×

‘เวิลด์แบงก์’ จับตาโควิด-19 เฟส 2 ย้ำหากไทยอยากเป็นประเทศรายได้สูง จีดีพีต้องโต 5% ลงทุนแตะระดับ 40%

21.12.2020
  • LOADING...
‘เวิลด์แบงก์’ จับตาโควิด-19 เฟส 2 ย้ำหากไทยอยากเป็นประเทศรายได้สูง จีดีพีต้องโต 5% ลงทุนแตะระดับ 40%

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งโอกาสในการเกิดการระบาดระลอกที่ 2 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม 

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2563 นี้จีดีพีไทยจะติดลบที่ 8% และปีหน้าจะขยายตัวราว 4% โดยจะมีการปรับตัวเลขประมาณการอีกครั้งในเดือนมกราคม 2564 คาดว่าจะปรับการติดลบน้อยลงจากช่วงก่อนหน้าที่สถานการณ์ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบโควิด-19 จะใช้เวลาราว 2 ปีครึ่ง (ราวปี 2565) เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19

 

ขณะเดียวกัน ผลวิจัยของธนาคารโลก ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ไทยต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อกระตุ้นการลงทุน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งหากจะเป็นไปตามเป้าหมายนั้น จีดีพีไทยต้องโตเฉลี่ย 5% ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป และต้องเพิ่มการลงทุนทั้งภาครัฐ-เอกชนขึ้นสู่ระดับ 40% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ราว 19% 

 

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพการผลิตของไทยเติบโตในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย จะเห็นได้จากปี 2535-2551 การเติบโตเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% ขณะที่ปี 2551-2561 ลดลงมาสู่ระดับ 3.3% และเมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้ปี 2563 นี้คาดว่าจะติดลบ 8% จึงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวและผลิตภาพที่ลดลงต่อเนื่อง”

 

ขณะที่การลงทุนของไทยชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากหลังปี 2540 ที่ทำให้ระดับการลงทุนปัจจุบันอยู่ที่ 19% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน บริษัทในประเทศ โดยเฉพาะ SMEs บางส่วนเลือกจะไม่ขยายธุรกิจเพราะมองว่ามีอุปสรรค ทั้งการหาแรงงานที่มีทักษะ และปัจจัยทางการเมืองของไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา 

 

นครินทร์ อมเรศ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากผลการวิจัย มี 3 ข้อสำคัญที่ไทยต้องเร่งมือเพื่อให้ผลิตภาพการผลิตไทยสูงขึ้น ได้แก่

 

  1. การเพิ่มการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรและโลกให้มากขึ้น จากงานวิจัยพบว่า บริษัทผู้ผลิตที่ทำการส่งออกมาก หรือได้รับการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง จะมีการเติบโตด้านผลิตภาพสูงขึ้น จึงต้องเร่งการลงทุนและ R&D ให้มากขึ้นด้วย 

 

  1. การเพิ่มการแข่งขันในประเทศ ผลการศึกษาพบว่า ผลิตภาพในไทยตกต่ำลงจากอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดภายในประเทศที่มีการแข่งขันน้อยลง ส่งผลให้องค์กรที่มีผลิตภาพดีเข้ามาเล่นในตลาดน้อยลง และองค์กรไม่มีผลิตภาพออกจากตลาดน้อยลงเช่นกัน ขณะเดียวกันต้องปรับกลไกเชิงสถาบันและการกำกับ เพื่อเอื้อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

 

  1. การพัฒนาทักษะบุคลากร แม้ไทยจะพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ปีนี้มีกระแสดิจิทัลเข้ามาทำให้การ Reskill และ Upskill แรงงานน่าจะง่ายขึ้น และเป็นการเปิดทักษะใหม่ๆ ที่เอื้อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานง่ายขึ้น โดยขณะนี้ทางสภาพัฒน์อยู่ระหว่างขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะออกแพ็กเกจด้านการ Reskill และ Upskill ออกมา นอกเหนือจากการจ้างงานเด็กจบใหม่ที่ออกมาแล้ว  

 

“ปีนี้ไทยเจอโควิด-19 คาดว่ามีคนได้รับผลกระทบราว 8-9 ล้านคน แม้ว่าจะกระจุกตัวอยู่ในภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะกลับมา แต่สถานการณ์นี้จะส่งผลให้ผลิตภาพของไทยลดลงเช่นกัน”

 

สุดท้ายนี้ เกียรติพงศ์กล่าวถึงปมปัญหาการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยว่า การมีรัฐวิสาหกิจในแต่ละเซกเตอร์อาจส่งผลต่อการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้น หากรัฐวิสาหกิจลดบทบาทลง จะเพิ่มการแข่งขันในประเทศมากขึ้น โดยหลายประเทศปรับลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจลง เช่น สหภาพยุโรปปรับบทบาทรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน เช่น จะทำเพื่อสังคม หรือกำไร ขณะที่สหรัฐ ใช้รูปแบบการขายให้เอกชนเพื่อสร้างการแข่งขันในตลาด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X