วันนี้ (15 ธันวาคม) พรรคเพื่อไทยจัดงานเสวนา ‘คิดใหม่ ทำใหม่ อบจ. 2021 สร้างโอกาสใหม่ เพื่ออนาคตท้องถิ่นไทย’ เปิดมิติการทำงานองค์การปกครองท้องถิ่น เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ โดยมีผู้ร่วมอภิปราย เช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, วิทยา บุรณศิริ อดีตนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส. แพร่ และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส. เลย พรรคเพื่อไทย, กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส. หนองคาย พรรคเพื่อไทย และธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่าวันที่ 20 ธันวาคมนี้ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 6-8 ปี สำหรับภาพลักษณ์ของ อบจ. ในสมัยก่อน ประชาชนต้องทบทวนใหม่ว่าความเคยชินที่เคยเลือกนายก อบจ. มันยังสอดคล้องกับอนาคตประเทศหรือไม่ สำหรับ 4 เดือนที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมของเยาวชนและประชาชน แต่สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งคือผลกระทบจากการบริหารประเทศของรัฐบาลในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาที่ได้รวมศูนย์อำนาจให้การตัดสินใจตกอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว
อีกทั้งการแก้ปัญหาค่าฝุ่นละออง PM2.5 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่ตอบโจทย์ ซึ่งจะเป็นการทดสอบว่า อบจ. จะรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างไร พรรคเพื่อไทยต้องการ ‘สมาร์ท อบจ.’ ที่มีศักยภาพทำให้ท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ติดอาวุธทางปัญญาให้กับทุกคน ยิ่งในภาวะที่รัฐบาลพึ่งไม่ได้เช่นนี้ อบจ. คือหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดด้วยการเชื่อมโยงเป็นแพลตฟอร์มกับหน่วยต่างๆ
“สิ่งที่เราต้องการวันนี้ไม่ใช่คนที่มาสร้างถนน คนมาสร้างศาลา แต่เราอยากได้คนที่มาบริหาร เข้าถึงได้ แบ่งปันกันได้ แล้วเอาความรู้ความสามารถไปเชื่อมโยงต่อกันเป็นเครือข่าย เพื่อที่จะสามารถยกระดับประเทศไทยทั้งประเทศ นั่นคือสิ่งที่เป็นภารกิจที่ท้าทาย” นพ.สุรพงษ์กล่าว
นพ.ทศพร กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือ พบว่าประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณะได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากบุคลากรและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบบริหารราชการส่วนกลาง เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีงบประมาณหลายหมื่นล้าน แต่ประชาชนกลับยังมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งถ้า อบจ. มีอำนาจ มีงบประมาณ สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านสุขภาพ และยกระดับเพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลได้ด้วยการตั้งคลินิกชุมนุมจ้างหมอด้วยตนเอง ขณะเดียวกันหลักสูตรการศึกษาต้องได้รับการปฏิรูปให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน เนื่องจากยังยึดติดรูปแบบการท่องจำ ไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างมีศักยภาพ
“นี่คือโอกาสการสร้างนายก อบจ. ในฝันแบบเพื่อไทยเข้าไปทำงานเพื่อสนับสนุนเรื่องงบประมาณโรงพยาบาลและโรงเรียนต่างๆ ปฏิรูปหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปเรียนรู้ได้” นพ.ทศพรกล่าว
ด้านเลิศศักดิ์กล่าวว่าการกระจายอำนาจสู่องค์การปกครองท้องถิ่นคือ ‘ยาวิเศษ’ ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันคนไทย 99% ถือครองทรัพย์สินเพียง 33% ทว่าเจ้าสัว 1% ครอบงำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในส่วนภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงการเข้าไปถือหุ้นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในอนาคตการเข้าถึงการให้บริการมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก
เลิศศักดิ์มองว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่คำตอบคือทำให้คนจนเข้าถึงการบริการสาธารณะเฉกเช่นเดียวกันอย่างเท่าเทียมทุกชนชั้น ส่วนระบบการศึกษาตามต่างจังหวัดก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายยุบรวมโรงเรียน สร้างความลำบากทั้งเด็กนักเรียนและคณาจารย์ ตนเสนอว่าเปลี่ยนจากยุบรวมให้เป็นการถ่ายโอนอำนาจให้ อบต. และ อบจ. บริหารได้หรือไม่
“การกระจายอำนาจในประเทศเราเริ่มต้นเมื่อปี 2540 ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ริเริ่มให้มีการเลือกนายก อบจ. ครั้งแรก ผลพวงครั้งนั้นส่งต่อให้เกิดกระจายภารกิจให้ท้องถิ่นดูแลประชาชน แต่แล้วการรัฐประหารก็ดับสวิตช์การกระจายอำนาจไปโดยสิ้นเชิงด้วยการสร้างรัฐราชการรวมศูนย์ ผมเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้ บุคลากรของพรรคเพื่อไทยที่จะถ่ายทอดให้ความรู้กับ อบจ. เพื่อทุบทำลายรัฐรวมศูนย์ และสถาปนายุคทองการกระจายอำนาจได้”
ขณะที่กฤษฎากล่าวว่าการยกระดับ SMEs การค้าชายแดนมีความสำคัญสอดคล้องกับการสร้างนวัตกรรมในยุคสมัยใหม่ เพราะปัจจุบันเยาวชนเติบโตมากับเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดด้วยการแลกเปลี่ยนไอเดียจากสภาพแวดล้อมเล็กๆ สร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย วันนี้ธุรกิจขนาดเล็กมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ยกตัวอย่างธุรกิจยานยนต์ที่ต้องพึ่งผู้ประกอบการรายย่อย อย่างไรก็ตาม วันนี้บริษัทเล็กทำมากได้น้อย เราจึงต้องพัฒนาให้ อบจ. เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการรายย่อยให้ดีขึ้น
ส่วนวิทยาระบุว่าสิ่งสำคัญที่สุดของ อบจ. เมื่อขันอาสาเข้ามาทำหน้าที่ บทบาทของ อบจ. คือการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจหยุดชะงัก อบจ. ต้องดูแลราคาเยียวยาสินค้าพืชผลเกษตร รองรับวิกฤตภัยแล้งและยกระดับการศึกษา ดังนั้นผู้สมัคร อบจ. ของเพื่อไทยต้องทำภารกิจอย่างมีวิสัยทัศน์ให้ตอบโจทย์ประชาชน ความคาดหวังการเลือกตั้งครั้งนี้ ระดับนโยบายมีให้พี่น้องประชาชนเลือกหรือไม่ เพื่อไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นที่มาของการบริหารแบบมีวิสัยทัศน์ เพื่อให้เกิดรายได้กับพี่น้องประชาชนระหว่างที่ประเทศเผชิญวิกฤต
ธีรชัย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าตนมองภาพ อบจ. แตกต่างออกไป โดยเป็นภาพจำไม่ค่อยดีของตนที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ใช้ศักยภาพในการพัฒนาท้องถิ่นมากนัก การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งล่าสุดตนอายุ 13 ปี อยู่ ม.1 และจะได้เลือกตั้งอีกครั้งตอนอยู่ปี 4 ตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตนไม่เห็นอะไรเลย เพราะ อบจ. ถูกแช่แข็งไว้ ทั้งนี้ภาพจำของต่อ อบจ. คือผู้มีอำนาจในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าพ่อ แต่ไม่ใช่ผู้บริหารที่มาบริหารท้องถิ่น ตนเกิดมาในยุคที่บ้านเมืองมีแต่ความขัดแย้ง มองว่าการเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์
ธีรชัยระบุว่าตนฝันอยากให้เมืองเป็นแหล่งบ่มและผลิตนักบริหารที่จะมาขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่คนที่เข้ามาบ่มเพาะอำนาจเพื่อขยับไปเล่นการเมืองระดับชาติ โดยลดระบบราชการลง ลดความเป็นราชการลง ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นดีหรือไม่ พวกท่านทั้งหลายที่มีส่วนในการเมืองท้องถิ่นต้องสลัดภาพจำของคนรุ่นตนให้ได้ ดังนั้นอีก 5 วันข้างหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าการเมืองท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร จึงอยากส่งเสียงไปยังคนหนุ่มสาวว่า กลับบ้านแล้วไปสร้างเมืองในฝันกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์