ธนาคารโลก หรือ World Bank กำลังทำงานร่วมกับกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและเงินทุนสำหรับจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19
เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวผ่านการประชุมทางโทรศัพท์ว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกกำลังช่วยนานาประเทศแก้ปัญหา คือ ข้อกฎหมายที่เปิดช่องให้ผู้ผลิตวัคซีนฟ้องร้องหรือพิจารณาไม่จำหน่ายวัคซีนให้ประเทศใดประเทศหนึ่งได้
ระหว่างการให้สัมภาษณ์ ประธานธนาคารโลกยังร้องขอให้ประเทศพัฒนาแล้วอย่ากักตุนวัคซีน และหากมีวัคซีนที่ล้นศักยภาพในการแจกจ่าย ก็ควรเปิดโอกาสให้ประเทศที่ยากจนกว่าสามารถจัดซื้อไปได้
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกอนุมัติงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 3.4 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 รวมไปถึงการทดสอบและรักษาผู้ป่วยราว 1 พันล้านคนเป็นเวลา 24 เดือน
งบประมาณส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนขนาด 1.6 แสนล้านดอลลาร์ที่บรรดาสถาบันเงินกู้เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศจัดสรรไว้ เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2021
ไม่เพียงแต่เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ธนาคารโลกยังให้การสนับสนุนเชิงเทคนิคในด้านการเตรียมความพร้อมแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชน รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เตรียมการด้านโลจิสติกส์เพื่อแจกจ่ายวัคซีน และการเก็บรักษาวัคซีน เป็นต้น
มัลพาสส์เปิดเผยว่า จะนำแผนสนับสนุนทางการเงินฉบับแรกเข้าสู่ที่ประชุมเพื่ออนุมัติในเร็วๆ นี้ แต่ไม่ระบุว่ามีประเทศใดบ้างที่เข้าร่วมในแผนฉบับแรกนี้ ด้านโฆษกธนาคารโลกคาดการณ์ว่า คณะกรรมการฯ จะอนุมัติแผนดังกล่าวได้เร็วสุดช่วงปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์
บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนงบประมาณการผลิตเข็มฉีดยา ขวดแก้วบรรจุวัคซีน และวัตถุดิบอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการฉีดวัคซีนอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: