วันนี้ (28 พฤศจิกายน) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวในรายละเอียดของกรณีที่หญิงไทยเดินทางกลับจากเมียนมาและตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19
นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายล่าสุดของประเทศไทย เป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดที่ได้จากการสอบสวนโรคที่เป็นการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่และกองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันนี้ คือ หญิงไทย อายุ 29 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยประวัติที่ได้จากการสอบสวนอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นดังนี้
- วันที่ 24 ตุลาคม-23 พฤศจิกายน อยู่ในประเทศเมียนมา
- วันที่ 23 พฤศจิกายน ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยด้วยอาการไข้ ถ่ายเหลว จมูกไม่ได้กลิ่น
- วันที่ 24 พฤศจิกายน ยังมีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ
- เวลา 05.00 น. เดินทางจากเมียนมาเข้าแม่สาย จังหวัดเชียงราย ด้วยรถตู้สาธารณะ
- เวลา 11.00 น. เดินทางจากเชียงรายมาเชียงใหม่ด้วยรถบัสประจำทาง
- เวลา 14.51 น. เดินทางถึงเชียงใหม่ ใช้บริการ GrabCar 1 กลับคอนโดของผู้ป่วย
- ช่วงกลางคืนใช้บริการรถ GrabCar 2 ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ย่านสันติธรรมกับเพื่อน 2 คน มีการสูบบุรี่ร่วมกัน
- เวลา 02.00 น. เข้าพักค้างคืนที่คอนโดแห่งหนึ่งของเพื่อนที่มาจากสถานบันเทิงด้วยกัน พร้อมกับเพื่อนคนที่ 1 และมีเพื่อนคนที่ 2 และคนที่ 3 ซึ่งพักอยู่ในห้องใกล้กันและตรงข้ามกันเข้ามาร่วมดื่มสุรา
- วันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 12.00 น. ออกจากคอนโดของเพื่อน ใช้บริการ GrabCar 3
- เวลา 13.00 น. เดินทางกลับถึงคอนโดที่พักของผู้ป่วย
- เวลา 15.30-20.30 น. ใช้บริการรถ GrabCar 4 ไปห้างสรรพสินค้าและอยู่ในห้าง โดยมีกิจกรรมคือ ชมภาพยนตร์ ทานอาหาร และเดินซื้อของ โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ป่วยสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ตลอด และได้เรียก GrabCar 5 กลับคอนโด
- วันที่ 26 พฤศจิกายนเวลา 15.30 น. ใช้บริการ GrabCar 6 เพื่อไปตรวจที่ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น และถ่ายเหลว อุณภูมิร่างกาย 36.9 องศาเซสเซียส ตรวจหาโควิด-19
- เวลา 22.00 น. ส่งต่อ เข้ารับการตรวจหาเชื้อที่ รพ.นครพิงค์
- วันที่ 27 พฤศจิกายน ผลตรวจยืนยันพบเชื้อ ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค สสจ.เชียงใหม่ และ สคร.1 ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค
สำหรับกลุ่มเสี่ยงจากการสัมผัสทั้งหมด 326 ราย ประกอบด้วย
- ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จำนวน 105 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสในชุมชน 65 ราย ยานพาหนะ 40 ราย
- ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จำนวน 149 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสในชุมชน 140 ราย ยานพาหนะ 9 ราย
- ผู้สัมผัสรายอื่นๆ 72 ราย
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เกิดกรณีที่คล้ายกันขึ้นหลายเหตุการณ์ ประกอบด้วย
- การค้นพบผู้ขนส่งชาวเมียนมา ติดเชื้อบริเวณชายแดนแม่สอด
- หญิงฝรั่งเศสที่ติดเชื้อจากการปนเปื้อนเชื้อในสถานการณ์กักกันโรค ซึ่งจะต้องเข้าไปตรวจสอบ
- การลักลอบเข้าเมืองของชาวเมียนมาที่มีการกลับคำให้การ จากเดิมบอกว่ามาจากแม่สอด แต่ข้อมูลจริงคือมาจากมาเลเซีย
- ชายชาวอินเดียที่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจร่างกายเพื่อทำใบ Work Permit ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นการติดเชื้อมานานแล้ว แต่เพิ่งตรวจพบเชื้อ
- ทหารเกาหลีที่เดินทางเข้าไทยเพื่อมาร่วมฝึกอบรม
- รัฐมนตรีจากประเทศฮังการี
- ทูตประเทศฮังการีประจำประเทศไทย
- การพบชาวเมียนมาในศูนย์พักพิงอุ้มเปี้ยม จังหวัดตาก
- หญิงไทย อายุ 17 ปี ที่มีผู้ปกครองเป็นชาวไทยและเมียนมา ป่วยเป็นโรค SLE โดยลักลอบเข้าประเทศไทย
นพ.โอภาส ระบุว่า วัตถุประสงค์ในการควบคุมโรค คือ 1. ยืนยันว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นการติดเชื้อโควิด-19 จริง 2. หาสาเหตุว่าติดมาจากที่ใด และ 3. เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นการแพร่กระจายให้ผู้อื่น แต่ในบางรายอาจจะให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการสอบสวนเพื่อให้เกิดความมั่นใจและให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
“จึงเป็นบทเรียนและประสบการณ์ในการป้องกันในครั้งต่อไป ทั้งนี้ การสวมหน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก การใช้กล้องวงจรปิดช่วยสืบสวนโรคได้อย่างดี รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะที่จะทำให้ทราบข้อมูลการเข้าออก” นพ.โอภาสกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล