ตั้งแต่เริ่มปี 2021 มา ดูเหมือนสัญญาณความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมรถยนต์จะเริ่มฉายภาพให้เห็นอย่างโดดเด่นแล้วว่าถนนทุกเส้นต่างมุ่งหน้าไปที่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งดีล Apple กับ Hyundai ที่มีแววน่าจะลงเอยกันสูง เช่นเดียวกับ Geely และ Foxconn ซึ่งได้ประกาศความร่วมมือกันพัฒนา EV เป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่ล่าสุด สื่ออย่าง Nikkei Asia ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Alibaba Group Holding และค่ายผู้ผลิตรถยนต์ SAIC Motor ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าโมเดลซีดานแบรนด์ IM พร้อมที่ชาร์จแบบไร้สายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2020 มีรายงานว่า ทั้งคู่ได้ประกาศความร่วมมือในการพัฒนารถยนต์อัจฉริยะร่วมกัน
โดย IM คือแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือและพัฒนาโดย Joint Venture ระหว่าง SAIC, Alibaba และ Shanghai Zhangjiang Hi-Tech Park Development (หน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลจีน) และมี SAIC เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดที่ 54% ส่วนสองรายหลังถือเจ้าละ 18% เท่าๆ กัน ส่วนชื่อ IM มาจากคำว่า Intelligence in Motion หรือการขับเคลื่อนอย่างชาญฉลาด
สำหรับรถยนต์ซีดาน IM จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Solid-State รูปแบบใหม่ที่สามารถให้พลังงานกับตัวรถได้มากกว่าแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าในท้องตลาดโดยปัจจุบัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดย Contemporary Amperex Technology บริษัทผู้พัฒนาแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยในรุ่นมาตรฐานจะมาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 93kWh และรุ่นท็อปจะมีแบตเตอรี่ 115kWh ซึ่งสามารถวิ่งได้สูงสุดถึง 874 กิโลเมตร ส่วนเทคโนโลยีชิปของตัวรถยนต์จะใช้งานชิปจาก Nvidia แบรนด์ผู้พัฒนาการ์ดจอชื่อดังจากสหรัฐฯ
รายงานเพิ่มเติมยังระบุอีกด้วยว่า รถยนต์ไฟฟ้า IM จะสามารถถอยจอดเองได้ และยังมีฟีเจอร์ต่างๆ เหมือนที่สมาร์ทโฟนมี เช่น การถ่ายรูปหรือการแชร์สื่อบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยตัวรถจะเริ่มเปิดให้พรีออร์เดอร์ล่วงหน้าได้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ในงาน Shanghai Auto Show ส่วนรถยนต์ในโมเดลที่สอง ซึ่งจะมาในรูปโฉมของ SUV คาดว่าจะสามารถส่งมอบได้ในช่วงปี 2022 เป็นต้นไป
Ivan Su นักวิเคราะห์จากบริษัท Morningstar ในฮ่องกง เชื่อว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ความพรีเมียมให้กับรถยนต์ไฟฟ้าในพอร์ตโฟลิโอของ SAIC ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการได้ศักยภาพและชื่อชั้นของ Alibaba เข้ามาช่วยประดับบารมี
อีกประเด็นที่น่าสนใจที่สะท้อนจังหวะการขยับตัวของบรรดาผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายๆ ราย ที่พร้อมใจกันกระโจนเข้ามาสู่ตลาด EV คือการเข้ามาขยุ้ม ‘ฐานข้อมูลของผู้ใช้งาน’ ที่ต่างออกไปจากชุดข้อมูลเดิมที่พวกเขามีอยู่
โดย Le Tu Sino กรรมการผู้จัดการ Sino Auto Insights บริษัทให้ข้อมูลด้านการตลาดและให้คำปรึกษาค่ายรถยนต์กล่าวว่า “บริษัทเทคโนโลยีต่างก็มีข้อมูลผู้บริโภคอยู่แล้ว ทั้งสถานที่ที่เราจะไปรับประทานอาหาร, สิ่งที่เราจะซื้อ, ที่ที่เราจะไป ซึ่งหนึ่งใน ‘ช่องว่าง’ ของข้อมูลที่ขาดหายไปคือข้อมูลจากกล่องดำที่จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีรู้ว่าเรากำลังจะทำอะไรเวลาที่เราขับรถอยู่
“ซึ่งถ้าพวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนั้นได้ แล้วนำมาผนวกรวมกับข้อมูลที่พวกเขามีอยู่แล้ว มันก็จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าพวกเราต้องการอะไรในแต่ละวัน หลังจากนั้นก็ค่อยพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ที่รู้ว่าเราต้องการออกมานั่นเอง”
ทั้งนี้ ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา รถยนต์กลุ่มพลังงานทางเลือกทั้งรถไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดในจีนสามารถจำหน่ายได้มากกว่า 1.36 ล้านคันแล้ว คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้ามากถึง 11% เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าภาพรวมตลาดรถยนต์ประเทศจีนในปีที่ผ่านมาจะซบเซา โดยมียอดขายตกลง 2% และขายรถได้ตลอดทั้งปีที่ 25.3 ล้านคันก็ตาม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขนติศรีสกุล
อ้างอิง: