วันนี้ (3 มกราคม) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยระบุรายละเอียดว่า
ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564 นั้น
เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย
จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
สำหรับบัญชีรายชื่อจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร
- กาญจนบุรี
- จันทบุรี
- ฉะเชิงเทรา
- ชุมพร
- ชลบุรี
- ตราด
- ตาก
- นครนายก
- นครปฐม
- นนทบุรี
- ปทุมธานี
- ประจวบคีรีขันธ์
- ปราจีนบุรี
- พระนครศรีอยุธยา
- เพชรบุรี
- ราชบุรี
- ระนอง
- ระยอง
- ลพบุรี
- สิงห์บุรี
- สมุทรปราการ
- สมุทรสงคราม
- สมุทรสาคร
- สุพรรณบุรี
- สระแก้ว
- สระบุรี
- อ่างทอง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: