×

ไขปม ‘JAS’ จ่ายปันผล แม้ขาดทุน!

24.11.2020
  • LOADING...
ไขปม ‘JAS’ จ่ายปันผล แม้ขาดทุน!

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • JAS รายงานขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง 3 ไตรมาส รวม 2,198 ล้านบาท หลังจากปี 2560-2562 มีกำไรสุทธิ 2,693 ล้านบาท 4,912 ล้านบาท และ 7,264 ล้านบาทตามลำดับ
  • แม้มีผลขาดทุนสุทธิแต่ JAS ยังคงประกาศจ่ายเงินปันผล 0.2 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่าประมาณ 1,718 ล้านบาท โดยจะนำกำไรสะสมจากงบการเงินเฉพาะกิจการมาจ่าย ซึ่ง บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า กำไรสะสมในส่วนนี้จะลดลงเหลือเพียง 875 ล้านบาท จากปีก่อนที่เคยมีกำไรสะสมอยู่ถึง 12,996 ล้านบาท
  • พิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ JAS จะได้รับเงินปันผล 914 ล้านบาท สำหรับการจ่ายปันผลรอบนี้
  • บล.เอเซีย พลัส คาดว่าผลประกอบการของ JAS จะขาดทุนสุทธิในระดับ 1-2 พันล้านบาทต่อปีต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563-2565
  • ราคาหุ้น JAS เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 10.20 บาท เมื่อปลายปี 2559 แต่ในปีนี้ราคาลดลงไปต่ำสุดที่ 2.52 บาท หรือลดลงไป 75% จากจุดสูงสุด ต่ำสุดในรอบกว่า 8 ปี

เรียกได้ว่ามีประเด็นให้ ‘เซอร์ไพรส์’ กันอยู่เรื่อยๆ สำหรับหุ้นอย่าง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายใต้ชื่อ ‘3BB’ ล่าสุด ราคาหุ้นเมื่อ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อยู่ดีๆ ก็ปรับตัวพุ่งขึ้นกว่า 16% จาก 2.92 ไปแตะ 3.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่าปกติราว 1,750 ล้านบาท และล่าสุดราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 3.50 บาท 

 

เมื่อไล่ดูปัจจัยที่เข้ามากระทบ ก็คงจะหนีไม่พ้นประเด็น ‘การประกาศจ่ายเงินปันผล’ เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

จริงๆ แล้วการที่บริษัทประกาศจ่ายเงินปันผลก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องพิเศษหรือแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะบริษัทใดๆ ก็สามารถประกาศจ่ายเงินปันผลได้ หากมีเงินสดเพียงพอให้จ่าย ซึ่ง JAS เองก็ดูเหมือนจะมีเงินสดเพียงพอจะให้จ่ายเช่นกัน

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ JAS ประกาศจ่ายเงินปันผลออกมา ภายหลังจากที่บริษัทรายงานผลประกอบการจาก ‘งบการเงินรวม’ สำหรับ 9 เดือนของปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิถึง 2,198 ล้านบาท ซึ่งโดยปกติแล้วเรามักจะไม่เห็นบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนตัดสินใจจ่ายเงินปันผลออกมา

 

 

จากข้อมูลที่ JAS ชี้แจงเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลในครั้งนี้ บริษัทจะจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.2 บาทต่อหุ้น โดยจะจ่ายจาก ‘กำไรสะสม’ ของบริษัท

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากกำไรสะสมของ JAS ภายใต้งบการเงินรวม ณ 30 กันยายน 2563 จะเห็นว่าบริษัทมี ‘ขาดทุนสะสม’ อยู่ถึง 8,622 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 ที่มีกำไรสะสม 6,319 ล้านบาท

 

เท่ากับว่ากำไรสะสมที่ JAS จะนำมาจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้นในครั้งนี้จึงเป็นกำไรสะสมจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ซึ่ง ณ 30 กันยายน 2563 ยังคงเป็นบวกอยู่ 2,786 ล้านบาท  

 

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าตัวเลขกำไรสะสมของ JAS ภายใต้งบการเงินเฉพาะกิจการลดลงมาอย่างต่อเนื่องจาก ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งเคยมีอยู่ถึง 12,996 ล้านบาท

 

ในมุมของนักลงทุนทั่วไป แม้ว่าผลประกอบการรวมของหุ้น JAS จะขาดทุน แต่เมื่อคำนวณจากเงินปันผลที่บริษัทจะจ่ายออกมา 0.2 บาทต่อหุ้น เทียบกับราคาปิดที่ 2.92 บาท เท่ากับว่าอัตราเงินปันผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับสูงถึง 6.8% ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ราคาหุ้น JAS เปิดกระโดดขึ้นมาทันที 6.1% ในวันทำการถัดจากที่บริษัทประกาศจะจ่ายปันผล

 

แต่ความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องพิจารณาเพิ่มเติมกรณีเข้าเก็บหุ้นเพื่อรับเงินปันผลคือ ณ วันขึ้นเครื่องหมาย XD หรือกำหนดสิทธิรับเงินปันผล ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลงใกล้เคียงกับเงินปันผลที่จ่ายออกไป ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนที่นักลงทุนอาจจะต้องจ่าย

 

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับเงินสูงสุดจากการจ่ายเงินปันผลของ JAS ในครั้งนี้คือ พิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 54.99% หรือ 4,572.49 ล้านหุ้น จะได้รับเงินไปผลประมาณ 914 ล้านบาท

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุไว้หลังจากที่ JAS ประกาศจ่ายเงินปันผลช่วงปิดตลาดว่า ราคาหุ้น JAS มีโอกาสปรับขึ้นตอบรับข่าวประกาศจ่ายปันผล เนื่องจากเหนือความคาดหมายของตลาด ทั้งนี้การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งนี้จะจ่ายจากกำไรสะสมของงบเฉพาะกิจการ ณ 9 เดือน ปี 2563 ที่มีอยู่ราว 2,786 ล้านบาท โดยเราคาดว่าหลังการจ่ายเงินปันผลครั้งนี้จะทำให้กำไรสะสมลดลงเหลือเพียง 875 ล้านบาท

 

ส่วนแนวโน้มช่วง 3 ปีข้างหน้า ผลการดำเนินงานของ JAS ยังถูกกดดันจากผลกระทบของมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS16 ทำให้มีค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายการเงินเร่งตัวขึ้นกว่าการเติบโตของรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์ และหลังจากจ่ายปันผลครั้งนี้ คาดว่าความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของ JAS จะลดลง

 

สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า โดยหลักการแล้ว JAS สามารถจ่ายเงินปันผลได้ แม้ว่าบริษัทจะมีผลขาดทุนสุทธิ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการบันทึกค่าเช่าตามมาตรฐานบัญชีใหม่สูงกว่าเงินที่จ่ายจริง แต่บริษัทยังคงมีกระแสเงินสดเพียงพอ

 

“ราคาหุ้น JAS ที่เพิ่มขึ้นตอบรับไปแล้วกับการประกาศจ่ายปันผล ซึ่งจะเห็นว่าเป็นแรงเก็งกำไรมากกว่าอัตราปันผล หากมองในมุมของธุรกิจ JAS มีจุดเด่นคือ ฐานลูกค้า 3 ล้านราย แต่ก็ต้องลุ้นว่าจะหาบริการใดมาตอบสนองความต้องการลูกค้าระยะยาวได้หรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่า JAS ยังพยายามต่อยอดธุรกิจอยู่”

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจของ JAS ในปัจจุบันดูไม่ค่อยดีนัก ในส่วนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่แม้ว่ายังมีโอกาสขยายได้จากอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่ยังมีช่องว่าง แต่ปัญหาคือการเข้ามาของคู่แข่งอย่าง AIS หรือแม้แต่ TRUE ซึ่งต่างมี ‘อาวุธ’ ครบมือ เท่ากับว่า JAS หนีไม่พ้นการแข่งขันในเรื่องราคา ทำให้ฐานผู้ใช้เพิ่มจริง แต่รายได้ต่อหัวลดลง

 

“ปัจจุบันทางบริษัทพยายามขยับตัวต่อเนื่อง เช่น เป็นพันธมิตรกับ DTAC หรือหาคอนเทนท์อื่นเข้ามาเพิ่ม แต่การแข่งขันยังคงรุนแรง เพราะกลยุทธ์ที่ใช้ยังไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก”

 

ในไตรมาส 3 ปี 2563 JAS รายงานขาดทุนปกติ 709 ล้านบาท ขาดทุนมากขึ้นจากไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 661 ล้านบาท และ 607 ล้านบาท เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง กดดันรายได้ต่อลูกค้า (APRU) ให้ลดลง 2.6% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ต้นทุนดำเนินงานรวมยังเพิ่มขึ้น 2.4%

 

โดยภาพรวม เราปรับลดประมาณการปี 2563 และปี 2564 ลง 26.9% และ 25% ตามลำดับ โดยเชื่อว่าแนวโน้มในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะยังขาดทุน จนกว่าบริการใหม่ๆ เช่น IPTV และ Content, Smart Home Solution จะเริ่มต่อยอดสร้างรายได้ที่มีนัยสำคัญได้ ส่วนผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมา ขาดทุนเท่ากับที่คาดไว้ทั้งปี เกิดจากรายการพิเศษที่ขาดทุน 222 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายการขายและบริหารต่อยอดขายที่สูงกว่าคาด  

 

 

ทั้งนี้คาดว่าผลประกอบการของ JAS ในปี 2563 จะขาดทุนสุทธิ 2,702 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 1,839 ล้านบาท และปี 2565 จะขาดทุนสุทธิ 1,663 ล้านบาท แนะนำขายด้วยราคาพื้นฐาน 2.94 บาท  

 

ราคาหุ้น JAS เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 10.20 บาท เมื่อปลายปี 2559 ก่อนจะไหลลงสลับเด้งขึ้น ก่อนที่จะลดลงต่อเนื่องไปทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 8 ปีที่ระดับ 2.52 บาท เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising