×

กรุงศรี คอนซูมเมอร์-KTC ยิ้ม ‘ช้อปดีมีคืน’ เพิ่มยอดการใช้จ่ายบัตรช่วงสิ้นปีโต หวังรัฐคุมโควิด-19 อยู่มือ

27.12.2020
  • LOADING...
กรุงศรี คอนซูมเมอร์-KTC ยิ้ม ‘ช้อปดีมีคืน’ เพิ่มยอดการใช้จ่ายบัตรช่วงสิ้นปีโต หวังรัฐคุมโควิด-19 อยู่มือ

ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภค เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน ฯลฯ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยที่ชะงักไปเพราะโควิด-19 ยังเดินหน้าต่อไปได้ จากมาตรการเหล่านี้ โดยเฉพาะมาตรการช้อปดีมีคืนยังส่งผลดีต่อธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอีกด้วย 

 

ด้าน ณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้ไตรมาส 4/63 คาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายอยู่ที่ 1.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

“ตามปกติแล้วช่วงปลายปีคนจะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ แต่ปีนี้คนไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ ยอดการใช้จ่ายส่วนนี้เลยลดลง ซึ่งปีนี้มีโปรโมชันในหลายร้าน และยังมีมาตรการรัฐมาในระยะนี้ เห็นยอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม ทั้งช้อปปิ้งออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ” 

 

ทั้งนี้หมวดการใช้จ่ายสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. ประกันภัย 2. ช้อปปิ้ง 3. แผนการท่องเที่ยวช่องทางออนไลน์ โดยโปรโมชันที่ลูกค้าชอบจะเป็นส่วนลด แต่ก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าสินค้าไม่สูงมาก ซึ่งโปรโมชันส่วนใหญ่ยังเป็นเครดิตเงินคืนในมูลค่าสินค้าขนาดใหญ่ เช่น iPhone12 

 

ส่วนภาพรวมการใช้จ่ายปี 2563 นี้ มองว่าจะยังติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยอดใช้จ่ายช่วงการล็อกดาวน์ครั้งแรก ขณะที่ทิศทางในปี 2564 คาดว่าไตรมาส 1/64 ยอดการใช้จ่ายอาจลดลงบ้างตามฤดูกาลของทุกปี เพราะคนจับจ่ายในช่วงสิ้นปีไปแล้ว คาดว่าจะเห็นยอดการใช้จ่ายในหมวดชีวิตประจำวัน โดยกำลังซื้อและยอดใช้จ่ายจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และทั้งปี 2564 ยอดใช้จ่ายจะเติบโตราว 10% แต่ยังมีปัจจัยไม่แน่นอนอีกมาก

 

ด้าน พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยอดการใช้จ่ายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นภาพที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นฤดูการใช้จ่าย และมีแรงกระตุ้นจากภาครัฐให้คนรู้สึกคุ้มค่ามากขึ้น

“ยอดใช้จ่ายเดือนพฤศจิกายนดีขึ้นเติบโตราว 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย 2 สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมนี้โต 3-4% แต่ภาพทั้งปีมองว่าจะติดลบอยู่ราว 7-8%” 

 

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเงินสดลดลงราว 20-30% ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะสะท้อนให้เห็นว่าลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรเพื่อการบริโภคมากกว่า ซึ่งปกติแล้วยอดกดเงินสดมีสัดส่วน 15% ขณะที่อีก 85% เป็นการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคจริง 

 

ส่วนกระแสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เห็นลูกค้าบางส่วนยกเลิกทริปการเดินทางบ้าง และอาจกระทบการใช้จ่ายช่วงปีใหม่บ้าง แต่มองว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าในปีนี้และปีหน้าหมวดการใช้จ่ายที่เติบโตสูงยังเหมือนเดิม ได้แก่ 1. ประกันภัย เช่น ประกันภัยโควิด-19 2. ซูเปอร์มาเก็ต 3. โรงพยาบาลรัฐซึ่งมีแคมเปญผ่อนชำระได้ แต่ปีนี้ยอดการใช้จ่ายที่ติดลบ ได้แก่ หมวดการท่องเที่ยวที่หดตัว 50% ซึ่งรวมถึงหมวดท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีสัดส่วนราว 8% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่ง 11 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

กลยุทธ์ธุรกิจในปี 2564 นี้จะเน้นสินเชื่อคุณภาพและตั้วเป้าหมายการเติบโตราว 10% โดยปีหน้ามองว่าฐานลูกค้าหลักของบริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทอาจไม่ได้ใช้จ่ายเพิ่มมากนัก เพราะบางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไปหรือบางส่วนยังว่างงาน 

 

ทั้งนี้ทาง KTC จะเน้นโปรโมชันหมวดออนไลน์ที่มีสัดส่วนราว 25-30% ของยอดการใช้จ่ายทั้งหมด และออกโปรโมชันโดยเน้นที่การใช้จ่ายประจำวัน เช่น หมวดเดลิเวอรี ฯลฯ ด้านวางแผนการเงินอย่างประกันภัย และโปรโมชันสำหรับพันธมิตรในแต่ละหมวด เพื่อประคับประคองในสถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เช่น โรงแรม และบุฟเฟต์ นอกจากนี้ยังมีโปรโมชันส่วนลดและเครดิตเงินคืนในทุกหมวด เพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้า

 

ขณะที่โปรโมชันด้านการท่องเที่ยวปีหน้าจะเน้นไปที่เมืองรองมากขึ้น เพื่อสนับสนุนพันธมิตรในทุกจังหวัด แต่ในภาพรวมมองว่าการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 หากรัฐบาลประกาศวันหยุดยาว คาดว่าการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของคนเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising