วันนี้ (18 มกราคม) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในประเด็นการติดตามข้อสรุปการดูแลระบบแอปพลิคชัน ‘หมอชนะ’ หลังจากกลุ่มผู้พัฒนาได้ถ่ายโอนการดูแลให้กับรัฐ โดยให้เหตุผลว่าการถ่ายโอนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะมองอนาคตการใช้ประโยชน์จากแอปฯ ได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและกำลังคนมาอัดฉีดในระยะยาว ซึ่ง ‘ภาครัฐ’ คือคำตอบดีที่สุด
“สืบเนื่องจากประเด็นที่มีคำถามจากสังคมการใช้แอปฯ หมอชนะ ขอเรียนไปยังพี่น้องประชาชนว่าการทำงานตั้งแต่ทีมงานพัฒนาหมอชนะ 9-10 เดือนที่แล้วจนถึงปัจจุบันก็ยังหารือด้วยดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวันนี้ได้เชิญผู้แทนที่เกี่ยวข้องมาอย่างครบถ้วน ซึ่งยังทำงานร่วมกันมาด้วยดีโดยตลอด” พุทธิพงษ์กล่าว
พุทธิพงษ์ยังบอกอีกด้วยว่า ที่ผ่านมาแอปฯ หมอชนะ ได้พัฒนาเป็นลำดับ เพื่อรองรับการใช้งานหลายเรื่อง ซึ่งการที่รัฐบาลนำมาใช้งานรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากจำเป็นจะต้องมีทีมงาน พื้นที่ในการเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ที่รองรับการใช้งานที่มากขึ้น และเจตนารมณ์ที่ส่งมอบแอปฯ หมอชนะให้รัฐบาลก็ ‘เป็นของผู้พัฒนาตั้งแต่แรก’ เพื่อให้มีการบริหารจัดการกันเป็นระบบ มีผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยกลุ่มผู้พัฒนาที่เป็นทีมงานอาสาก็ยังสนับสนุนการพัฒนากับรัฐบาลต่อไป
นอกจากนี้จำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะยาว และบุคลากรที่ทำงานกันแบบประจำแบบ 24 ชั่วโมงเข้ามาเสริม จากเดิมเป็นการทำงานในรูปแบบทีมพัฒนาอาสา จึงมีการขยับบทบาทออกไปเป็นที่ปรึกษา
พุทธิพงษ์ย้ำด้วยว่า ความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญมาก ฟังก์ชันสีต่างๆ ในการแจ้งสถานะแจ้งเตือนประชาชน กรมควบคุมโรค จะเข้ามาเร่งให้มีการแจ้งเตือนได้รวดเร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อยิ่งมีผู้ใช้เยอะ ข้อมูลก็จะยิ่งแม่นยำ ดังนั้นตนจึงอยากขอให้ประชาชนช่วยกันใช้แอปฯ หมอชนะกันเยอะๆ เพื่อการแจ้งเตือนเข้ามาในระบบ และส่งแจ้งเตือนกลุ่มเสี่ยงจะยิ่งรวดเร็วขึ้น
“ยืนยันว่าเราและนักพัฒนาได้มีการหารือกันตั้งแต่ต้น ใครออกข่าวอย่างไรมาเราไม่ทราบ แต่ตอนนี้ยืนยันว่านักพัฒนาไม่ได้ถอนตัว เขาก็ยังอยู่กับเราไม่ได้ทิ้งกันไป ไม่มีการถอนตัว เพราะเริ่มพัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่แรก ปัจจุบันเมื่อมีการใช้งานมากขึ้นจากหลักแสนเป็น 5-6 ล้านคน จำเป็นต้องมีงบประมาณในการขยายการดำเนินงาน มีกรอบงบประมาณแล้ว ซึ่งผู้คิดกรอบงบประมาณคือผู้พัฒนานั่นเอง
“ที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้งบประมาณกลางเป็นค่าเช่าคลาวด์ แต่ผู้พัฒนาไม่คิดค่าแรงเลย และเมื่อต้องใช้งานกันอย่างจริงจัง ก็ต้องมีเงินเพื่อเป็นงานประจำ มีที่เก็บข้อมูลที่รองรับจำนวนผู้ใช้งานได้ และการทำงานต่อจากนี้ของนักพัฒนาต่อจากนี้ก็ยังทำงานร่วมกันอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ยังสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลต่อไป” พุทธิพงษ์กล่าว
ด้าน สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) กล่าวว่า ตลอดการทำงาน 8-9 เดือนที่ผ่านมา เป็นแบบอย่างของความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเมื่อมีการใช้งานมากขึ้น ก็จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เป็นระบบ รองรับจำนวนคนใช้งานที่มากขึ้น และการทำงานก็จะเป็นในแบบรูปแบบเดิม มีการร่วมมือการพัฒนาแอปฯ หมอชนะตั้งแต่ต้น ส่วนเรื่องการดูแลข้อมูล สพร. ก็ยังเป็นผู้ดูแลข้อมูล และอยากขอให้ประชาชนช่วยกันดาวน์โหลดแอปฯ หมอชนะมาใช้งาน
ขณะที่ สมโภชน์ อาหุนัย ทีมผู้พัฒนาแอปฯ หมอชนะ กล่าวว่า กลุ่มคนทำงานอาสาสมัคร มุ่งพัฒนาแอปฯ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เป็นเครื่องมือหนึ่ง ดังนั้นจำเป็นต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้ามาช่วยกันใช้งาน เพื่อให้แอปฯ หมอชนะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง จำเป็นต้องให้รัฐเป็นผู้นำในการรณรงค์การใช้งานและมีความเป็นเอกภาพ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า