วันนี้ (17 ธันวาคม) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.แบบแบ่งเขตกรุงเทพมหานคร เขต 27 พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ร่วมกันแถลงข่าวต่อกรณีที่ มหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ใช้อำนาจประธานสั่งปิดการประชุมกะทันหัน เนื่องจากไม่พอใจที่ธีรัจชัย กมธ.สัดส่วนพรรคก้าวไกล อภิปรายยกเหตุผลความไม่ชอบธรรมของที่มารัฐธรรมนูญปี 2560 และอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาในที่ประชุม
รังสิมันต์กล่าวว่า วาระที่มีการพิจารณาใน กมธ. วันนี้คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 2560 โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาต่อในอนุกรรมาธิการคณะที่ 7, 8 และ 9 โดยประเด็นใหญ่อยู่คณะที่ 8 ที่จะมีการพิจารณากันว่า การแก้ไขหมวด 1, 2 และ 15 ต้องมีการทำประชามติหรือไม่ ซึ่งมีประเด็นที่ถกเถียงกันคือ การจะแก้ไขเรื่องใด หมวดใดบ้างที่ต้องทำประชามติบ้าง บางฝ่ายโดยเฉพาะฝ่าย ส.ว. และฝ่ายรัฐบาล เห็นว่า หมวดศาล หากจะแก้ไขจำเป็นต้องทำประชามติ ขณะที่บางฝ่ายมองว่าถ้ามีประเด็นแบบนั้น หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็จำเป็นต้องทำประชามติด้วยหรือไม่
“ปรากฏว่าเมื่อพิจารณาไปได้สักระยะหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่แทนประธานในที่ประชุม คือ ส.ว.มหรรณพ เดชวิทักษ์ ได้ใช้อำนาจเผด็จการสั่งปิดประชุม โดยมีสัญญาณเริ่มจากที่ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสั่งปิดไม่ให้ถ่ายทอดไปข้างนอก เข้าใจว่าเพราะ ส.ว.กังวลว่าจะดูไม่ดีในสายตาประชาชน เนื่องจากผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ห้ามปรามไม่ให้ ส.ส.ธีรัจชัย กรรมาธิการสัดส่วนพรรคก้าวไกลชี้แจง รวมทั้งมีการกล่าวพาดพิงยกเรื่องรุ่นพี่รุ่นน้อง ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับทำหน้าที่ในการเป็นกรรมาธิการ และการมาเป็นกรรมาธิการ ทุกคนถือว่าเท่าเทียมกัน ผมจึงพยายามเตือนสติท่านผู้ทำหน้าที่ประธานว่าอย่าพูดแบบนั้นเลย สุดท้ายกลายถูกตัดบทและใช้อำนาจสั่งปิดการประชุม” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์ยังกล่าวอีกว่า ช่วงที่มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน มี ส.ว. บางคนกล่าวว่า หากเป็นแบบนี้ ส.ว. 15 คนจะไม่มาทำหน้าที่ คำถามคือสามารถพูดแทนคนอื่นได้อย่างไร หรือกำลังบอกว่า ส.ว. มีเจ้าของคอยควบคุมสั่งการใช่หรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก ผิดหวังในการทำหน้าที่ของ กมธ.ของ ส.ว. ที่สะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายพวกเขาไม่ได้มีความจริงใจให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังเสียดายเงินภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารให้กรรมาธิการ แต่ กมธ. บางคนก็ไม่ได้ทำหน้าที่ได้อย่างคุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชน
ขณะที่ธีรัจชัยกล่าวเสริมว่า เมื่อผ่านวาระแรกไปแล้ว วาระที่สองเป็นวาระที่ต้องพิจารณาในชั้น กมธ. เมื่ออยู่ในชั้น กมธ. จำเป็นต้องมีการพิจารณาและต้องพูดกันในทุกประเด็นเพื่อให้เป็นประโยชน์ที่สุด นั่นคือการช่วยกันเสนอหรือช่วยกันคิดอย่างรอบคอบ สิ่งที่เกิดขึ้นต้องย้อนถามว่า ส.ว. จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งที่ตนอภิปรายคือหลักการว่าด้วยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน นั่นคือรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องแก้ไขได้โดยไม่ยากเกินไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เกิดจากปลายกระบอกปืน เกิดจากอำนาจรัฐประหาร รวมทั้งเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย การอ้างว่าผ่านประชามติ แต่ก็เป็นประชามติกำมะลอ มีการจับกุมผู้รณรงค์เห็นต่างเป็นร้อยคน ดังนั้นจึงมีคำถามว่า เมื่อประชาชนต้องการจะแก้ไขหรือมีรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เหตุใดจึงทำไม่ได้หรือทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากปลายกระบอกปืนอย่างเดียวเช่นนั้นหรือ
“ส.ว. เองก็เป็นดอกผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้รับการแต่งตั้งมาจาก คสช. ให้มาเลือกหัวหน้า คสช. ซึ่งก็คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจต่อ ขณะที่กลไกองค์กรอิสระหลายหน่วยงานก็มีที่มาจากการแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติ ที่สภานิติบัญญัติก็มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ขณะที่การระบุให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะมีแต่ทหารและนายทุน สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชอบธรรมทั้งทางเนื้อหาและที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560” ธีรัจชัยกล่าว
ธีรัจชัยยังกล่าวต่อไปด้วยว่า สัดส่วนของคณะ กมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีน้อยกว่าของฝั่งรัฐบาลและ ส.ว. เมื่อมีประเด็นถกเถียงทั้งสองฝ่าย จึงพยายามให้มีการออกเสียงลงคะแนน และยังพยายามตัดบทไม่ให้พูดอภิปรายในทุกแง่มุม จำกัดให้พูดในเชิงเทคนิคเท่านั้น รวมทั้งความจริงใจของ ส.ว. ที่มาเป็น กมธ. ก็ชวนตั้งข้อสงสัยต่อการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ว. ที่มาเป็น กมธ.ก็ งดออกเสียงและโหวตคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล