วันนี้ (17 ธันวาคม) เครือข่ายเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลากหลายภูมิภาค เช่น องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล, กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย, นักเรียนเลว, กลุ่มเด็กเปรต และภาคีนักเรียนล้านนา ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘เมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ แล้วรัฐไทยปกป้องใคร’ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า, ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว, ธนัดดา แก้วสุขศรี ตัวแทนจากกลุ่มเด็กเปรต, ณพร สมศักดิ์ ตัวแทนจากแนวร่วมนักเรียนล้านนา และอิศรา วงศ์ทหาร ตัวแทนจากกลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคาม
โดย ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมในประเทศไทยได้ตั้งคำถามและท้าทายกับระบบอำนาจนิยมในสังคมและในโรงเรียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบด้านเครื่องแต่งกายและทรงผมที่ละเมิดสิทธิของนักเรียนในโรงเรียน การข่มขู่คุกคาม และการล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนนโยบายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่รัฐบาลทหารกำหนด เช่น ค่านิยมหลัก 12 ประการ ในขณะที่เด็กและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้ลุกขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า แต่พวกเขากลับถูกข่มขู่และคุกคามโดยรัฐรวมถึงจากครูในโรงเรียนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างน้อย 5 คนถูกตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ข้อหายุยงปลุกปั่น และอย่างน้อย 1 คนถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการชุมนุมทางการเมือง
ในขณะที่การสำรวจโดยเพจลูกศิลป์เผยว่านักศึกษา 87.9% ถูกครูทำร้ายจิตใจ นอกจากนี้การล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ การที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหรือไปหาที่บ้าน การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐจากครูในโรงเรียน และการสั่งพักการเรียน ทั้งนี้ เป็นเวลา 28 ปีแล้วที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาสิทธิเด็กของสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเกิดคำถามว่ารัฐบาลไทยรวมถึงองค์การของสหประชาชาติอย่าง UNICEF สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแค่ไหนเพื่อพิทักษ์ปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชน จึงทำให้เกิดเวทีเสวนาในวันนี้เกิดขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่มาก น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นักเรียนถูกลงโทษจากการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่จะแสดงออกทางการเมือง และน่าจะเป็นรัฐบาลแรกที่ใช้อำนาจในลักษณะเช่นนั้นในการคุกคามนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การสหประชาชาติอย่าง UNICEF ที่มีอาณัติหรือหน้าที่โดยตรงในการเรียกร้องการปกป้องสิทธิของเด็กเพื่อไปสู่เป้าหมายขององค์การในการส่งเสริมสิทธิในความเท่าเทียมของเด็กหญิงในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาของชุมชนของตนเอง ที่ผ่านมา UNICEF ออกแถลงการณ์นิดหน่อย แต่ไม่มีผลอะไร เพราะการคุกคามยังเกิดขึ้นอยู่ ดังนั้น UNICEF ต้องปกป้องสิทธิเด็กอย่างจริงจัง และเรียกร้องให้รัฐสมาชิกอย่างรัฐบาลไทยยุติการคุกคามโดยทันที
ขณะที่เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากแนวร่วมนักเรียนล้านนา ณพร สมศักดิ์ กล่าวในเวทีเสวนาว่าประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคาม ทราบว่ามีเพื่อนในแนวร่วมจำนวน 17 คนมีรายชื่อเฝ้าระวังจากตำรวจ หนักสุดมีเพื่อน 2-3 คนที่ตำรวจตามไปถึงที่บ้าน รวมทั้งมีการถ่ายรูปไว้ด้วย ซึ่งหลังจากที่เราเคลื่อนไหวจากการชุมนุมครั้งแรกคือการชุมนุมในชื่อม็อบก้านกล้วย หลังมีภาพสื่อออกไปก็มีกรณีของเพื่อนบางคนถูกตำรวจขอรายชื่อ ขอข้อมูลส่วนตัวจากทางโรงเรียน ซึ่งเราได้รับแจ้งจากคุณครูมา และในส่วนของตน หลังมีการขึ้นเวทีปราศรัยทั้งเรื่องของสถาบันฯ ความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน รวมทั้งเรื่องสังคมที่ชายเป็นใหญ่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีตำรวจมาหาแม่ตนที่บ้าน มาถามว่าตอนนี้ลูกคุณอยู่ไหน ทำอะไรอยู่
“การคุกคามของตำรวจแบบนี้ยอมรับว่ารู้สึกกลัวอยู่บ้าง แต่เมื่อมาคิดทบทวนที่เราพูด ที่เราแสดงความเห็น มันเป็นสิทธิของเราตามกฎหมาย เราออกมาสู้ก็เพื่อสิทธิที่เท่าเทียม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะในสถานศึกษา การที่ตำรวจคุกคามเราถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะปกป้องเรา เขากลับเป็นคนมาคุกคามเสียเอง เขาไม่มีสิทธิที่จะทำกับเราแบบนี้ ขณะนี้ความกลัวน้อยกว่าความโกรธแล้ว ยืนยันว่าเราจะสู้ต่อไปเพื่ออนาคตที่ดีของเรา”
แนวร่วมนักเรียนล้านนากล่าวต่อว่า อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยในหลายเรื่องที่ถือเป็นข้อเรียกร้องหลักอีกข้อของเรา อยากให้ภาครัฐมีความจริงใจในการพูดคุยกับนักเรียน ในการประชุมพูดคุยกันต้องมีการถ่ายทอดสด และเปิดรับฟังความคิดเห็นแบบรอบด้านด้วย
ส่วนข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐเพื่อที่จะปกป้องในฐานะเยาวชน ภาครัฐเองต้องมีหน้าที่ปกป้องเรา แต่ที่ผ่านมากลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับเราเสียเอง และต้องหยุดคุกคามเราได้แล้ว กรณีทางเยาวชนถูกดำเนินคดี มีเพียงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่มาช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษา ส่วนองค์กรเกี่ยวกับเด็ก เช่น UNICEF รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ไม่เคยมาเหลียวแล หลังมีเยาวชนจำนวนมากถูกดำเนินคดี ทั้งที่องค์กรเหล่านี้มีบทบาทหน้าที่อย่างมาก ตั้งข้อสังเกตว่ามีอะไรไปปิดตาปิดปากไว้หรือไม่
ด้านกลุ่มนักเรียนเลว ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ บอกว่าตั้งแต่กลุ่มจัดตั้งขึ้นมาก็ได้มีการรับเรื่องร้องเรียนจากทั่วประเทศ โดยลักษณะที่เกิดขึ้นมีรูปแบบคล้ายๆ กัน คือมีการคุกคามทั้งกายและวาจา เฉลี่ยแล้วมีส่งมาวันละกว่า 10 เรื่อง คำถามคือทำไมคนกลุ่มนี้ถึงเลือกส่งมาให้กลุ่มของเรา อาจจะเพราะหน่วยงานของรัฐไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา กลับบังคับให้เยาวชนออกมาชุมนุมเพื่อกดดัน สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดีต่างๆ นานา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ด้านเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มภาคีนักเรียนมหาสารคาม อิศรา วงศ์ทหาร กล่าวว่าหลังตนมีการขึ้นเวทีปราศรัยเรื่อง Sex Worker และเรื่อง Sex Toy ยอมรับว่าถูกคุกคามเช่นกัน แต่ไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ใหญ่ของโรงเรียน แต่เป็นชาวเน็ตที่มีการนำชื่อ นามสกุล รวมทั้งชื่อโรงเรียนไปเผยแพร่ หลังจากนั้นก็มีคนมาขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กจำนวนมากจนต้องปิดเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราว ส่วนข้อเรียกร้องกรณีให้มีการใส่ชุดไพรเวตไปโรงเรียน ทางผู้บริหารของโรงเรียนก็มีการรับฟัง เบื้องต้นจะให้ใส่ 1 วันต่อสัปดาห์ จะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ แต่ยอมรับว่ากลุ่มเพื่อนในกลุ่มอื่นที่รู้จักกันถูกคุกคามพอสมควร โดยเฉพาะที่จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ที่มีคนนอกไปคุกคามถึงที่โรงเรียนทั้งที่เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย
“ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำถือเป็นสิทธิการแสดงออกที่เราสามารถทำได้ ทุกวันนี้การเมืองไม่ถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป มีหลายคนถามว่าเสียงของพวกหนูที่ถือว่าเป็นเด็กตัวเล็กๆ ใครจะมารับฟังหรือสนใจ นั่นเป็นเพราะผู้ใหญ่ไม่ปรับเปลี่ยนความคิด ยึดอำนาจนิยมที่มักมองว่าผู้ใหญ่มักเป็นใหญ่เสมอ ไม่ใช่มองแต่พวกหนูเป็นพวกยุยงปลุกปั่น สร้างความเดือดร้อน อยากให้ฟังเสียงของพวกหนูบ้าง ไม่ใช่เพื่อใคร ก็เพื่ออนาคตของหนูที่ดีในอนาคต”
ส่วนข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐเพื่อที่จะปกป้องเราในฐานะเยาวชน การคุกคามถึงบ้าน ออกหมายเรียก รวมทั้งจับกุมคุมขังไม่ใช่ทางออก ที่ผ่านมาภาครัฐบอกเสมอว่าอยู่ฝั่งเรา แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเพียงคำพูด ไม่มีการแสดงออกผ่านการกระทำ ทั้งที่หน่วยงานรัฐรับภาษีจากประชาชน แต่ไม่ทำเพื่อประชาชน ต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่เลือกข้างแล้วรอเพียงแต่คำสั่งนายเท่านั้น ส่วนเรื่องที่องค์กรเกี่ยวกับเด็กไม่มาเหลียวแล ส่วนตัวยืนยันว่าที่ผ่านมาหน่วยงานหรือองค์กรที่ว่านี้ไม่เคยเข้ามาพบ พูดคุย หรือดูแลอะไรเลย ทั้งที่เป็นหน้าที่ มีพันธกิจที่ชัดเจน “เรากลัวมากที่วันหนึ่งจะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เราเกลียด”
“มีอยู่เคสหนึ่งที่มีการแชร์ในทวิตเตอร์ ที่ลูกมีความเห็นต่างทางการเมืองกับครอบครัว แต่กลับถูกพ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน กรณีนี้ชัดมาก องค์กรหรือหน่วยงานเหล่านี้ต้องมาดูแล มาสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่ลูกสามารถฟ้องบุพการีได้ แต่องค์กรหรือหน่วยงานเหล่านี้ก็เงียบกริบ ไม่มีการช่วยเหลือใดๆ”
ด้านเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มเด็กเปรต ธนัดดา แก้วสุขศรี กล่าวว่าหลังกลุ่มตนไปพูดบนเวทีเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎรภาคใต้ ช่วงแรกยอมรับว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐพอสมควร โดยมีเจ้าหน้าที่ไปถึงที่บ้านและบอกให้หยุดการกระทำทั้งหมด ซึ่งกรณีนี้ตนรู้สึกไม่ดีเป็นอย่างมาก แทนที่ตำรวจจะมากดดันตนเอง แต่กลับไปกดดันคนในครอบครัวด้วย ซึ่งพ่อแม่ก็ทุกข์ใจ
ส่วนข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐเพื่อที่จะปกป้องเราในฐานะเยาวชน แทนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมาคุ้มครองเรา ทุกวันนี้ภาครัฐกลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งเราเสียเอง ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยแสดงออกใดๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองเราเลย มีแต่ต้องการให้เราหยุด โดยอ้างว่าเราไปสร้างความวุ่นวาย สิ่งที่ทำโดยเฉพาะการคุกคามก็เพราะนายสั่ง และต้องการอยู่ในตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจก็เท่านั้น จึงอยากขอร้องภาครัฐให้หยุดคุกคามเราได้แล้ว ยืนยันว่าสิ่งที่เราเรียกร้องไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่เราเพียงอยากสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเพื่อต้องการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเท่านั้น
ด้านตัวแทนจากคณะก้าวหน้า กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กล่าวว่าจากเรื่องร้องเรียนของเด็กๆ ในหลายโรงเรียน พบว่าน้องๆ ในหลายโรงเรียนถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎระเบียบต่างๆ หลังนักเรียนแสดงความคิดเห็นหรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยเริ่มจากการตัดคะแนนและตัดสิทธิต่างๆ ที่อยู่ในโรงเรียน เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่ามีคนนอกมาคุกคามนักเรียนถึงที่โรงเรียนด้วย ทั้งที่เป็นสถานที่ปลอดภัย โดยมีคนนอกเข้ามาถ่ายภาพถึงที่โรงเรียน ยังไม่นับรวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปคุกคามถึงที่บ้าน
ส่วนข้อเรียกร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กอย่างเคร่งครัด เนื่องจากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเด็กในการแสดงออกอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น การชูกระดาษขาวและโบขาว ไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งการชุมนุมโดยสงบและเข้าร่วมการชุมนุมไม่ใช่การประพฤติผิดระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา ตามกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562 ซึ่งออกตามอำนาจ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
“ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถจัดการคุ้มครองกรณีนักเรียนถูกคุกคามในโรงเรียนในสังกัดได้อย่างดีพอ กลับปล่อยปละละเลยให้บุคคลภายนอกเข้าไปคุกคามนักเรียนที่ทำกิจกรรมถึงที่โรงเรียน ซึ่งถือเป็นสถานที่ปลอดภัย บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการต้องคุ้มครองสิทธินักเรียนมากกว่านี้”
กุลธิดายังกล่าวว่า ส่วนกรณีขององค์กรเด็กระหว่างประเทศ ยกตัวอย่าง มีการออกหมายจับนักเรียนในคดีการเมือง เบื้องต้นควรส่งตัวแทนเข้าไปสังเกตการณ์ แต่ทุกวันนี้เราไม่เห็นเลย ตรงกันข้าม เรากลับเห็นการคุกคามมากขึ้นด้วยซ้ำ
ส่วนประเด็นที่ว่าเมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ แล้วรัฐไทยปกป้องใคร ที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐไทยพยายามปกป้องสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าดีงาม การแสดงความคิดเห็น การแสดงออกต่างๆ ของเด็กควรเป็นสิ่งที่เบ่งบาน ไม่ควรมาดำเนินคดีโดยเฉพาะกับเยาวชน ชุดความคิดนี้แม้จะดีต่อภาครัฐ แต่ไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์