×

ชวนตระหนักรู้ผลกระทบวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านละครประเด็นศึกษา ‘Smashed วัยใสไกลแอลกอฮอล์’ หยุดยั้งการเกิดใหม่ของนักดื่มวัยใส [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
27.11.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘โครงการวัยใสไกลแอลกอฮอล์ Smashed Project 2019/2562’ กิจกรรมละครเพื่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ (Theatre-in-Education) ที่มีจุดมุ่งหมายในการยับยั้งวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ โดยโครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ด้วยความร่วมมือของมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.), สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และสถาบัน Collingwood Learning 
  • นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ดำเนินโครงการจนถึงปัจจุบัน ได้จัดแสดงละครประเด็นศึกษาไปแล้วกว่า 60 โรงเรียนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง อบรมให้ความรู้เยาวชนกลุ่มอายุระหว่าง 11-13 ปี ไปแล้วกว่า 9,000 คน 

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เผยข้อมูลว่า 8 ใน 10 ของคนไทยเคยได้รับผลกระทบจากผู้ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การก่อคดีอาชญากรรม การคุกคามทางเพศ และในกลุ่มของครอบครัวที่มีผู้ติดเหล้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

ถึงแม้ผู้กระทำจะเป็นผู้ใหญ่ แต่เยาวชนไม่น้อยคือผู้ได้รับผลกระทบ และถ้าไล่เรียงย้อนกลับไปถึงต้นตอที่ลึกลงกว่านั้น ผู้ใหญ่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในวันนี้ ก็เคยเป็นเยาวชนที่ไม่เข้าใจถึงผลกระทบที่ตามมาของการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัยอันควร หรือเคยเป็นเยาวชนที่เห็นคนในครอบครัวดื่มแอลกอฮอล์ จึงอยากรู้อยากลอง โดยเฉพาะช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้ไม่ได้อยากลอง แต่ไม่รู้จะปฏิเสธเพื่อนอย่างไร เป็นหนึ่งในอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น

 

ถึงแม้จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเยาวชนและวัยรุ่นที่ดื่มแอลกอฮอล์จนอาจสร้างผลกระทบตามมาก็ยังไม่ลดน้อยลงแบบที่น่าพอใจ ไม่แต่เฉพาะในเมืองไทย ต่างประเทศก็เล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญของเรื่องนี้ จนต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างโครงการ ‘Smashed Project’ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ในสหราชอาณาจักร เป็นโครงการละครประเด็นศึกษาที่ให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้แก่เยาวชนถึงโทษภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อยับยั้งวัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนที่อายุระหว่าง 11-13 ปี จนถึงปัจุบันมีการสื่อสารไปยังเยาวชนมากกว่า 320,000 คน ใน 1,400 โรงเรียนทั่วประเทศอังกฤษ 

 


ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบกิจกรรมในเชิงสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการละครประเด็นศึกษา (Theatre-in-Education) โดยใช้ศิลปะการแสดงร่วมกับการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในบรรยากาศการเรียนที่รู้สึกปลอดภัยและสร้างแรงบันดาลใจ เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียน พร้อมทั้งมีการประเมินผลอย่างชัดเจน ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัล ‘แนวทางการปฏิบัติที่ดี’ (Good Practice Award) จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร 

 

มีการต่อยอดความสำเร็จด้วยการขยายโครงการ ‘Smashed Project’ ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น เวียดนาม ไต้หวัน ไอซ์แลนด์เหนือ จาเมกา เปรู จีน และโมซัมบิก ปัจจุบันมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการกว่า 540,000 คน เข้าถึงโรงเรียนกว่า 2,700 แห่ง ใน 22 ประเทศทั่วโลก 

 

ในส่วนของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ริเริ่ม ‘โครงการวัยใสไกลแอลกอฮอล์ Smashed Project’ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) และความร่วมมือของสถานเอกอัครราชฑูตอังกฤษประจำประเทศไทย, สถาบัน Collingwood Learning (องค์กรกระบวนการเรียนรู้สำหรับเยาวชน สหราชอาณาจักร) กลุ่มละครอนัตตา ได้เดินสายจัดกิจกรรมละครเพื่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ (Theatre-in-Education) ไปยังโรงเรียนต่างๆ กว่า 60 โรงเรียนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง อบรมให้ความรู้เยาวชนกลุ่มอายุระหว่าง 11-13 ปี ไปแล้วกว่า 9,000 คน 

 

แม้ผลการประเมินโครงการทุกปีจะมีตัวเลขที่ดีขึ้น เยาวชนเรียนรู้ถึงปัญหาจากการดื่มสุรามากขึ้น เข้าใจผลที่เกิดขึ้นจากการดื่มสุราก่อนวัยอันควร และรู้ถึงแหล่งขอความช่วยเหลือหากประสบปัญหา แต่ มปอ. ก็ยังคงเดินหน้าสานต่อเจตนารมณ์ รณรงค์ยับยั้งนักดื่มเยาวชนไทยก่อนวัย ผ่านกิจกรรมละครการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ต่อเป็นปีที่ 3 

 



ความน่าสนใจของ Smashed Project อยู่ที่การเล่าเรื่องที่สนุกสนาน เข้าใจง่าย เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักแสดง และนักเรียน ถ่ายทอดผ่านตัวละครหลัก 3 ตัวคือ กาก้า เจมส์ และบอย ซึ่งทั้งสามคนเป็นเยาวชนเพื่อนรักนักดื่มที่ไม่ตระหนักถึงผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ทั้งสามต้องพบเจอกับบทสรุปที่แตกต่างกันออกไป เนื่องมาจากผลของการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัย 

 

หลังจบการแสดง จะเปิดโอกาสให้นักเรียนวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ กระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นว่าหากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวละครจะปฏิบัติอย่างไร ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่ตัวละครต้องเผชิญ กระบวนการดังกล่าวทำให้นักเรียนตระหนักและเข้าใจขั้นตอนการตัดสินใจ รวมถึงสาเหตุและผลลัพธ์จากการดื่มแอลกอฮอล์ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งการเรียนรู้ลักษณะนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย Active Learning ของกระทรวงศึกษาธิการที่เน้นพัฒนาทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน พัฒนาทักษะกระบวนการคิด การเรียนรู้จากสถานการณ์จำลอง เรียนรู้จากปัญหา ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กๆ สนุกจากการเรียนรู้ จดจำได้

 

โดยปี 2562 ที่ผ่านมา ‘โครงการวัยใสไกลแอลกอฮอล์ Smashed Project 2019/2562’ ร่วมมือกับกองเสริมสร้างสมรรถนะนักเรียน สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เดินหน้าจัดกิจกรรมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 19 แห่ง และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1 แห่ง มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 4,486 คน

 

ซึ่งในปีนี้ ประเด็นสำคัญยังคงมุ่มเน้นไปที่การให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงและโทษภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำรวจต้นเหตุและผลลัพธ์ที่จะตามมา เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถต่อรองกับแรงกดดันจากเพื่อนหรือคนรอบข้าง และสามารถเลือกปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม 

 

 

นอกจากประเด็นหลักที่กล่าวไป ยังสอดแทรกประเด็นรองเรื่องการคุกคามทางเพศ และทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยซึ่งสอดแทรกอยู่ในการแสดง ได้แก่ การขับขี่อย่างปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด) การสวมหมวกนิรภัย และการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถ (ดื่มไม่ขับ) 

 

ซึ่งการประเมินผลลัพธ์ที่ได้พบว่า เยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายของการดื่มสุราในวัยเรียนเพิ่มขึ้น จาก 16.45% ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม เป็น 39.98% หลังเข้าร่วมกิจกรรม ทราบถึงอายุของบุคคลที่สามารถซื้อสุราได้อย่างถูกกฎหมายเพิ่มสูงถึง 92.79% ทราบว่าหากมีปัญหาจากการดื่มสุรา สามารถขอความช่วยเหลือได้จากที่ไหน เพิ่มเป็น 72.02% ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น เป็นโรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและอารมณ์

ในขณะที่ผลสำรวจที่ได้จากครู 100% คิดเห็นตรงกันว่าการแสดงและกิจกรรมในโครงการนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการดื่มสุราก่อนวัยอันควรได้อย่างชัดเจนและตรงจุด จึงอยากให้มีโครงการ Smashed Project อีกในปีหน้า และในกลุ่มเยาวชนเองรู้สึกพอใจกับ Smashed Project มากถึง 92.71%

 

 


โครงการ Smashed Project ในวันนี้ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางในการบอกกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมให้กับเยาวชน ผ่านการนำเสนอข้อมูลรอบด้านเพื่อให้พวกเขาได้เห็นเป็นแนวทางในการตัดสินใจ หากเดินเลี้ยวขวาจะเจอกับสิ่งไหน หากเลือกเลี้ยวซ้ายอาจมีสิ่งใดรออยู่ การสร้างความตระหนักผ่านโครงการจึงเป็นเพียงแนวทางที่จะช่วยยับยั้งปัญหานักดื่มก่อนวัยในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพราะเมื่อเยาวชนได้เห็นถึงผลลัพธ์และรู้ถึงสาเหตุ เขาจะเลือกได้เองว่าเขาอยากเติบโตมาอย่างงดงามในแบบใด

 

สุดท้ายแล้วทุกคนจะเติบโตอย่างงดงามในแบบที่เขาอยากเป็น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X