×

ถอดบทเรียนปี 2563 ผ่านงบธนาคาร: เมื่อธนาคารกำไรร่วง-หนี้เสียพุ่ง-สำรองสูง และต้องประคองลูกหนี้ไปด้วยกัน

24.01.2021
  • LOADING...
ถอดบทเรียนปี 2563 ผ่านงบธนาคาร

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ธุรกิจธนาคารปี 2563 ผลประกอบการไม่สวยเท่าไร เพราะกำไรสุทธิรวมไม่ถึง 1.4 แสนล้านบาท ถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 9 ปี สาเหตุหลักก็มาจากโควิด-19 และการตั้งสำรองหนี้เสียที่อาจะเกิดขึ้น 
  • ธนาคารยิ่งเสี่ยงเมื่อมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ไม่จบ และคนยังไม่มีรายได้ ส่งผลให้ธนาคารต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และหนี้เสียที่อาจพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้การตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น กำไรสุทธิเลยลดลงถึง 1 ใน 3  
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 ธุรกิจธนาคารมีแนวโน้มฟื้นตัว คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น 3-7% จากฐานที่ต่ำในปี 2563 แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ ที่กระทบเศรษฐกิจไทย

เมื่อโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย เลยทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 น่าจะติดลบอย่างน้อย 6% แน่นอนว่าธุรกิจแนวหลังอย่างธนาคารก็ได้รับผลกระทบไปด้วย และเห็นได้ชัดในผลการดำเนินงานทั้งปีที่กำไรก็ลดลง ความเสี่ยงหนี้เสียก็เพิ่มขึ้น แล้ววิกฤตปีที่ผ่านมา ธุรกิจธนาคารต้องเจอกับอะไรบ้างและการอยู่ในวิกฤตโควิด-19 ต่อ ปีนี้จะเป็นอย่างไร? 

 

เมื่อธนาคารกำไรสุทธิปี 2563 ทรุด 31.54% ต่ำสุดในรอบ 9 ปี 

ปีที่ผ่านมาธุรกิจธนาคารได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าจากโควิด-19 (ตอนนี้มีถึงระยะ 3 แล้ว) ซึ่งไม่ว่าจะการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ก็ส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของธนาคาร ขณะเดียวกันสาเหตุหลักที่ทำให้กำไรของแบงก์ลดลงคือ การตั้งสำรองเผื่อหนี้เสียที่อาจะเกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 

 

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ปี 2563 ธนาคารพาณิชย์ในไทยมีกำไรสุทธิ 138,968 ล้านบาท ลดลง 31.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่ากำไรลดลงมากที่สุดในรอบ 9 ปี นับจากปี 2555 มา (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

 

ถอดบทเรียนปี 2563 ผ่านงบธนาคาร

 

ทั้งนี้ ธนาคารที่กำไรสุทธิลดลงมากที่สุดคือ ธนาคารกรุงเทพ ปี 2563 กำไรลดเหลือ 17,546 ลดลง 51.55% จากปี 2562 โดยมีการตั้งสำรองหนี้เสียตลอดทั้งปีถึง 31,196 ล้านบาท ขณะที่คนที่มีกำไรสุทธิมากที่สุดในปีนี้คือธนาคารกสิกรไทย ที่มีกำไรสุทธิรวม 29,487 ล้านบาท ลดลง 23% จากปี 2562 ขณะที่มีธนาคารเดียวที่กำไรยังเพิ่มขึ้นคือ ทีเอ็มบีธนชาต ที่อยู่ระหว่างการควบรวมกัน ทำให้ทั้งกำไร หนี้เสีย และตัวเลขอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

 

แต่ในขณะเดียวกันหากวิกฤตหมดไป เงินส่วนที่ไปตั้งสำรองหนี้เสียจะกลับมาเป็นกำไรสุทธิอีกครั้ง ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ความเสี่ยงลดลง น่าจะเห็นธนาคารตัดส่วนนี้กลับมาเป็นกำไรสุทธิอีกครั้ง

 

เสี่ยงสูงธนาคารไทยต้องตั้งสำรองเพิ่ม แต่ปี 2563 หนี้เสียเพิ่มขึ้นหรือยัง?

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทั้งปี 2563 ประเมินว่าหนี้เสีย หรือ NPL จะไม่สูงมากนัก โดยมองว่าจะไม่เกิน 3.5% เพราะช่วงที่ผ่านมายังมีมาตรการดูแลประชาชน รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้

 

ทั้งนี้ มองว่าหนี้เสียธนาคารพาณิชย์ไทยจะขยับขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 1/64 หรือปลายไตรมาส 2/64 แต่มองว่าจะไม่เกิน 4% 

 

ขณะที่ยอดปฏิเสธสินเชื่ออาจเพิ่มสูงขึ้นบ้าง จากการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพราะธนาคารจะเลือกในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และอาจระมัดระวังกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้ค่อนข้างสูง กลุ่มที่ได้รับกระทบ และกลุ่มที่กำลังปรับโครงสร้างหนี้อยู่ น่าจะมีการคัดกรองเพิ่มเติม แต่จากช่วงต้นปี 2564 มายังเห็นการการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะยอดสินเชื่อยังเติบโตอยู่ เช่น สินเชื่อรถยนต์ใหม่ ฯลฯ แต่ระยะต่อไปเชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้มีวินัย เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

 

ถอดบทเรียนปี 2563 ผ่านงบธนาคาร

ถอดบทเรียนปี 2563 ผ่านงบธนาคาร

 

ทั้งนี้ ปี 2563 ธนาคารที่มีจำนวนหนี้เสียสูงสุดคือ ธนาคารกรุงไทย มีมูลค่าหนี้เสียราว 107,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.36% จากปี 2562 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากที่สุดราว 31.91% มูลค่าหนี้เสียรวมอยู่ที่ 104,405 ล้านบาท โดยธนาคารที่มีมูลค่าหนี้เสียลดลง ได้แก่ เกียรตินาคินภัทร (ลดลง 11.55%) และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (ลดลง 7.08%)

ด้าน ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เล่าว่า ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูง โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ หรือ NPLs Cliff ทำให้ธนาคารออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร โดยมีอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.81% ลดลงจาก 4.33% ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562

 

ฝั่ง อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2563 กำไรสุทธิเจอแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น รวมถึงธนาคารออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามากกว่า 1 ล้านราย โดยช่วงครึ่งปีหลังพบว่า ลูกค้าทยอยออกจากโครงการ ทำให้ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินลดลงสิ้นปี 2563 ลงมาอยู่ที่ 402,000 ล้านบาท หรือ 18% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร 

 

ถอดบทเรียนปี 2563 ผ่านงบธนาคาร

 

ปี 2564 ธุรกิจธนาคารจะเป็นอย่างไร? 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ปี 2564 การฟื้นตัวของธุรกิจธนาคารยังมีความไม่แน่นอนสูง และขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ 

 

ขณะเดียวกันหากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 สามารถเติบโตที่ 2.6% (คาดการณ์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) คาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2564 มีโอกาสเพิ่มขึ้นประมาณ 3.0-7.0% จากเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2563 แต่โจทย์สำคัญสำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 คือจะเน้นหนักอยู่ที่การประคองรายได้จากธุรกิจหลักและเร่งจัดการปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ต

 

ปี 2564 ธนาคารพาณิชย์ยิ่งต้องเร่งดูแล ประเมินความเสี่ยง และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการขั้นต่ำของ ธปท. ซึ่งเจาะจงไปที่กลุ่มรายย่อยและ SMEs ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะช่วยให้การบริหารหนี้ดีขึ้นในระยะยาว

โดยที่ผ่านมา ธปท. เน้นย้ำเรื่องผลข้างเคียงจากมาตรการช่วยเหลือที่จะไม่ทำให้เกิด Moral Hazard (พฤติกรรมที่ไม่ดี) ทำให้ระยะหลังเน้นให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือในรูปแบบเฉพาะบุคคลหรือเพิ่มทางเลือกให้ลูกหนี้มากขึ้น 

 

ฝั่ง อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปีนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทยส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องประคับประคองลูกค้าต่อไป 

 

ในส่วนของธุรกิจธนาคารต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การขยายฐานรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคาร ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

 

ส่วน เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่อฟื้นตัวกลับไปสู่สภาวะก่อนเกิดการระบาด ซึ่งปี 2564 นี้ GDP จะอยู่ที่ 2.5% จากฐานต่ำในปี 2563 ที่หดตัว 6.4% ซึ่งยังมีความท้าทายจากการฟื้นตัวแต่ละธุรกิจ แต่ละอุตสาหกรรมยังแตกต่างกันออกไป

 

“ในปี 2564 ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ควบคู่ไปกับความแข็งแกร่งทางการเงิน กรุงศรีจะยังคงดำเนินงานตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบระมัดระวัง และดำเนินมาตรการความช่วยเหลือเชิงรุก เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมและกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเต็มที่”

 

ธุรกิจธนาคารที่ต้องดูแลทั้งฝั่งผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และลูกค้าที่มาขอสินเชื่อ รวมถึงการอยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ปี 2564 ยังคงต้องรักษาสมดุลในทุกด้านและประคับประคองลูกค้าในทุกส่วนให้ค่อยๆ ขยับไปกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X