วันนี้ (27 ธันวาคม) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ถึงบริการรับจองวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จนกลายเป็นจุดสนใจของประชาชนจำนวนมากในชั่วข้ามคืน แต่จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการรับรองวัคซีนโรคโควิด-19 แต่อย่างใด ตนจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส. เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ถูกต้องมีมาตรฐาน
โดยในวันนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลของสถานพยาบาลดังกล่าวแล้ว พบว่ามีการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนจองวัคซีนโรคโควิด-19 จริง โดยระบุข้อมูลว่าโรงพยาบาลมีบริการรับจองวัคซีนโรคโควิด-19 ในราคา 4,000 บาท จำนวน 1,000 ราย หมดเขตวันที่ 31 มกราคม 2564 ทั้งที่ยังไม่มีการรับรองวัคซีนโควิด-19 จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย และอนุญาตให้สถานพยาบาลสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนโดยกรม สบส.
การโฆษณาของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการกระทำผิดมาตรา 38 วรรค 1 ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานไม่ขออนุมัติและได้รับอนุมัติให้โฆษณา และมาตรา 38 วรรค 2 ฐานโฆษณาในลักษณะอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินความจริง และน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล จึงมีคำสั่งให้ระงับการโฆษณาดังกล่าว ก่อนที่จะเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่าการเผยแพร่โฆษณาหรือประกาศของสถานพยาบาลเพื่อประโยชน์ทางการค้าไม่ว่ากรณีใดก็ตาม จะต้องยื่นเรื่องขออนุมัติการโฆษณากับกรม สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายสถานพยาบาล ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์