หรือการเกิดขึ้นของโควิด-19 จะเป็นสัญญาณสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการปรับตัว และนำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษารูปแบบใหม่ ที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยสอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ทั่วโลก? คำถามชวนคิดสำหรับคนที่เชื่อว่า พื้นฐานของสังคมที่ดี ต้องเกิดจากการมีทรัพยากรบุคคลที่ดี และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพจำเป็นต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเช่นกัน
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำการประเมินสถานการณ์การศึกษาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการศึกษาในหลากมิติ ตั้งแต่การปรับรูปแบบการเรียนออนไลน์ ไปจนถึงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำให้เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียน เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น
การเรียนรู้ที่ลดลง: ผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
แม้จะมีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทดแทน แต่ก็ไม่ได้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการเรียนในห้องเรียน ทั้งในแง่ของการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน หรือบางรายวิชาที่ต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติเป็นหลัก โดยเฉพาะความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้เด็กส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้
“เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องอยู่บ้าน เด็กเหล่านี้ก็จะขาดการทบทวนบทเรียนเป็นเวลานาน ความรู้ก็อาจจะหายไป” ดร.ภูมิศรัณย์ ยังกล่าวอีกว่า การเรียนรู้ที่ลดลง ยังอาจส่งผลต่อพื้นฐานความรู้ที่สำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในสังคม เห็นได้ว่าในหลายประเทศกำลังเร่งแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เด็กเข้าถึงการเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังต้องเทรนครูให้รับมือกับการเรียนการสอนแบบระยะไกลด้วย
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน: ผนึกกำลังท้องถิ่นแก้ปัญหาการศึกษาตามบริบทพื้นที่
ในทัศนะของ ดร.ภูมิศรัณย์ มองการเรียนการสอนทางไกลเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบการศึกษา และเป็นข้อดีอันนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมต่างๆ มากมาย อีกทั้งพิสูจน์ให้เห็นว่า การศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนเท่านั้น วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น การส่งหนังสือ อุปกรณ์การเรียน พร้อมคำแนะนำไปให้เด็กในพื้นที่ อย่างครูโรงเรียนบนดอยที่สมัยก่อนต้องขี่ม้าไปสอน ปัจจุบันอาจจะใช้รถโฟร์วีลหรือมอเตอร์ไซค์ หรือครูในเมืองก็มีการใช้รถพุ่มพวง การศึกษาที่มีหนังสืออุปกรณ์ออกไปสอนเด็กๆ รวมถึงโครงการต่างๆ เช่น ของบ้านปลาดาวที่มีนวัตกรรมพวกกล่องการเรียนส่งไปให้นักเรียนในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นวิธีการต่างๆ ในการช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในช่วงเวลาวิกฤตได้
ดร.ภูมิศรัณย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้เห็นความเข้มแข็งของชุมชน “จะเห็นว่าผู้ปกครองหรือคนที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นก็มีความใส่ใจต่อประเด็นการศึกษาของลูกหลาน และเขาก็หาทางแก้ปัญหาท้องถิ่นในบริบทของเขาได้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า สิ่งที่เราสั่งการจากส่วนกลาง เช่น นโยบายการศึกษา แนวปฏิบัติอาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับบริบทเสมอไป การปล่อยให้คนในท้องถิ่นได้คิดเองอาจได้ผลลัพธ์ หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่คนในเมือง หรือนักการศึกษาจากส่วนกลางคิดไม่ถึง”
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ: แนวโน้มเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
หากย้อนดูตัวเลขที่ กสศ. เผยกลางเดือนตุลาคมปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า โควิด-19 ส่งผลต่อนักเรียนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.7 ล้านคน และเป็นนักเรียนยากจนพิเศษมากถึง 1 ล้านคน ในจำนวนนั้นยังพบครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 6 แสนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบต่อรายได้ครอบครัวเฉลี่ยลดลงจาก 1,205 บาทต่อคนต่อครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาทต่อคนต่อครัวเรือน เฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท
ตัวเลขสมาชิกในครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษที่ว่างงานก็เพิ่มขึ้นจาก 44% เป็น 73% ผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ อาจทำให้เด็กต้องขาดเรียนมากขึ้น หรือครอบครัวมีรายจ่ายเพื่ออุดหนุนการศึกษาน้อยลง ทำให้แนวโน้มของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมีมากขึ้น
โควิด-19 กระทบต่อการศึกษาทุกระดับ: ตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษา
นอกจากประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาแล้ว ในภาพรวมวิกฤตครั้งนี้ยังส่งผลต่อการศึกษาทุกระดับ อาทิ กลุ่มเด็กปฐมวัย ก่อนประถมศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก เนิร์สเซอรี ที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ และเมื่อไม่ได้ออกไปเล่นตามวัย ย่อมส่งผลให้การพัฒนาของกล้ามเนื้อลดลง หรือในกลุ่มของเด็กพิการที่ต้องการการเรียนการสอนแบบเฉพาะเจาะจง ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของการหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ก็ได้รับผลกระทบจากการออกจากห้องเรียนเช่นกัน สำหรับเด็กโต การเรียนการสอนในวิชาที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติการต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าวิชาที่สามารถเรียนได้ในระยะไกล เช่น วิชาคอมพิวเตอร์
ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชนก็ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้จากนักศึกษาต่างชาติ หรือสภาวะเศรษฐกิจที่ผู้ปกครองมีรายได้ลดลง มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย ซึ่งอาศัยรายได้จำนวนมากจากนักศึกษาต่างชาติหรือนักศึกษาต่างรัฐ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดต้องเรียนทางไกล ทำให้นักศึกษาหลายคนตัดสินใจพักการเรียน เมื่อมหาวิทยาลัยมีรายได้ลดลง ทำให้ต้องปิดตัวหรือชะลอการเปิดหลักสูตร หรือยกเลิกการรับนักศึกษาในระดับบัณฑิตในบางสาขา นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อนาคตทางการศึกษาโลก: ผลักดันโมเดลการศึกษาใหม่หลังโควิด-19
ดร.ภูมิศรัณย์ ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาในหลายๆ ประเทศที่ต่างกัน บางประเทศมีองค์กร NGO ที่จัดติวเตอร์อาสาสมัครไปสอนหนังสือให้กับเด็กในพื้นที่ เพื่อให้เรียนได้ทันในช่วงที่ต้องหยุดเรียน หรือมีการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อเติมเต็มช่องว่างของทรัพยากร รวมไปถึงการปรับรูปแบบการศึกษาออกนอกกรอบ เช่น การยกเลิกการสอบไล่ปลายปี การยกเลิกระบบการสอบเข้า ระบบการให้เกรด แบบชั่วคราว
หลายประเทศเริ่มมีการผลักดันเชิงนโยบาย เช่น ยกเลิกการสอบแบบมาตรฐาน (Standardized Test) ยกเลิกการนำเอาการสอบเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ประเทศไทยก็ยกเลิกการสอบ O-NET เช่นกัน
ในอเมริกามีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งสะท้อนผ่านการสอบมาตรฐานเช่น SAT, ACT พบว่าคนจนทำคะแนนได้ไม่ดี เพราะไม่มีโอกาสไปเรียนพิเศษ ทำให้หลายมหาวิทยาลัยใช้สถานการณ์ช่วงนี้ยกเลิกการนำผลสอบไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา และอาจจะพิจารณายกเลิกแบบถาวร รวมถึงนโยบายเรื่องการประเมินผลโรงเรียน การประเมินผลครู ที่ต้องคิดหาแนวทางเชิงนโยบายแบบใหม่ๆ เข้ามา ทำให้เห็นโมเดลใหม่ๆ ทางการศึกษาเกิดขึ้น
“สำหรับประเทศไทยในช่วงเฟสแรกถือว่าค่อนข้างโชคดี เพราะโควิด-19 ระบาดช่วงปิดเทอม ก็มีนโยบายเลื่อนเปิดเทอมออกไปสองเดือน ช่วงนั้นเองที่เราพบปัญหาการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการของเด็กชนบท กสศ. จึงมีโครงการจัดอาหารเลี้ยงน้อง ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่การระบาดรอบสอง แม้ว่ามีการประกาศปิดโรงเรียนอีก ทางโรงเรียนก็น่าจะปรับตัวได้เร็วขึ้น เพราะมีต้นทุนเดิมที่ทำไว้แล้วบ้าง หรือพวกระบบบทเรียนทางไกลต่างๆ ที่เคยนำมาใช้”
แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มเด็กที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนในลักษณะทางไกล และกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจนอาจหลุดนอกระบบการศึกษามากขึ้น ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า กสศ. คงต้องมีแนวทางร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการช่วยเหลือเด็กๆ ครู และโรงเรียนในกลุ่มนี้
เห็นได้ชัดว่า ปี 2563 การเปลี่ยนแปลงของการศึกษาจากรูปแบบ Conventional Education System ไปสู่ทางเลือกและการปรับตัวใหม่นั้นทำได้จริง นับเป็นสัญญาณที่ดีหากในอนาคตจะมีการปฏิรูประบบเพื่อตอบรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เพียงแต่การปรับเปลี่ยนนั้นอาจนำไปสู่การสร้างผลกระทบกับเด็กยากจนด้อยโอกาสในหลายมิติ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะยิ่งชัดขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มีเทคโนโลยีที่สูง หากขาดนโยบายการสนับสนุนทางสังคมด้านการศึกษาที่ดีพอ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ยิ่งถ่างเพิ่มมากขึ้น หากประเทศไทยต้องการให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นจริง ความมุ่งมั่นของภาครัฐและภาคประชาสังคมต่างๆ คงต้องหันมาร่วมมือกันสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนให้แก่อนาคตทางการศึกษาของไทย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์