×

‘แบงก์ชาติ’ ส่งสัญญาณ ‘คงดอกเบี้ยต่ำ’ นานขึ้น หวังฟื้นเศรษฐกิจ แนะรัฐอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเพิ่ม

29.12.2020
  • LOADING...
แบงก์ชาติ

HIGHLIGHTS

  • ระบบการเงินไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี และการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง หลังโควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่
  • การดูแลเศรษฐกิจอาจต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยาวนาน และเพิ่มขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง
  • หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ จึงมีศักยภาพการกู้ยืมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มได้ แต่ควรทำควบคู่กับการปฏิรูปทางการคลัง
  • ธุรกิจขนาดใหญ่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านการระดมทุนในตลาดบอนด์ที่สัดส่วนสูงถึง 55% ของตราสารหนี้เอกชน หากเกิดปัญหาจึงอาจส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่นๆ ได้
  • แนะติดตาม ‘อสังหาริมทรัพย์’ เชิงพาณิชย์ หลังแนวโน้มอุปทานเร่งขึ้นในปี 2566 อาจนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง กระทบฐานะการเงินผู้ประกอบการได้

ธนาคารแห่งประเทศไทยออกรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2563 หลังการเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรายงานดังกล่าวระบุว่าระยะต่อไประบบการเงินไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังวิกฤตโควิด-19 ยังต้องใช้เวลาและมีความไม่แน่นอน

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่าการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วงปลายปีช่วยลดความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านการลดความน่าจะเป็นของการกลับมาปิดเมืองขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยบวกต่อการตัดสินใจบริโภคและการลงทุนของภาคครัวเรือนและธุรกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีนับจากช่วงไตรมาส 2/63 ที่เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงที่สุดในการกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะยังไม่กลับมาอย่างมีนัยจนกว่าจะมีการได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยคาดว่าจะเป็นปี 2565

อีกทั้งการฟื้นตัวของกิจกรรมในประเทศยังมีความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยมีความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอีเป็นจุดเปราะบางสำคัญ ซึ่งอาจส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่นในระบบการเงินได้ เช่น ผ่านคุณภาพสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินที่ปรับลดลง และความเสี่ยงด้านการต่ออายุของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้น จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยมาตรการด้านการเงินและการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ เช่น การเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจและรายย่อย

การใช้มาตรการด้านการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องและพิจารณาเพิ่มขนาดของมาตรการในกรณีเลวร้ายต่างๆ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่หยั่งลึกจนเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในระยะสั้นคือการดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าอาจจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยาวนาน รวมถึงการเพิ่มขนาดของการกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำยาวนานอาจนำไปสู่การกลับมาของพฤติกรรม Search for Yield 

 

ขณะที่การกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติมอาจนำไปสู่ภาระทางการคลังที่สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งในระยะถัดไปจึงจำเป็นต้องเตรียมมาตรการทั้งการดูแลเสถียรภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจและดูแลสถาบันการเงินแต่ละแห่งให้มีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากพฤติกรรม Search for Yield  

 

ในส่วนของภาระทางการคลัง นับว่าเป็นโชคดีของเศรษฐกิจไทยที่ฐานะทางการคลังมั่นคง ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ต่ำ ทำให้ไทยสามารถใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่ในการเข้าไปแก้ปัญหา เยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ได้ แม้ผลพวงของมาตรการขนาดใหญ่ประกอบกับรายได้ของภาครัฐที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะทำให้ภาระทางการคลังและหนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย

 

โดยระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49.4% ณ สิ้นไตรมาส 3/63 จาก 41.2% ณ สิ้นปี 2562 และมีแนวโน้มเข้าใกล้กรอบวินัยทางการคลังที่ 60% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่หากมีความจำเป็น รัฐบาลสามารถก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล รวมถึงระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ระดับไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 

สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อ GDP เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 

นอกจากนี้องค์กรระหว่างประเทศและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเห็นว่าความยั่งยืนทางการคลังขึ้นกับหลายปัจจัย นอกเหนือจากระดับหนี้สาธารณะ เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการลดภาระทางการคลังและการรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว 


ดังนั้นรัฐบาลไทยยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้หากจำเป็นในกรณีที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะหากการก่อหนี้เป็นไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางการคลังเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวมั่นคงแล้ว

 

นอกจากความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่สะสมมายาวนาน อีกทั้งผลจากวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้ครัวเรือนรายได้น้อยมีรายได้ลดลง และฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น 

 

รวมทั้งความเสี่ยงจากภาคธุรกิจบางสาขาจะมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างหลังวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มเอสเอ็มอีจะยิ่งมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน และมีโอกาสส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่นๆ ได้มากขึ้น 

 

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์มีความเสี่ยงจากแนวโน้มอุปทานคงค้างที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

 

สำหรับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงประกอบกับรายได้ที่ลดลงรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยมีความเปราะบางมากขึ้น โดยครัวเรือนไทยมีหนี้อยู่ในระดับสูงอยู่เดิม ซึ่งภาระหนี้ต่อรายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่ลดลงเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 79.9% และ 149.7% ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 83.8% และ 158.8% ณ สิ้นไตรมาส 2/63 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี และสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค

 

การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเป็นผลจาก Nominal GDP และรายได้ครัวเรือนที่หดตัวสูงเป็นสำคัญ อีกทั้งความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการใช้จ่าย หลังรายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด

 

ทั้งนี้ ครัวเรือนกลุ่มที่จะยิ่งเปราะบางมากขึ้น ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 เช่น ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจโรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน และมีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูง

 

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงไม่แน่นอนและแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวฐานะการเงินของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่ทำงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 คาดว่าจะเปราะบางยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะฉุดรั้งการบริโภคและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน แต่ยังส่งผลต่อการดำรงชีพและอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมในระยะต่อไปด้วย จึงจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงและความเปราะบางของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด 

 

รวมทั้งผลักดันมาตรการแก้ปัญหาทางการเงินของครัวเรือนอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในมิติการสนับสนุนหรือสร้างรายได้แก่ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนและยกระดับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 และมิติการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเสริมภูมิคุ้มกันแก่ครัวเรือนผ่านการเสริมสร้างความรู้และวินัยทางการเงิน เพื่อให้ครัวเรือนสามารถบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ก่อหนี้ไม่จำเป็นจนเกินตัว ตลอดจนมีการออมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ไปจนถึงการแก้ไขหนี้กรณีที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

 

นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงการที่ผู้กู้จะมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพหลังจ่ายชำระหนี้แล้ว เช่น การให้สินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพในการชำระหนี้และการดำรงชีพของผู้กู้โดยไม่นำไปสู่การก่อหนี้เกินตัว และการพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้หรือลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับระดับที่ผู้กู้สามารถจ่ายชำระได้

 

ภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจเพิ่ม อาจส่งความเสี่ยงไปยังภาคส่วนต่างๆ ได้

สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย รวมทั้งมีโอกาสที่จะส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนต่างๆ ได้มากขึ้น โดยภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวและมีธุรกิจหลากหลายประเภทมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จึงจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่การเป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่อุปทานและการเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ของประเทศ

 

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีความสำคัญต่อระบบการเงินในฐานะผู้ระดมทุนรายใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและตลาดสินเชื่อ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/63 การระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนสูงถึง 55% ของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 53% ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่สัดส่วนยอดคงค้างสินเชื่อที่ให้แก่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 17% ของเงินให้สินเชื่อทั้งระบบ 

 

ทั้งนี้ หากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ประสบปัญหา เช่น ขาดสภาพคล่อง ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ก็มีโอกาสส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจและการเงินในวงกว้างขึ้นและรุนแรงขึ้น เช่น กรณี บมจ.การบินไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจนต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการในเวลาต่อมา ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้และตราสารทุนที่ออกโดย บมจ.การบินไทย ลดลงอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อผู้ถือตราสารหนี้ดังกล่าวในวงกว้าง

 

ระยะข้างหน้าจึงต้องติดตามประเมินความเสี่ยงและความเชื่อมโยงของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กับระบบเศรษฐกิจและการเงินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันดูแลและจำกัดผลกระทบของความเสี่ยงที่อาจส่งผ่านจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไปยังภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจและการเงินผ่านความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้น 

 

อุปทานคงค้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เร่งตัวขึ้นในปี 2566

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีความเสี่ยงจากอุปทานคงค้างที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยอุปทานของตลาดอาคารสำนักงานและตลาดพื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (มิกซ์ยูส) ที่เร่งตัวขึ้น

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีอุปทานเปิดใหม่ของตลาดอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 1.5 ล้านตารางเมตร และ 8 แสนตารางเมตร ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์บางประเภท เช่น รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในลักษณะ Work from Home ส่งผลให้ความต้องการเช่าอาคารสำนักงานลดลง 

 

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าอาจกระทบต่อรายได้ของผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีก ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มลดลง 

 

ระยะถัดไป หากอุปทานโดยเฉพาะอาคารสำนักงานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงอาจประสบปัญหาจากอุปทานคงค้างที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันปรับลดราคาเช่าอย่างรุนแรงเพื่อลดอุปทานคงค้าง ผลกระทบเหล่านี้ส่งผ่านไปยังผลดำเนินงานและฐานะของผู้ประกอบการเหล่านี้ได้

 

อุปทานเปิดใหม่ของอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

 

ทั้งนี้ โครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งเป็นโครงการภายใต้การพัฒนาของผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นผู้ระดมทุนรายสำคัญในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและตลาดสินเชื่อ ซึ่งอาจส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่นๆ ในระบบการเงินเป็นวงกว้างได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และความเสี่ยงของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด

 

โดยสรุป การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในระยะ 1-2 ปีข้างหน้ามีความท้าทายจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาและยังคงมีความไม่แน่นอน โดยมีจุดเปราะบางที่สำคัญคือความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการดูแลความเสี่ยงดังกล่าวตรงจุดและทันการณ์ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่หยั่งลึกจนเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และส่งผ่านความเสี่ยงไปยังระบบการเงิน 

 

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่นักลงทุนเร่งไถ่ถอนกองทุนรวมและขาดความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจและการเงินที่มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นที่ภาคส่วนหนึ่งสามารถลุกลามและส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ดังนั้นการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินไทยจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและทันการณ์ ทั้งด้านการจับสัญญาณความเสี่ยง การดำเนินมาตรการเพื่อลดความเสี่ยง ตลอดจนการมีกลไกหรือแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงลุกลามไปยังภาคส่วนอื่นๆ ในวงกว้าง

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินไทยอยู่ระหว่างผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายเสถียรภาพระบบการเงิน (Financial Stability Consultative Committee: FSCC) เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในการร่วมกันประเมินความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในลักษณะมองไปข้างหน้า 

 

รวมทั้งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายด้านเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อที่แต่ละหน่วยงานจะได้นำไปพิจารณาออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมต่อไป

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising