ต่อให้แก้ชง แก้กรรม หรือสะเดาะเคราะห์ที่ศาลเจ้าไหน คนทั้งโลกก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงวิบากกรรมที่ต้องเผชิญกับเชื้อโควิด 19 ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์และสภาพเศรษฐกิจในทุกมิติ ไม่เว้นแม้แต่วงการบันเทิง อีเวนต์ใหญ่ๆ หนังดังๆ คอนเสิร์ตดีๆ มีอันต้องเลื่อนออกไป จริงๆ แล้วตามหลักโหราศาสตร์ ปีชงไม่ได้หมายถึงปีที่ไม่ดี แต่หมายถึงการปะทะ เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปีนี้เราจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการบันเทิงไทยแบบที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นมากมาย ส่วนจะมีอะไรบ้าง ผมขอสรุปมาให้ดังต่อไปนี้
ภาพจากซีรีส์เรื่อง แปลรักฉันด้วยใจเธอ
ปีที่ซีรีส์วายกลายเป็นกระแสหลักโดยสมบูรณ์
ก่อนหน้านี้เรื่องราวความรักของคนเพศเดียวกันในโลกบันเทิง ถ้าตัวละครหลักไม่ตาย ความรักก็ไม่เคยสมหวัง แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากระแสจิ้นแบบวายๆ กลายเป็นความมุ้งมิ้งฟินจิกหมอนที่ค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกระแสหลักอย่างเด่นชัดในปีนี้ จะเห็นได้จากผู้เล่นเบอร์หลักๆ ในธุรกิจบันเทิงประกาศเข้าสู่ตลาดซีรีส์วายกับเขาด้วย เช่น ช่อง 3 ก็ประกาศสร้าง ‘คุณหมีปาฏิหาริย์’ ละครวายแบบเต็มตัว โดยวางตัว อิน-สาริน รณเกียรติ และจ๊อบ-ธัชพล กู้วงศ์บัณฑิต ซึ่งมีฐานแฟนคลับสไตล์นี้อยู่แล้วมารับบทนำในเรื่อง และเมื่อต้นปีก็เคยชิมลางมาแล้วกับ ‘ซ่อนเงารัก’ ละครที่ว่าด้วยความรักของเพศเดียวกัน แม้ว่าจะใช้นักแสดงหญิงแสดงเป็นผู้ชาย แต่ก็สร้างกระแสจิ้นในโลกออนไลน์ได้อย่างดี และทำให้ ริชชี่-อรเณศ ดีคาบาเลส กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งจนถึงขนาดมี ‘แฟนด้อม’ เป็นของตัวเองเลยทีเดียว
ภาพจากละครเรื่อง ซ่อนเงารัก
ขณะที่ LINE TV ก็สถาปนาตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่มีซีรีส์วายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเปิดเผยตัวเลขความนิยมของซีรีส์วายที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2019 ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือมูลค่าทางการตลาดของนักแสดงซีรีส์วายก็ถือว่าสูงมาก เพราะแฟนคลับยินดีจะแสดงความรักด้วยการสนับสนุนสินค้าที่นักแสดงเหล่านั้นเป็นพรีเซนเตอร์ ทำให้หลายแบรนด์หันมาจับตลาดกระแสวายกับเขาด้วย ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์แฟชั่นระดับโลกก็เลือกที่จะเชื้อเชิญนักแสดงหนุ่มหน้าใสเหล่านี้ไปร่วมงานอีเวนต์ เพราะการันตีได้ว่าอีเวนต์ไม่เหงาแน่นอน รวมทั้งได้ Awareness และยอด Engage สูงลิบในโลกออนไลน์
ปีนี้เราจึงได้เห็นคู่จิ้นดังระเบิดระดับปรากฏการณ์ ไม่ว่าจะเป็น ไบร์ท-วิน (วชิรวิชญ์ ชีวอารี และเมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร) จากซีรีส์เมกะฮิตของช่อง GMM25 เพราะเราคู่กัน 2gether The Series มิว-กลัฟ (คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ และศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์) จาก TharnType Story เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ หลังจากที่สะสมแฟนคลับทั่วเอเชียมาระยะหนึ่งจนกลายเป็นนักแสดงสุดฮอตเต็มตัวในปีนี้ และถ้าสังเกตดีๆ ปีนี้เป็นปีที่นักแสดงซีรีส์วายขึ้นปกนิตยสารหัวใหญ่ๆ ไม่แพ้นักแสดงช่องเบอร์ต้นๆ เลยทีเดียว ลมหายใจที่ว่ารวยรินของสื่อสิ่งพิมพ์ก็อาจจะสร้างสถิติ Re-Print ด้วยอิทธิพลของนักแสดงเหล่านี้
ภาพจากซีรีส์เรื่อง คุณหมีปาฏิหาริย์
อย่างไรก็ดี ซีรีส์วายก็ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดการยอมรับ LGBT ในสังคมไทย เพราะตัวละครในเรื่องมักสะท้อนบทบาทความรักแบบชายจริงหญิงแท้มากกว่าสังคมที่เป็นจริงของ LGBT อีกทั้งความร้อนแรงของกระแสวายยังทำให้จำนวนซีรีส์วายเพิ่มสูงขึ้นจนคุณภาพเริ่มลดลง เนื้อหายังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องราวความรักอันเบาหวิว แต่ก็มีผู้สร้างบางรายที่สร้างมิติใหม่โดยใส่ความดราม่าและปัญหาในโลก LGBT เข้าไป เช่น ด้ายแดง ที่ว่าด้วยเรื่องความรักที่ถูกกีดกันและการกลับชาติมาเกิดเพื่อรักกันใหม่ หรือ แปลรักฉันด้วยใจเธอ กับความสับสนของวัยรุ่นในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต พิสูจน์ว่าซีรีส์วายก็เสนอเรื่องซีเรียสได้และน่าประทับใจดีด้วย
ปีที่เราได้ดูละครเรื่องเดียว 15 วันรวด
วงการละครไทยค่อนข้างเงียบเหงาเพราะมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ทุกกองถ่ายต้องหยุดชะงัก ละครฟอร์มใหญ่มีอันต้องเลื่อนออกไป และทางช่องเองก็ไม่กล้าเสี่ยงเอาละครฟอร์มดีมาลงจอในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ด ทำให้ผู้ชมได้ดูละครรีรันจนตาฉ่ำแฉะ และแอบปันใจไปใช้บริการสตรีมมิงอย่าง Netflix, Viu, WeTV ฯลฯ หนักข้อขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็แทบจะถอดใจกับทีวีไทยไปแล้วด้วย
ช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี ช่อง 3 จึงเผยกลยุทธ์เด็ดด้วยการออกอากาศละคร ตราบฟ้ามีตะวัน นำแสดงโดย หมาก-ปริญ สุภารัตน์ และเก้า-สุภัสสรา ธนชาต แบบ 15 วันรวดเป็นปรากฏการณ์ว้าวซ่า! ที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับละครใหม่ จะมีบ้างก็แค่ละครรีรันที่นำมาฉายในช่วงเวลาวิกฤตเท่านั้น เหตุผลก็เพราะช่อง 3 เริ่มผันตัวเองเป็น Content Provider ผลิตคอนเทนต์ขายลิขสิทธิ์ให้กับบริการสตรีมมิงเจ้าดังๆ แบบไม่มีกั๊กว่าฉันต้องฉายก่อนหรือต้องอยู่ในแพลตฟอร์มที่ฉันเป็นเจ้าของเท่านั้น เช่น ตราบฟ้ามีตะวัน ที่ออกอากาศพร้อมกันถึง 7 ประเทศคือ ไทย, จีน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, อินเดีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ผ่าน 3 แพลตฟอร์มคือ Tencent Video, WeTV และ Viu เพราะในเมื่อสู้เขาไม่ได้ก็จงกลายเป็นพวกเดียวกับเขาไปเลยน่าจะดีกว่า
ภาพจากละครเรื่อง ตราบฟ้ามีตะวัน
นี่เป็นเพียงก้าวแรก และแว่วว่าหากละครเรื่องไหนที่มีแววว่าจะไปได้ดีในตลาดต่างประเทศ เราก็อาจจะได้เห็นละครที่ออกอากาศรวดเดียวครบทุกตอนอีกแน่นอน นี่คือปรากฏการณ์ New Normal ของวงการทีวีไทยในปีนี้ที่ไม่รอเม็ดเงินโฆษณาเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ขอขายลิขสิทธิ์ให้ได้เงินมากอดอุ่นๆ ดีกว่าเป็นไหนๆ
ปีที่ได้เห็นความเป็นสามัญชนของคนดัง
จากมาตรการล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้นักร้องนักแสดงว่างงานพร้อมกันทั้งประเทศ เราจึงได้เห็นมุมส่วนตัวแบบไม่ปรุงแต่งของพวกเขาผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ มากมาย และยังไ้ด้เห็นความสามารถพิเศษใหม่ๆ พร้อมการเติบโตแบบก้าวกระโดดของแอปพลิเคชันแก้เหงาอย่าง TikTok
ยอดดาวน์โหลด TikTok ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้สูงถึง 315 ล้านดาวน์โหลดทั่วโลก และในเดือนเมษายนก็มี Active User เพิ่มขึ้นถึง 300 ล้านยูสเซอร์เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยไทยมียอดผู้ใช้งานเติบโตติดอันดับ Top 3 ของอาเซียน ในสถิติเหล่านี้มีคนดังไม่น้อยร่วมใช้ TikTok คลายเครียดเมื่อต้องอยู่บ้าน เราจึงได้เห็นนางเอกแถวหน้า ไม่ว่าจะเป็น ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่, เบลล่า-ราณี แคมเปน, แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ ฯลฯ ในมุมสนุกๆ แบบไม่ห่วงสวย ทั้งเต้น ทั้งลิปซิงก์ตลกๆ ส่งความสุขมาให้กับแฟนๆ นอกจากนี้ TikTok ยังช่วยฉายสปอตไลต์ให้คนดังที่เงียบหายไปนานอย่าง เมญ่า-นนธวรรณทัศ บรามาซ (นนธวรรณ ทองเหล็ง) ขึ้นทำเนียบเจ้าแม่ TikTok อีกด้วย
ภาพจาก TikTok ของ เบลล่า-ราณี แคมเปน และแต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์
และในปีนี้เราก็ได้เห็นว่าคนดังทุกข์ร้อนเพราะตกงานไม่ต่างจากคนธรรมดาเดินดิน หลายคนดิ้นรนสวมวิญญาณพ่อค้าแม่ค้าหารายได้พิเศษ ประสบความสำเร็จไปก็หลายราย เช่น หมาล่า สะโบมั้ย ของกอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ ปลาแดดเดียวของ ฮาย-อาภาพร นครสวรรค์ ในชื่อฮายแดดเดียว ส่วน พิ้งกี้-สาวิกา ไชยเดช ก็หันมาเอาจริงเอาจังกับธุรกิจขายโรตีของคุณแม่ในช่วงว่างอีกด้วย ขณะที่ แอมป์-พีรวัศ กุลนันท์วัฒน์ มาแปลกกว่าเพื่อน สวมแจ็กเก็ตขับ Grab หารายได้เพื่อครอบครัวแบบไม่อายใคร พิสูจน์ให้เห็นว่าอย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา เป็นภาษิตที่ใช้ได้เสมอ
ภาพจากอินสตาแกรมของ @hi_hiso, @ftodah และ @amp_pheerawas_k
ปีที่ได้ทำความรู้จัก Virtual Event
จากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้ธุรกิจการจัดอีเวนต์ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ โดยเฉพาะการจัดคอนเสิร์ตที่ต้องยอมรับว่าเป็นรายได้หลักของธุรกิจเพลงในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็ถึงขั้นเจ็บหนักจนต้องหาหนทางรอดด้วยการจัด Online Live Concert เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในธุรกิจ
ความจริงอีเวนต์ออนไลน์มีมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ใหม่ๆ ทั้งจากศิลปินระดับโลกอย่างคอนเสิร์ตการกุศล One World: Together At Home โดยการร่วมมือกันระหว่าง เลดี้ กาก้า และองค์การอนามัยโลก, ตลาดใจไลฟ์ หารายได้สมทบทุนช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์โดย ตูน บอดี้สแลม และโน้ต-อุดม แต้พานิช รวมถึงโครงการมาร้องสู้มะเร็ง หาเงินรายได้ช่วยเหลือโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี โดยถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กของ ดา เอ็นโดรฟิน ฯลฯ แต่ Online Live Concert แบบหารายได้อย่างเป็นรูปธรรมเริ่มคึกคักในหลังช่วงผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อเป็นทางออกสำหรับคนดูที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะไปอยู่ในสถานที่แออัดอย่างคอนเสิร์ตฮอลล์ และผู้จัดก็ยังหาจุดคุ้มทุนไม่ได้ หากจำนวนผู้ชมในฮอลล์ลดไปเกินครึ่งเพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
ตรงจุดนี้ก็ต้องขอบคุณแรงบันดาลใจจากความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ ‘SuperM – Beyond The Future’ Virtual Concert จากวง SuperM ของเกาหลีใต้ ที่ถ่ายทอดสดผ่านแอปพลิเคชัน V Live โดยมีผู้ชมกว่า 75,000 คนทั่วโลก ทำรายได้ไปกว่า 62.2 ล้านบาท โดยค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง GMM Grammy ชิมลางด้วย ‘Global Live Fan Meeting’ งานออนไลน์แฟนมีตติ้งกับ 8 นักแสดงสุดฮอตที่ทำร่วมกับ V Live ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม ตามมาด้วย Virtual Concert เต็มรูปแบบในชื่อ GMM Online Festival คอนเสิร์ตรวม 21 ศิลปิน จัดแบบ 7 ชั่วโมงเต็มอิ่มเป็นเวลา 2 วันในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ยังมีซีรีส์ Online Live Concert อื่นๆ อีกมากมาย เช่น SoundBox Online โดย บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, พีเอ็ม เซ็นเตอร์ กับคอนเสิร์ตของศิลปินเจ๋งๆ อย่าง Slot Machine, แม็กซ์ เจนมานะ และ Twopee Southside
GMM Online Festival คอนเสิร์ตรวม 21 ศิลปิน จัดแบบ 7 ชั่วโมงเต็มอิ่มเป็นเวลา 2 วัน
นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ตสุดเอ็กซ์คลูซีฟ Mild Living Room Made to Order คอนเสิร์ตออนไลน์ที่เพิ่มความพิเศษคือเปิดโอกาสให้ผู้โชคดีเพียง 15 คนได้ชมแบบสดๆ ในคอนเสิร์ตฮอลล์
อย่างไรดี Virtual Event ไม่ใช่ตัวตายตัวแทนของการจัดอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตแบบออนกราวด์ เพราะเทียบกันไม่ได้ในเรื่องความสดใหม่และอารมณ์ร่วมของคนดูที่ได้อยู่ในฮอลล์จริงๆ แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่คนไทยได้รู้จัก ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะกลายเป็นวิถีปกติที่เราจะหยิบกลับมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้
SoundBox Online โดยบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
ปีที่การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
ปีนี้เป็นปีที่กระแสการเมืองร้อนแรงที่สุดปีหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย เริ่มกันตั้งแต่ต้นปีกับม็อบนักศึกษาที่ยกระดับจนกลายเป็นม็อบราษฎร และยังไม่มีวี่แววว่าจะจบลงง่ายๆ ทำให้เรื่องการเมืองแทรกซึมเขาไปอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม ไม่เว้นแม้แต่วงการที่หลายคนเคยมองว่า ‘โลกสวย’ อย่างวงการนางงาม
ในเดือนกุมภาพันธ์ มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2017 ได้ทวีตข้อความ “ภูมิใจในตัวนักศึกษาไทย” ในช่วงม็อบนักศึกษากำลังร้อนแรงจนเกิดการรีทวีตกว่า 1 แสนครั้ง จากทวีตนั้นเธอได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ก็ยังแสดงจุดยืนด้วยการตั้งคำถามถึงการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่พนมเปญผ่านไอจีสตอรีในเดือนมิถุนายน ขณะที่ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 ก็โพสต์สนับสนุนการชุมนุมในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งยังทำโปรเจกต์สารคดีสั้น นางงามกับการเมือง Under The Crown
ส่วนเวทีการประกวดนางงามในปีนี้ก็หยิบยกเรื่องการเมืองขึ้นมาพูดถึงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เวที Miss Grand Thailand 2020 กับคำถามรอบสุดท้ายที่ว่า “จากสถานการณ์การชุมนุมที่ส่อเค้าความรุนแรงยิ่งขึ้น คุณอยากจะพูดกับฝ่ายใด และพูดว่าอะไรเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น” โดยผู้ที่คว้ามงกุฎไปครองก็คือ น้ำ-พัชรพร จันทรประดิษฐ์ กับคำตอบสุดแซ่บ “จากใจนะคะ ขอเลือกฝ่ายชุมนุมค่ะ เพราะว่าเรามีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็น และเราอยากจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศชาติของเรา มากกว่านั้นคืออยากจะบอกรัฐบาลด้วยนะคะ If you’re calling this country as Thailand, we need a real democracy and moreover, we need you to get out of the country.”
ภาพจากเวที Miss Grand Thailand 2020
ขณะที่เวทีใหญ่อย่าง Miss Universe Thailand 2020 ก็มีคำถามที่เกี่ยวกับการเมืองในรอบออดิชันและรอบคีย์เวิร์ดให้นางงามได้แสดงความคิดเห็น โดย ซินดี้-อเล็กซานดร้า แฮงกี่ ผู้คว้ารางวัลรองอันดับ 4 ของปีนี้ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยอย่างน่าสนใจว่า “ในฐานะที่ซินดี้เรียนในระบบการศึกษาไทย ซินดี้จะพูดตรงนี้ว่าระบบการศึกษาไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เพราะว่าเราต้องเรียนตลอดเวลา อีกทั้งการศึกษาของมัธยม หลักสูตรไม่ตรงกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนทุกคนต้องหันไปเรียนพิเศษเพื่อเอาตัวรอดและเข้าคณะที่ต้องการ ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำในสังคม หนูขอตั้งคำถามกับคนทุกคนว่า ถ้าการศึกษาไทยดี ทำไมเราต้องมีการเรียนพิเศษ”
ส่วนในวงการบันเทิงก็เกิดกระแสเรียกร้องให้คนดังออกมา Call Out แสดงจุดยืนทางการเมือง แม้ว่าการพูดเรื่องการเมืองสำหรับคนดังมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ก็มีหลายคนที่ยอมจ่าย เช่น โฟกัส จีระกุล, สุกัญญา มิเกล, เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ ฯลฯ เลือกสนับสนุนผู้ชุมนุม ส่วนทางด้าน โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์, บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, อาร์ต-พศุตม์ บานแย้ม ฯลฯ ก็ขอเลือกอยู่อีกฝั่ง และที่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ก็เห็นจะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเหล่าไอดอลจาก BNK48 ที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในวงการบันเทิงไทย
ภาพจากอินสตาแกรมของ @focusbabyhippo และ @marialynnehren
นอกจากนี้เรายังได้เห็นพลังของแฟนคลับเคป๊อปกับการแสดงจุดยืนทางการเมืองในการระดมทุนสนับสนุนผู้ชุมนุมเป็นเงินมากกว่า 4 ล้านบาทในเวลาอันรวดเร็ว และแสดงความไม่พอใจรถไฟฟ้า BTS และรถไฟใต้ดิน MRT จากกรณีหยุดให้บริการบางสถานีตามคำสั่งของรัฐบาล โดยการรณรงค์ให้ยกเลิกการทำโปรเจกต์ให้ศิลปินด้วยป้ายโฆษณาในระบบขนส่งมวลชนทั้งสองแห่ง แล้วหันไปใช้บริการขนส่งมวลชนอย่างรถตุ๊กตุ๊ก เรือหางยาว หรือรถเมล์แทน ซึ่งเป็นทั้งการกระจายรายได้และแสดงออกถึงความเป็นไทยให้ศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบได้เห็นอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์