ผลการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปออกมาแล้วว่า โจ ไบเดน เป็นผู้ชนะเหนือเจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างไรก็ดี ไบเดนยังไม่ได้เป็นผู้ชนะอย่างเป็นทางการ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นการเลือกตั้งโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านการเลือกของคณะผู้เลือกตั้ง (Electors) และไบเดนจะชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อบรรดาคณะผู้เลือกตั้งได้มาลงคะแนนที่เมืองหลวงของแต่ละมลรัฐ
คณะผู้เลือกตั้งคือใคร
คณะผู้เลือกตั้งคือกลุ่มบุคคลที่ได้รับเลือกจากประชาชนในมลรัฐต่างๆ ให้เป็นผู้แทนของมลรัฐไปเลือกประธานาธิบดี โดยการลงคะแนนโดยคณะผู้เลือกตั้งนี้จะเกิดที่เมืองหลวงของแต่ละมลรัฐในวันจันทร์แรกหลังวันพุธที่สองของเดือนธันวาคม แล้วรัฐบาลมลรัฐก็จะส่งคะแนนนี้ไปยังรัฐบาลกลางที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต่อไป
จะเห็นได้ว่าการลงคะแนนโดยคณะผู้เลือกตั้งเกิดขึ้นประมาณ 5-6 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งโดยประชาชน รัฐธรรมนูญกำหนดห้วงเวลาไว้แบบนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มลรัฐได้นับคะแนนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และระบุได้อย่างมั่นใจว่าผู้สมัครคนไหนชนะการเลือกตั้งในมลรัฐของตน
จำนวนคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละมลรัฐนั้นจะเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในมลรัฐ) บวกกับจำนวนสมาชิกวุฒิสภา (ซึ่งแต่ละมลรัฐจะมี 2 ที่นั่งเท่ากัน) ซึ่งในปัจจุบัน 50 มลรัฐ รวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (คณะผู้เลือกตั้ง 3 คน) ทำให้มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งรวมกันทั้งหมด 538 เสียง ดังนั้นผู้สมัครที่รวบรวมคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งได้ถึง 270 เสียงก็จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
Winner-take-all
คณะผู้เลือกตั้งจะได้รับเลือกโดยประชาชนของแต่ละมลรัฐ โดยมลรัฐเกือบทั้งหมดจะใช้ระบบ Winner-take-all กล่าวคือ ผู้สมัครที่ได้คะแนนโหวตจากประชาชนในมลรัฐมากกว่า ไม่ว่าจะมากกว่าอย่างฉิวเฉียดเพียงใดก็จะได้เสียงของคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไบเดนชนะทรัมป์ที่มลรัฐจอร์เจียไปแค่ประมาณ 13,000 เสียงจากเสียงโหวตเกือบ 5 ล้านเสียง แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขากวาดคะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปทั้ง 16 เสียง
ข้อยกเว้นของระบบ Winner-take-all มีอยู่ 2 มลรัฐคือ รัฐเมนและเนแบรสกาที่มีการแบ่งเสียงคณะผู้เลือกตั้งให้ผู้ชนะตามแต่ละเขตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้ไบเดนสามารถแย่งเสียงคณะผู้เลือกตั้งมาจากทรัมป์ได้ 1 เสียงที่รัฐเนแบรสกา เพราะเขาชนะที่เขตการเลือกตั้งที่ 2 ของมลรัฐ ในทางตรงข้าม ทรัมป์สามารถแย่ง 1 เสียงคณะผู้เลือกตั้งมาได้จากรัฐเมน เพราะเขาสามารถเอาชนะไบเดนที่เขตการเลือกตั้งที่ 2 ของมลรัฐนี้ได้
คณะผู้เลือกตั้งจำเป็นต้องทำตามเสียงของประชาชนหรือไม่
พรรคการเมืองต่างๆ จะส่งรายชื่อให้กับรัฐบาลมลรัฐตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เพื่อระบุว่าจะให้ใครทำหน้าที่เป็นคณะผู้เลือกตั้งในกรณีที่ผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคชนะการเลือกตั้งในมลรัฐนั้นๆ ดังนั้นโอกาสที่คณะผู้เลือกตั้งจะบิดพลิ้วไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า Faithless Elector (ผู้เลือกตั้งที่ไม่ซื่อสัตย์) จึงเกิดไม่บ่อยนัก
เพราะกลุ่มคนเหล่านั้นเป็นคนที่พรรคเลือกมาเอง อย่างในการเลือกตั้งปีนี้พรรคเดโมแครตได้เลือกนักการเมืองรุ่นใหญ่ของพรรคอย่าง ฮิลลารี คลินตัน และ แอนดรูว์ คูโอโม (ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กคนปัจจุบัน) มาเป็นคณะผู้เลือกตั้งให้กับไบเดนจากมลรัฐนิวยอร์ก และเลือก สเตซีย์ เอบรัมส์ เป็นหนึ่งในคณะผู้เลือกตั้งของมลรัฐจอร์เจีย เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม Faithless Elector เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งแทบจะทุกครั้ง แต่มักจะเกิดในระดับที่ไม่มากและไม่เปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2016 มี Faithless Elector จากมลรัฐเท็กซัส 2 คนไปลงคะแนนให้คนอื่นแทนโดนัลด์ ทรัมป์ที่ชนะการเลือกตั้ง ทำให้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งอย่างเป็นทางการของทรัมป์ลดลงมาเหลือแค่ 304 เสียง แทนที่จะเป็น 306 เสียง แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรอย่างมีนัยสำคัญ เพราะอย่างไรเสียคะแนนของเขาก็เกิน 270 เสียงอยู่ดี
ในปัจจุบันมีมลรัฐทั้งสิ้น 33 มลรัฐที่มีกฎหมายลงโทษ Faithless Elector ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแค่เพียงโทษปรับ แต่มีเพียง 14 มลรัฐเท่านั้นที่มีกฎหมายระบุให้เสียงของ Faithless Elector เป็นโมฆะและให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งแต่งตั้งคณะผู้เลือกตั้งคนใหม่มาทำหน้าที่ทดแทน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์