กทม. ออกคำชี้แจงต่อการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด โดยระบุว่า จากการเปิดบริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถตั้งแต่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการทั้งระบบวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยทดลองให้บริการ ซึ่งยังไม่มีการเดินรถเต็มรูปแบบ ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารมาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี แต่เมื่อมีการเปิดบริการเต็มระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถ จึงมีความจำเป็นต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- สายสุขุมวิทช่วงอ่อนนุช-หมอชิต และสายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ส่วนต่อขยายช่วงสถานีกรุงธนบุรี-วงเวียนใหญ่ ค่าโดยสาร 16-44 บาท
- ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
- ช่วงสถานีบางจาก-แบร่ิง และช่วงสถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
- ช่วงสถานีโพธิ์นิมิตร-บางหว้า ค่าโดยสาร 15-24 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
โดยการจัดเก็บค่าโดยสารแรกเข้าให้จัดเก็บเพียงครั้งเดียว และให้จัดเก็บค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท
นอกจากนี้ กทม. ยังระบุว่า ทั้งนี้อัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพยายามหาทางแก้ไข โดยเห็นว่าแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุด โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร ปัจจุบัน กทม. อยู่ระหว่างนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อ ครม. ซึ่งหากมีการเห็นชอบแล้วจะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: