×

‘นักเศรษฐศาสตร์’ ห่วงโควิด-19 รอบใหม่ ทำเศรษฐกิจไทย ‘ถดถอยซ้ำซ้อน’

21.12.2020
  • LOADING...
‘นักเศรษฐศาสตร์’ ห่วงโควิด-19 รอบใหม่ ทำเศรษฐกิจไทย ‘ถดถอยซ้ำซ้อน’

การกลับมาระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นจาก ‘ตลาดกุ้ง’ ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้ติดเชื้อในย่านนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 600 รายแล้ว และยังพบการแพร่กระจายเชื้อไปยังจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัดด้วย 

 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลใจ เพราะเกรงว่าจะนำไปสู่การติดเชื้อในวงกว้าง ส่งผลให้ภาครัฐต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่อีกรอบ ซึ่งประเด็นนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก 

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน (Double-dip recession) หากภาครัฐไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตามผลกระทบเบื้องต้นประเมินว่า จะส่งผลใน 2 ด้านหลัก คือ 1. การเดินทางภายในประเทศและความเชื่อมั่น ซึ่งถือเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจช่วงปลายปี และ 2. กำลังซื้อในประเทศที่แผ่วลง เพราะนอกจากคนจะระมัดระวังเรื่องการเดินทางแล้ว การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงกลุ่มธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก อาจได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบใหม่ด้วย

 

อย่างไรก็ตามในภาพรวมประเมินว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงแค่ระยะสั้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นกับความสามารถของภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคด้วย 

 

ประเด็นที่ต้องติดตามดู คือผลกระทบในด้านซัพพลาย โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากๆ เช่น กลุ่มอาหาร ทั้งอาหารทะเลและอาหารแช่แข็ง กลุ่มเหล่านี้อาจโดนผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน จึงต้องติดตามดูว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน

 

“ภาวะ Double-dip จริงๆ ต่อให้ไม่มีโควิด-19 รอบใหม่ เราก็มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นเล็กๆ โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 อาจหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ซึ่งเราก็เห็นอยู่แล้วว่าตัวเลขเดือนตุลาคมแผ่วลง จึงประเมินว่าตัวเลขไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) มีโอกาสติดลบเล็กๆ ซึ่งอาจจะยังไม่เรียกว่าเป็นภาวะ Double-dip แต่พอมาเจอโควิด-19 รอบใหม่ เราก็ห่วงว่า ถ้าควบคุมสถานการณ์ไม่ดีหรือไม่เร็วพอ อาจลามไปสู่ไตรมาสแรกปีหน้าได้เช่นกัน เพียงแต่เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เราประเทศเดียวที่เจอ ในต่างประเทศก็มีหลายๆ แห่งเจอเช่นกัน”

 

อมรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการเยียวยาผลกระทบอย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ในขณะนี้กำลังซื้อของคนหายไปค่อนข้างมาก จึงไม่อยากเห็นภาพเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง และเรื่องสภาพคล่องก็เป็นสิ่งจำเป็น อยากให้หน่วยงานทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งปล่อยซอฟต์โลนให้เร็วขึ้น 

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นรอบใหม่ถือว่าน่ากังวล เพราะเกิดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากที่สุด อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งได้เช่นกัน

 

“ปกติแล้วช่วงไตรมาสแรกของปี กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนี้มีสัดส่วนต่อจีดีพีทั้งปีสูงถึง 27% ถือเป็นไซด์ที่ใหญ่กว่าไตรมาสอื่นๆ หากต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะหายไปมาก ส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจปีหน้าอย่างแน่นอน ตอนนี้วิจัยกรุงศรีประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้าไว้ที่ 3.3% เรายังไม่ขอปรับ อยากรอดูสถานการณ์ก่อน”

 

สมประวิณ กล่าวด้วยว่า ถ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ในส่วนของภาคต่างประเทศเราพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่ในประเทศพึ่งพาการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวคนไทย 

 

ดังนั้นถ้าต้องล็อกดาวน์และทำให้การท่องเที่ยวของคนไทยหายไปอีก อาจกระทบต่อจีดีพีที่หายไปด้วยราวๆ 0.5% และถ้าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก กระทบต่อการทำงาน หรือมีการเลิกจ้างงานเพิ่ม จีดีพีก็อาจจะหายไปได้อีกราว 1.5% ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกลับไปล็อกดาวน์ใหม่หรือไม่ 

 

“เรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดูแล้วน่ากังวลใจ เราเห็นตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ที่เริ่มแพร่กระจาย และหลังจากนี้ตัวเลขคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจอาจจะเผชิญกับภาวะถดถอยใหม่ ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาว ดังนั้นสิ่งสำคัญสุดในเวลานี้ คือนโยบายด้านสาธารณสุขและนโยบายเศรษฐกิจ ต้องจัดการกับปัญหานี้ให้เร็ว”

 

สมประวิณ กล่าวย้ำว่า การแก้ปัญหาในเวลานี้จำเป็นที่นโยบายเศรษฐกิจต้องออกมาให้เร็ว โดยเฉพาะกระสุนที่เก็บเอาไว้ต้องรีบนำมาใช้ เพราะการทำนโยบายแต่ละครั้งกว่าจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้จริงต้องใช้เวลา ขณะเดียวกัน ธปท. ต้องหาทางปลดล็อกให้ซอฟต์โลนที่เหลืออีกเกือบๆ 4 แสนล้านบาท ออกมาให้มากที่สุด เพราะถือเป็นโจทย์สำคัญต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X