กล่าวถึงการตรวจสอบโรงแรมที่เปิดให้จัดงานเลี้ยง ทาง กทม. จะแยกตรวจสอบเป็น 2 กรณีคือ การจัดเลี้ยงผิดข้อบังคับหรือไม่ จำนวนคนร่วมงานเลี้ยงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันโรคระบาดหรือไม่ และกรณีเปิดร้านเกินเวลาหรือไม่ ซึ่งทาง กทม. จะประสานตำรวจเพื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิดและสอบสวนต่อไป หากพบว่ามีความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า