×

จาก Ant Group สู่การตรวจสอบ ‘หุ้นเทคฯ จีน’ สะเทือนตลาดโลกอย่างไร กองทุนไทยใครบ้างที่โดนผลกระทบ?

14.01.2021
  • LOADING...
จาก Ant Group สู่การตรวจสอบหุ้นเทคฯ จีน

หนึ่งในข่าวใหญ่ช่วงปลายปี 2563 คือการที่ Ant Group บริษัทเทคโนโลยีการเงินยักษ์ใหญ่ของจีนกำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกลายเป็นหุ้นไอพีโอที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าการระดมที่อาจจะสูงถึง 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท 

 

จากกำหนดการเดิมของ Ant Group ที่จะเข้าจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 แต่จนถึงขณะนี้ Ant Group ยังคงไม่สามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนได้อย่างที่ตั้งใจไว้ 

 

หากย้อนดูไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไอพีโอของ Ant Group ต้องสะดุด เริ่มต้นจากวันที่ 24 ตุลาคม 2563 ซึ่ง แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group Holding ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ Ant Group ในสัดส่วน 33% ได้วิจารณ์ระบบธนาคารของจีน และเงื่อนไขในการกำกับดูแลด้านการธนาคารที่ออกโดย Basel Committee on Banking Supervision ว่าไม่เหมาะสมกับการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน

 

 

 

จากจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะแค่กระทบต่อเพียง Ant Group ปัจจุบันกลายเป็นว่าทางการจีนได้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องของการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่งของจีน อาทิ Alibaba และ Tencent 

 

ทั้งนี้ Bloomberg ได้ระบุถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ

 

1. ผลกระทบเล็กน้อย ในกรณีนี้ Zhang Kai นักวิเคราะห์จาก Analysys กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าผู้คุมกฎกำลังคิดจะเล่นงาน Ant สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการเจาะจงไปที่ Ant Group แต่เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงบริษัทเทคโนโลยีในจีนทั้งหมด 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านไประยะหนึ่ง ความเชื่อมั่นต่อบริษัทเหล่านี้จะค่อยๆ ฟื้นกลับมา อย่างที่เราเห็นในกรณีของ Tencent ซึ่งสามารถฟื้นตัวกลับมาทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง หรือในกรณีของ Alibaba ที่น่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เช่นกัน

 

2. ผลกระทบมาก ในกรณีนี้จะเกิดขึ้นหากทางการจีนต้องการที่จะเบรกการไอพีโอของ Ant Group ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าของ Ant Group ที่ระดับ 3.15 แสนล้านดอลลาร์ ค้างอยู่เช่นนั้น ขณะที่นักลงทุนซึ่งใส่เงินลงทุนเข้ามาใน Ant Group ก่อนจะมีการไอพีโอ เช่น Warburg Pincus LLC, Carlyle Group Inc., Silver Lake Management LLC, Temasek Holdings Pte และ GIC Pte.

 

นักลงทุนทั่วโลกที่ลงทุนผ่านบริษัทเหล่านี้ในรอบของการระดมทุนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2561 ก่อนจะไอพีโอ ซึ่งในเวลานั้น Ant Group มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์ เท่ากับว่าจะเกิดความไม่แน่นอนสำหรับเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปก่อนหน้านี้ 

 

Chen Shujin หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางการเงินของ Jefferies Financial Group สาขาฮ่องกง ระบุว่า ศักยภาพในการเติบโตของ Ant Group จะถูกจำกัดไว้ด้วยการที่ต้องกลับไปโฟกัสกับการให้บริการธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ อุตสาหกรรม Online Payment ค่อนข้างจะอิ่มตัว ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของ Ant Group ก็ไม่น่าจะขยายไปได้มากกว่านี้แล้ว

 

3. ผลกระทบหนักที่สุด (ฝันร้าย) ในกรณีนี้จะเกิดขึ้นหาก Ant Group จำเป็นต้องทิ้งธุรกิจบริหารเงินทุน (Money Management) ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ (Credit) และธุรกิจประกัน (Insurance) ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่ให้บริการลูกค้าอยู่ราว 500 ล้านคน 

 

สำหรับธุรกิจ Wealth Management ซึ่งรวมถึง Yu’ebao แพลตฟอร์มซึ่งขายกองทุนต่างๆ คิดเป็นรายได้ราว 15% ขณะที่ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ซึ่งรวมถึง Ant’s Huabei และ Jiebei คิดเป็นสัดส่วนรายได้มากที่สุดราว 39% โดยปล่อยกู้ให้กับคนถึงประมาณ 500 ล้านคน

 

ผลกระทบต่อกองทุนที่ถือหุ้น Alibaba

 

หุ้น Alibaba เป็นหนึ่งในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก ด้วย Market Cap. ในระดับ 8-9 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้กองทุนทั่วโลกต่างเข้ามาถือครองหุ้น Alibaba โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี 

 

จากข้อมูลของ Yahoo Finance กองทุนรวมขนาดใหญ่ที่ลงทุนใน Alibaba ได้แก่ BlackRock, Vanguard, T.Rowe Price, iShares, Invesco, Baillie Gifford เป็นต้น  

 

ขณะเดียวกันก็มีกองทุนไทยซึ่งส่วนมากเป็นการนำเงินไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ และกองทุนเหล่านั้นถือครองหุ้น Alibaba อยู่เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตลงทุน อาทิ กองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG) ซึ่งลงทุนใน Baillie Gifford Long Term Global Growth Investment Fund ซึ่ง ณ สิ้นปี 2563 ถือหุ้น Alibaba อยู่ 4.33% 

 

  • กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน (K-CHINA) ลงทุนผ่าน JPMorgan Funds-China Fund, Class JPM China I (acc)-USD ซึ่งถือหุ้น Alibaba อยู่ 8.40% 
  • กองทุนเปิดแอสเซทพลัส อีโวลูชั่น ไชน่า อิควิตี้ (ASP-EVOCHINA) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนหลักคือ Mirae Asset China Growth Equity ในสัดส่วน 37.4% ซึ่งกองทุนนี้ถือหุ้น Alibaba ในสัดส่วน 8.17% 
  • กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเทคโนโลยีอิควิตี้ (KF-GTECH) T Rowe Price Funds SICAV-Global Technology Equity Fund ซึ่งถือหุ้น Alibaba ในสัดส่วน 5.78% 

 

จาก Ant Group สู่การตรวจสอบหุ้นเทคฯ จีน

 

วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย Investment Management บลจ.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า นักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งถือหุ้น Alibaba อาจจะไม่ถึงกับต้องขายกองทุนเหล่านี้ออกไป เพราะโดยธรรมชาติของกองทุนรวมจะมีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตอยู่แล้ว ขณะเดียวกันผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่ในการมอนิเตอร์ความเสี่ยงจากประเด็นของ Alibaba อยู่เช่นกัน 

 

แต่สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น Alibaba โดยตรง อาจต้องพิจารณาความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยส่วนตัวมองว่าประเด็นของ Alibaba ยังมีความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร ซึ่งทาง Financial Times ระบุว่า รัฐบาลจีนอาจจะมีการออกกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีการเงินเข้ามาแข่งกับธนาคารของจีนมากเกินไป 

 

“ในระยะสั้น การลงทุนในหุ้น Alibaba โดยตรงคงจะต้องระมัดระวังมากขึ้น แต่สำหรับพื้นฐานในระยะยาวของธุรกิจ Social Banking อย่าง Alibaba หรือ Ant Group ยังคงเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ”

 

ส่วนความน่าสนใจของจีนในการลงทุนสำหรับปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะโตได้ราว 9-10% ซึ่งจะส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะในตลาด A Share (จีนแผ่นดินใหญ่) น่าดึงดูดมากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่น่าจะโดดเด่นคือ กลุ่ม Pharmabiotic ด้วยการเติบโตทางการแพทย์ในอนาคต 

 

ขณะเดียวกันกลุ่มหุ้นที่จะเชื่อมโยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของจีน ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มพลังงาน ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดีในปีนี้ 

 

“สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าลงทุนในช่วงนี้ ส่วนตัวมองว่ากองทุนแบบ Active ที่เน้นลงทุนในจีนมีความน่าสนใจกว่า เพราะก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นจีนปรับขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นตอบรับข่าวดีไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งกองทุนแบบ Active จะช่วยคัดเลือกหุ้นบางกลุ่มที่ยังมีความน่าสนใจให้เราได้ดีมากกว่า” 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X