ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเร่งแข่งขันพัฒนาและอนุมัติใช้วัคซีนเพื่อคลี่คลายวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จีนถือเป็นอีกประเทศนอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนเป็นอันดับต้นๆ โดยวัคซีนจากบริษัทยาของจีนอย่าง Sinovac ตอนนี้เป็นความหวังก้าวแรกของคนไทย เนื่องจากเป็นวัคซีนตัวแรกที่ไทยจะได้รับในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้จำนวน 200,000 โดส ก่อนจะนำเข้ามาเพิ่มขึ้นในเดือนถัดๆ ไปรวมแล้ว 2 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามคาใจสำคัญทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว เพราะเรายังมีข้อมูลไม่มากนัก เมื่อเทียบกับวัคซีนของ Pfizer-BioNTech, Moderna รวมถึง AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
THE STANDARD จะพาไปทำความรู้จักกับวัคซีนตัวนี้ให้มากขึ้น รวมถึงอีกหลายตัวที่จีนกำลังพัฒนาอยู่ เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน
วัคซีนของจีนมีกี่ตัวกันแน่?
จีนมีหลายกลุ่มวิจัย ทั้งบริษัทยาของเอกชนและของรัฐ รวมถึงสถาบันทางการแพทย์ แต่กลุ่มวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดคือวัคซีนของบริษัท Sinovac Biotech บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์รายใหญ่ของจีน, Sinopharm บริษัทเภสัชกรรมของรัฐบาลจีน และ CanSinoBIO บริษัทวัคซีนที่ร่วมมือพัฒนาวัคซีนกับสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีน
วัคซีนตัวไหนก้าวหน้าที่สุด?
กลุ่มวิจัยวัคซีนหัวแถวของจีนทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก (Clinical Trial) หรือการทดลองในคนเฟสที่ 3 ก่อนอนุมัติใช้งาน ซึ่งทางการจีนได้เริ่มอนุมัติการใช้งานวัคซีนของ Sinopharm สำหรับใช้งานทั่วไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังผลวิเคราะห์ขั้นต้นจากการทดลองเฟส 3 พบว่าวัคซีนของ Sinopharm มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 79.34% อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด และยังมีข้อสงสัยจากข้อมูลประสิทธิภาพที่ไม่ตรงกัน หลังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดเผยผลการทดลองก่อนหน้าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมว่า วัคซีนของ Sinopharm มีประสิทธิภาพสูงถึง 86% แต่กระนั้นผู้บริหารของ Sinopharm ยืนยันในภายหลังว่าข้อมูลที่ได้นั้นถูกต้องทั้งคู่
Sinovac เป็นอีกกลุ่มวิจัยที่มีความก้าวหน้า โดยวัคซีนที่ทางบริษัทพัฒนาชื่อว่า CoronaVac นั้นได้รับการอนุมัติใช้งานฉุกเฉินแก่กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงในจีน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองเฟสที่ 3 ในบราซิล อินโดนีเซียและตุรกี ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนยังมีความไม่แน่ชัด เช่นเดียวกับ Sinopharm โดยข้อมูลจากการทดลองในคนเฟส 3 ที่ตุรกี พบว่าวัคซีน CoronaVac มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้สูงถึง 91.25% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขจากการทดลองในบราซิลที่นักวิจัยเปิดเผยว่าประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้อยู่ที่ระหว่าง 50-90% แต่คาดว่าผลทดลองในบราซิลจะมีการเปิดเผยรายละเอียดออกมาในวันที่ 7 มกราคม
ส่วน CanSinoBIO ที่ร่วมมือพัฒนาวัคซีนกับสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีนนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนออกมา แต่เตรียมที่จะส่งผลการทดลองทางคลินิกให้กับทางหน่วยงานกำกับดูแลวัคซีนของเม็กซิโกในสัปดาห์หน้า
วัคซีนของ Sinovac ทำงานอย่างไร
สำหรับวัคซีนของ Sinovac ซึ่งคาดว่าจะเป็นวัคซีนตัวแรกที่คนไทยได้ฉีดนั้น ใช้วิธีการพัฒนาด้วยการนำเอาอนุภาคไวรัสที่ตายแล้ว (Inactivated vaccine) มากระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสในร่างกายมนุษย์ โดยมีข้อดีคือไม่ต้องเสี่ยงต่อการตอบสนองของโรคขั้นรุนแรง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนแบบ mRNA หรือการใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนของไวรัส ที่กลุ่มวิจัยหัวแถวของสหรัฐฯ อย่าง Pfizer และ Moderna ใช้นั้น วิธีของ Sinovac ดูจะเป็นวิธีพัฒนาวัคซีนตามแบบแผนที่ประสบความสำเร็จและเคยใช้มาแล้วในการพัฒนาวัคซีนที่เป็นที่รู้จัก เช่น วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
“วัคซีน mRNA นั้นเป็นวัคซีนชนิดใหม่และยังไม่มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ (ในขณะนี้) ที่ใช้กับประชากร” ศาสตราจารย์หลัว จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าว
ทั้งนี้ข้อดีของวัคซีนจาก Sinovac ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือการเก็บรักษาในระดับอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือเก็บในตู้เย็นมาตรฐานทั่วไปได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ แต่ต่างจากวัคซีน mRNA ซึ่งวัคซีนของ Moderna ต้องเก็บรักษาที่ระดับอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ส่วนวัคซีนของ Pfizer ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งหากมองคุณสมบัติในการเก็บรักษาแล้ว วัคซีนของ Sinovac นั้นเหมาะสมที่จะใช้ในประเทศกำลังพัฒนา ที่อาจไม่สามารถจัดเก็บวัคซีนจำนวนมากในระดับอุณหภูมิต่ำขนาดนั้นได้
วัคซีนของจีนมีกำลังผลิตได้มากแค่ไหน?
Sinovac ได้สร้างโรงงานผลิตวัคซีนขนาด 20,000 ตารางเมตร ที่สามารถผลิตวัคซีน CoronaVac ได้มากถึง 300 ล้านโดสต่อปี แต่จำนวนนี้ยังดูไม่เพียงพอ เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ทั้งของ Sinovac และของกลุ่มวิจัยอื่นๆ ต้องใช้ทั้งหมด 2 โดส ซึ่งหมายความว่ากำลังการผลิตในตอนนี้สามารถผลิตวัคซีนฉีดให้ประชาชนได้ 150 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของประชากรจีน โดย Sinovac ยังวางแผนเพิ่มไลน์การผลิตที่ 2 และตั้งเป้าขยายการผลิตวัคซีน CoronaVac ให้ได้ 600 ล้านโดสต่อปี
Sinopharm เปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมาว่าทางบริษัทตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้ถึง 1,000 ล้านโดสในปีนี้ โดยปัจจุบันโรงงานผลิตวัคซีนของ Sinopharm ในปักกิ่งและอู่ฮั่นสามารถผลิตวัคซีนได้ 300 ล้านโดสต่อปี
มีประเทศไหนที่เตรียมใช้วัคซีนของจีนบ้าง?
ไทยสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จาก Sinovac จำนวนทั้งหมด 2 ล้านโดส โดยคาดว่าจะจัดส่งถึงไทย 200,000 โดสในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และ 800,000 โดสในช่วงปลายมีนาคม และอีก 1 ล้านโดสในช่วงปลายเมษายน
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศอาเซียนที่เผชิญการระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุด โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงเกือบ 780,000 คน มีการลงนามข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจาก Sinovac จำนวน 125.5 ล้านโดส และได้รับวัคซีนชุดแรกแล้ว 3 ล้านโดส
สิงคโปร์ เป็นอีกประเทศที่ลงนามข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้าจากหลายผู้ผลิต ซึ่งรวมทั้งของ Sinovac, Pfizer-BioNTech และ Moderna
มาเลเซียและฟิลิปปินส์กำลังอยู่ระหว่างการหารือข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจาก Sinovac
ชาติอาหรับอย่าง อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน อนุมัติการใช้งานวัคซีนโควิด-19 ของ Sinopharm โดยบาห์เรนนั้นเปิดให้ประชากรผู้ใหญ่ลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับการฉีดวัคซีนฟรี ส่วนอียิปต์วางแผนสั่งซื้อวัคซีนจาก Sinopharm ถึง 40 ล้านโดส
ขณะที่ปากีสถานประกาศข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1.2 ล้านโดสจาก Sinopharm แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจากจีน เช่น ตุรกี บราซิล และชิลี
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55212787
- https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-china-vaccine/sinopharms-covid-19-vaccine-79-effective-seeks-approval-in-china-idUSKBN2940C8
- https://www.ndtv.com/world-news/what-we-know-about-chinas-coronavirus-vaccines-2346243
- https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/Indonesia-to-roll-out-mass-COVID-19-vaccinations-next-week
- https://www.yicaiglobal.com/news/singapore-to-buy-covid-jab-from-china-sinovac-biotech
- https://www.ndtv.com/world-news/what-we-know-about-chinas-coronavirus-vaccines-2346243
- https://www.aljazeera.com/news/2021/1/3/egypt-approves-chinese-vaccine-roll-out-expected-in-january