เกิดอะไรขึ้น:
หลังจากที่ SCBS ได้เข้าพบผู้ประกอบการโรงพยาบาลไทย ทำให้ทราบมาว่าตั้งแต่ไตรมาส 4/63 ธุรกิจโรงพยาบาลปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะปริมาณผู้ป่วยคนไทยเพิ่มขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ถูกอั้นไว้ (Pent-up Demand) สืบเนื่องจากมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะมาโรงพยาบาลหลังจากคลายล็อกดาวน์ และจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดตามฤดูกาลที่เพิ่มขึ้น
โดย BDMS เผยว่า รายได้ของบริษัทลดลง 10%YoY ในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ดีขึ้นจากที่ลดลง 22%YoY ใน ไตรมาส 3/63 ขณะที่ BH เผยว่าปริมาณผู้ป่วยคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการจัดโปรโมชันสุขภาพ ส่วน BCH คาดจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมจากการให้บริการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 (เช่น บริการ RT-PCR, บริการสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) และสถานกักกันโรคของหน่วยงาน (OQ)) และ CHG เผยว่ารายได้จากผู้ป่วยที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเติบโตเล็กน้อย YoY ฟื้นตัวดีขึ้นจากที่ลดลง 5%YoY ในไตรมาส 3/63
ทั้งนี้ การให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติยังคงซบเซา เนื่องจากประเทศไทยยังคงใช้มาตรการระมัดระวังในการเปิดประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการโรงพยาบาลทั้งสี่รายกล่าวว่า มีกลุ่มผู้ป่วยชาวต่างชาติแสดงความสนใจที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ถูกอั้นไว้ (Pent-up Demand)
กระทบอย่างไร:
เช้าวันนี้ (1 ธันวาคม 2563) ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเคลื่อนไหวในแดนบวก และปิดตลาดเที่ยงวันนี้ Health Index อยู่ที่ 4,886.11 จุด เพิ่มขึ้น 91.29 จุด หรือปรับขึ้น 1.90%DoD เทียบกับ SET Index ที่ปรับขึ้น 21.61 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.53%DoD สู่ระดับ 1,429.92 จุด โดย BDMS ปรับขึ้น 1.86%DoD สู่ระดับ 21.90 บาท, BH ปรับขึ้น 6.43%DoD สู่ระดับ 132.50 บาท, BCH ราคาไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 14.00 บาท และ CHG ปรับขึ้น 1.57%DoD สู่ระดับ 2.58 บาท
มุมมองระยะสั้น:
เราเชื่อว่าโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยคนไทยสูงอย่าง CHG และ BCH จะรายงานกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 และปี 2564 โดยในไตรมาส 4/63 เราคาดว่าผู้ประกอบการโรงพยาบาลทั้งสองรายนี้จะรายงานกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น YoY (แต่ลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล) จากฐานต่ำในไตรมาส 4/62 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งสองบริษัทต้องโอนกลับรายได้จากบริการประกันสังคม (SC) เนื่องจากงบประมาณสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ไม่เพียงพอ แต่กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้วในปี 2563 เราคาดว่ากำไรปี 2564 ของ CHG จะเติบโต 14% และ BCH จะเติบโต 15%
ทั้งนี้ ปัจจุบันเราชอบ CHG มากกว่า BCH เนื่องจากมองว่า CHG จะไม่มีแรงกดดันในระยะสั้นจากการลงทุนใหม่ในปี 2564 (ขณะที่ BCH วางแผนเปิดโรงพยาบาล 2 แห่งในจังหวัดปราจีนบุรีในเดือนมกราคม 2564 และ สปป.ลาว ในไตรมาส 2/64) และมีแนวโน้ม Upside จากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมากขึ้นที่โรงพยาบาล 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ และ โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่การเลิกจ้างพนักงานเพิ่มมากขึ้น จะกดดันให้ผู้ประกันตนจำนวนมากต้องออกจากระบบประกันสังคม
มุมมองระยะยาว:
เราเชื่อว่าโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติสูงอย่าง BDMS และ BH จะกลับมาน่าสนใจในไตรมาส 2/64 แม้การให้บริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ฟื้นตัวช้าจะยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งให้กำไรปกติของ BDMS และ BH ลดลง YoY ใน 4Q63-1Q64 แต่คาดจะกลับมาเติบโตในไตรมาส 2/64 จากฐานกำไรที่กลับคืนสู่ระดับปกติ และจะเริ่มแข็งแกร่งขึ้นในครึ่งปีแรก 2564
โดยอิงกับมุมมองของเราที่ว่า นักท่องเที่ยวและผู้ป่วยชาวต่างชาติจะกลับเข้ามาจากการยกเลิกมาตรการกักตัว โดยเราคาดว่าปี 2564 กำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 29% สำหรับ BDMS และ 31% สำหรับ BH ซึ่งจะคิดเป็น 90% ของระดับก่อนโควิด-19 ระบาดในปี 2562 สำหรับ BDMS และ 46% สำหรับ BH
ทั้งนี้ ปัจจุบันเราชอบ BDMS มากกว่า BH เนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยประกันสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น และมีแนวโน้ม Upside จากปริมาณผู้ป่วยจากจีนที่จะเพิ่มขึ้นจากความร่วมมือกับ Ping An Health ในขณะที่เรามองว่าประโยชน์จากความร่วมมือระหว่าง BH กับ PRINC ในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) จะไม่สามารถชดเชยบริการผู้ป่วยชาวต่างชาติที่อ่อนแอได้ในระยะสั้น และมีปัจจัยเสี่ยงคือ การแข่งขันในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนระดับบน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองในอนาคต
ข้อมูลเพิ่มเติม:
BDMS คือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)
BH คือ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)
BCH คือ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)
CHG คือ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์