×

อ่านความเสี่ยงปี ‘64 เมื่อโควิด-19 รอบใหม่อาจดัน ‘หนี้เสีย’ แตะ 6 แสนล้านบาท

26.01.2021
  • LOADING...
อ่านความเสี่ยงปี ‘64 เมื่อโควิด-19 รอบใหม่อาจดัน ‘หนี้เสีย’ แตะ 6 แสนล้านบาท

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • โควิด-19 รอบใหม่กระทบทุกภาคส่วน ในภาคการเงินยิ่งต้องจับตามองว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้ในกลุ่มไหน และความเสี่ยงหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นจากความเข้มข้นของมาตรการควมคุมโควิด-19 ที่มากขึ้นอย่างไร
  • สิ้นปี 2564 คาดว่า NPL จะแตะ 604,000 ล้านบาท โดยอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 15% จากปีก่อน ถือว่าสูงแต่ไม่สูงกว่าปี 2558-2559 ที่เป็นขาขึ้นของ NPL อยู่แล้ว
  • เร่งรัฐออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs อย่างตรงจุด โดยออกแพ็กเกจร่วมกับหลายฝ่าย หลายเจ้าหนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

เมื่อโควิด-19 ยังแพร่ระบาดข้ามมาถึงปี 2564 แต่รายได้ของประชาชนยังไม่กลับมา ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศขยายเวลามาตรการช่วยเหลือทางการเงินขั้นต่ำให้ผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การพักหนี้ พักดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ แต่มาตรการช่วยเหลือย่อมต้องมีจุดสิ้นสุด

 

ปี 2564 ความเสี่ยงยังต่อเนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด-19


นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปี 2564 ต้องติดตามว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเป็นอย่างไร หากมีความเข้มข้นขึ้น ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าขายลดลง ซึ่งจะกระทบต่อ SMEs และประชาชน อาจกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อด้วย

 

ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตสินเชื่อปี 2564 มองว่าสินเชื่อรายใหญ่ยังเติบโต สินเชื่อรายย่อยเห็นการฟื้นตัวขึ้น ขณะที่สินเชื่อ SMEs ยังจะหดตัวต่อไป เป็นแนวโน้มเดียวกับช่วงไตรมาส 4/63 และต่อเนื่องจากไตรมาส 3/63 ที่สินเชื่อรายใหญ่เติบโต 10.8% สินเชื่อรายย่อยยังเติบโต 5% (โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์) ขณะที่สินเชื่อ SMEs ติดลบ 6% แม้ในกรณีรวมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลนยังติดลบที่ 3%)

 

 นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย TMB Analytics

 

ปี 2564 NPL แตะ 604,000 ล้านบาท เพิ่ม 15% จากปีก่อน

 

ปีนี้เห็นแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่ออยู่ ขณะเดียวกันแนวโน้มหนี้เสีย NPL คาดว่าสิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 604,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้ม NPL ที่อัตราการเติบโตสูงมาก่อนโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2558 ที่อัตราการเติบโตเคยสูงถึง 25% จะเห็นว่าการเติบโต NPL เพิ่มขึ้นเร็วในปี 2558-2563

ทั้งนี้ NPL ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม SMEs และยังเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เมื่อเทียบกับกลุ่มรายย่อยเห็นความสามารถในการชำระหนี้เกิดขึ้นมากกว่า SMEs แต่ NPL ปีนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้น จึงต้องติดตามมาตรการการควบคุมการระบาดโควิด-19 รอบใหมเพิ่มเติม

 

 

อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) พบว่าปี 2556-2557 NPL Ratio อยู่ในระดับ 2.20% แต่พอปี 2558-2559 ขยับขึ้นมาสู่ราว 2.40-2.90% จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น และทรงตัวอยู่ในกรอบ 2.8-2.9% และเมื่อเจอโควิด-19 รอบแรกทำให้ NPL Ratio ขยับเพิ่มขึ้นสู่ 3.2% และคาดว่าสิ้นปี 2564 อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างมาสู่ระดับ 3.60% (รวมผลกระทบการควบคุมการระบาดรอบใหม่แล้ว) ถือว่ายังไม่สูงมาก และเป็นการเพิ่มขึ้นตามขนาดของสินเชื่อรวมหากเทียบกับช่วงปี 2556

 

ปี 2563-2564 NPL ไม่ได้ปรับสูงทะลุ 5% ส่วนหนึ่งเพราะการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกตามมาตรการของ ธปท. ที่เปิดให้การปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง 2 ปีนี้สามารถปรับจาก Stage 3 (NPL) มายัง Stage 1 ลูกหนี้ปกติได้

 

 

ซอฟต์โลนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย! เร่งรัฐรวมมาตรการออกตรงจุดช่วย SMEs

 

ช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่ง เราชนะ ซึ่งเจาะจงไปในเฉพาะกลุ่ม Micro SMEs อย่างหาบเร่ แผงลอยได้ตรงจุด แต่ขณะเดียวกันยังมีกลุ่ม SMEs กลุ่มนิติบุคคล ภาคการค้าบริการ 1.1 แสนราย จ้างงาน 2.5 ล้านคน ที่แม้จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่เป็นรายเล็กยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุด และควรเร่งออกมาในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ ซอฟต์โลนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะ SMEs ต้องการรอสถานการณ์ดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยการฟื้นตัวของ SMEs ยังต้องลงลึกในแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา อาทิ การทำ Warehousing (แช่แข็งทรัพย์สินไว้) ร่วมกับซอฟต์โลน ซึ่งอาจจะใช้รีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระดอกเบี้ยลง โดยมาตรการช่วยเหลือที่เป็นแพ็กเกจ ผ่านความร่วมมือจากหลายฝ่ายและหลายเจ้าหนี้  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising