×

รู้จักเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ระบาดหนักในอังกฤษ รับมืออย่างไรหากวันหนึ่งเดินทางมาถึงไทย

22.12.2020
  • LOADING...

การเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสของชาวสหราชอาณาจักรในปีนี้อาจเงียบเหงากว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงลอนดอน รวมถึงหลายพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้และทางตะวันออกของอังกฤษ ที่เพิ่งถูกจัดหมวดหมู่อยู่ใน ‘Tier 4’ ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ขั้นสูง เช่นเดียวกับแคว้นเวลส์ที่มีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศที่ห้ามการเดินทางจากสหราชอาณาจักรเข้าสู่ประเทศของตน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากพบการระบาดของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่กลายพันธุ์นี้ไม่ได้ถูกพบแค่ในสหราชอาณาจักรแล้ว แต่เริ่มพบว่ามีผู้ติดเชื้อในอีกหลายประเทศ

 

ตามปกติแล้วไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา อย่างไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิด D614G ที่กลายพันธุ์เป็นชนิดที่พบในผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในโลกขณะนี้ ก็เป็นคนละชนิดกับที่เมืองอู่ฮั่นของจีน

 

ส่วนเชื้อก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากในสหราชอาณาจักรขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเรียกว่าชนิด ‘B.1.1.7’ หรือผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็เรียกว่า ‘VUI-202012/01’ เชื้อชนิดใหม่นี้พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปจากเชื้อก่อโรคโควิด-19 ดั้งเดิมจำนวนมาก โดยเฉพาะในสไปก์โปรตีน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ยื่นออกมาจากเปลือกนอกของอนุภาคไวรัส ทำหน้าที่ยึดเกาะกับตัวรับ (Receptor) บนผิวเซลล์ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาทิ การกลายพันธุ์ที่ถูกเรียกว่า N501Y ซึ่งเกิดกับบริเวณที่สำคัญที่สุดของสไปก์ที่เรียกว่า ‘Receptor-Binding Domain’ ซึ่งเป็นส่วนที่จะไปจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีการกลายพันธุ์ที่เกิดการลบกรดอะมิโนสองตัวออกจากสไปก์ ซึ่งจากการศึกษาโดย ศ.ราวิ กุปตะ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่าการลบกรดอะมิโนดังกล่าวส่งผลให้ความสามารถในการติดเชื้อสูงขึ้นสองเท่าจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ และยังทำให้แอนติบอดีในเลือดของผู้ติดเชื้อมีประสิทธิภาพลดลงในการโจมตีไวรัสด้วย

 

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมตามเวลาท้องถิ่น อ้างผลการวิเคราะห์ขั้นต้นจากคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลที่ชื่อ NERVTAG ว่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 B.1.1.7 นี้จะระบาดได้เร็วกว่าเชื้อดั้งเดิมสูงสุดถึงร้อยละ 70 รวมถึงจะทำให้ค่า R (ตัวชี้วัดโอกาสแพร่เชื้อโรค) เพิ่มขึ้น 0.4 หรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นเพียงการวิเคราะห์ในเบื้องต้น และตัวเลขเหล่านี้มีโอกาสถูกทบทวนใหม่ได้อีก ส่วนในแง่ของความรุนแรงของโรคนั้น เซอร์แพทริก วัลลานซ์ ประธานที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ระบุว่าจากหลักฐานที่ปรากฏในขณะนี้ ยังไม่ปรากฏว่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงขึ้น หรือมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น แต่ก็มีการทำงานอย่างเร่งด่วนเพื่อศึกษาในเรื่องนี้แล้ว

 

ส่วนคำถามที่ว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในขณะนี้จะสามารถรับมือกับเชื้อชนิดใหม่นี้ได้หรือไม่นั้น เซอร์แพทริกก็ยังยืนยันตามหลักฐานที่ปรากฏขณะนี้ว่า เชื้อชนิดใหม่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อผลของวัคซีน เช่น ทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง สอดคล้องกับ ศ.กุปตะ ที่ระบุว่าวัคซีนทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีไวรัสในหลายส่วน ดังนั้นหากมีส่วนหนึ่งของสไปก์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง วัคซีนก็ยังสามารถทำงานได้ แต่สถานการณ์อาจน่ากังวลมากขึ้นหากไวรัสเพิ่มการกลายพันธุ์ไปมากกว่านี้ นอกจากนี้ ศ.เดวิด โรเบิร์ตสัน จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ก็ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่ไวรัสอาจจะมีการกลายพันธุ์จนวัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถรับมือได้ ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับปรุงวัคซีนใหม่เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถปรับแต่งได้ง่าย

 

การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบ 1 ใน 3 ยีนเป้าหมายในการทดสอบการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 โดยใช้เทคนิค PCR บางรูปแบบ นั่นหมายถึง ในการทดสอบบางรูปแบบเหล่านั้น ตัวตรวจจับอาจจะไม่สามารถไปจับกับยีนเป้าหมายได้ และให้ผลเป็นลบ อย่างไรก็ตาม โดยปกติการทดสอบโดยใช้เทคนิค PCR จะตรวจจับยีนมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง ดังนั้นการกลายพันธุ์ในสไปก์โปรตีนจึงกระทบการทดสอบแค่บางส่วน ช่วยลดความเสี่ยงที่การทดสอบจะให้ผลเป็นลบลวง (False Negative)

 

เชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่กลายพันธุ์นี้ถูกค้นพบในเดือนกันยายน ก่อนที่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พบว่าผู้ติดเชื้อในกรุงลอนดอนกว่า 1 ใน 4 เป็นผู้ติดเชื้อชนิดใหม่ และกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สัดส่วนผู้ป่วยจากเชื้อโควิด-19 ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในลอนดอน นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชนิดใหม่ในออสเตรเลีย อิตาลี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ รวมถึงดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรอย่างยิบรอลตาร์ด้วย นอกจากนี้ยังมีโควิด-19 ชนิดที่คล้ายคลึงกันมากกับที่พบในสหราชอาณาจักรเกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ด้วย แต่ยังไม่มีคำยืนยันว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่

 

ทั้งนี้ การศึกษาไวรัสชนิดใหม่นี้ยังคงดำเนินต่อไป อาจมีข้อมูลใหม่ๆ ตามมาหลังจากนี้ และสหราชอาณาจักรก็ได้แจ้งเรื่องไวรัสชนิดใหม่นี้ต่อองค์การอนามัยโลกแล้ว

 

ผู้สื่อข่าวยังได้พูดคุยกับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขอคำอธิบายเพิ่มเติม ศ.นพ.มานพ ยืนยันว่าโดยทั่วไปการกลายพันธุ์เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเกิดขึ้นตลอดเวลา

 

“การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อันนี้เป็นลักษณะปกติของวิวัฒนาการ พอมีการระบาดเยอะๆ เชื้อมันก็จะมีการแบ่งตัวออกลูกออกหลานส่งต่อกันเรื่อยๆ จะเร็วหรือช้าการกลายพันธุ์ต้องเกิด อันนี้เลี่ยงไม่ได้แน่นอน เพียงแต่ส่วนใหญ่ของการกลายพันธุ์มันเป็นของที่มีอยู่แล้ว และไม่ได้แปลว่ามันจะส่งผลเสียต่อคนที่ติดเชื้อเสมอไป” ศ.นพ.มานพ ระบุ

 

“ถ้าเชื้อนี้ จู่ๆ มันกลายเป็นเชื้อที่ถูกคัดเลือกทางธรรมชาติให้กลายเป็นเชื้อที่เด่นในการระบาดรอบนี้ แสดงว่าเชื้อนี้จะต้องมีความสามารถพิเศษอะไรบางอย่างใช่ไหมครับ เช่น ติดเชื้อง่าย แพร่กระจายเยอะ แพร่กระจายเร็ว ก็เลยกลายเป็นเชื้อเด่น”

 

เขายังยืนยันว่า ถ้าในอนาคตเกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่นี้ในประเทศไทยขึ้น ก็ยังคงต้องใช้การรับมือในรูปแบบเดิม

 

“การรับมือไม่ต่างจากเดิม กระบวนการในการป้องกันหรือลดการระบาดควรเหมือนเดิมอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าอะไรก็ตาม เราอยู่ห่าง เราใส่หน้ากาก เราทำความสะอาด เชื้อมันก็ตายอยู่ดี ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน แต่เวลาคำนวณค่า R เนี่ย ถ้าคนในสังคมยังใช้มาตรการเหมือนเดิม เช่น คนกันก็กัน คนไม่กันก็ไม่กันเนี่ย ค่า R โดยรวมมันอาจจะเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง เพราะว่าคนที่แพร่เชื้อนั้นแพร่ง่ายขึ้น… แต่ต้องเรียนอีกทีนะครับ การแพร่เชื้อได้ง่ายไม่ได้แปลว่ารุนแรงขึ้น” ศ.นพ.มานพย้ำ

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising