ในช่วงที่เกิดบรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสังคมไทย จะเห็นว่ามีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งออกมาร่วมเรียกร้องกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน และจะเห็นได้ว่าปรากฏภาพป้ายข้อความข้อเรียกร้องของพระสงฆ์อยู่ป้ายหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นป้ายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
‘เอาคิ้วเราคืนมา’ คงเป็นป้ายประท้วงของกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับความสนใจจากคนในสังคมและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้หลายคนจะยอมรับบทบาทการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ก็ตาม ก็ยังเกิดความสงสัยอยู่ว่า ‘คิ้วของพระ’ มาเกี่ยวข้องอะไรกับการเรียกร้องทางการเมือง หรือคิ้วมันไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรว่าทำไมหลายคนจึงไม่รู้และไม่สงสัยมาก่อนว่าคิ้วพระเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการเรียกร้องทางการเมืองอย่างไร ซึ่งจะได้อธิบายให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มันเกี่ยวพันกับการเมืองอย่างไร
ที่มาของการโกนคิ้วของพระสงฆ์ไทยต้องกล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวนี้สืบค้นเจอแต่เพียงเรื่องเล่ามุขปาฐะเพียงเท่านั้น โดยมีเรื่องเล่าอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก กล่าวถึงสมัยอยุธยาว่ามีข้าศึกจากพม่าปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เพื่อมาสืบข่าวในอยุธยา จึงมีการออกกฎให้พระภิกษุไทยต้องทำการโกนคิ้วเพื่อแยกแยะว่ารูปไหนคือพระไทย รูปไหนคือพม่าปลอมตัวเป็นพระมาสืบข่าว จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้การโกนคิ้วกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องที่สอง กล่าวว่าการโกนคิ้วเริ่มในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีคนที่อาศัยผ้าเหลืองห่มแอบเข้ามาหานางสนมของพระมหากษัตริย์ เพราะในสมัยนั้นกษัตริย์มักจะมีสนมจำนวนมาก และผู้ที่จะสามารถเข้าไปในเขตพื้นที่ชั้นในหรือพื้นที่ของเจ้านายฝ่ายหญิงได้นั้นคงมีแต่ผู้หญิง พระญาติที่เป็นเด็ก ตัวพระมหากษัตริย์ และพระสงฆ์ จึงกล่าวว่ามีคนแอบใช้ผ้าเหลืองห่มเพื่อลักลอบเข้าไปหานางสนมของกษัตริย์ กษัตริย์จึงมีคำสั่งให้พระสงฆ์โกนคิ้วเพื่อให้พิสูจน์ได้ว่าใครเป็นพระจริง ใครเป็นพระปลอม ถ้าไม่ใช่พระภิกษุแล้วทำไมถึงไม่มีคิ้ว เรื่องราวก็มีลักษณะในทำนองนี้ แล้วจึงกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา
ความสำคัญของเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้แค่เล่าว่าต้นตอของการออกกฎให้พระสงฆ์โกนคิ้วนั้นมีกำหนดมาจากที่ใดหรือเริ่มโกนคิ้วกันตั้งแต่เมื่อไรเท่านั้น แต่จะเห็นว่าในเรื่องเล่าเหล่านี้สะท้อนภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างศาสนจักรและอาณาจักรอยู่ด้วย อาณาจักรมีอำนาจมากพอที่จะควบคุมเรือนร่างและพฤติกรรมของพระสงฆ์ โดยใช้คิ้วของพระสงฆ์เป็นเครื่องมือในทางการเมือง หรือเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบพฤติกรรมบางอย่างที่เห็นว่าผิดกฎหมายหรือผิดกฎศีลธรรมของคนในสังคม และภาพสะท้อนเหล่านี้ต่างหากคือความสำคัญอีกประการหนึ่งของเรื่องเล่านี้ ซึ่งเป็นเส้นเรื่องหรือข้อเท็จจริงบางอย่างที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่ามุขปาฐะ
ไม่เพียงแค่เรื่อง ‘คิ้ว’ เท่านั้นที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของอาณาจักรในการควบคุมศาสนจักรหรือใช้ศาสนจักรเป็นเครื่องมือทางการเมือง บนเรือนร่างของพระสงฆ์ยังคงมีอีกหลายประการที่ถูกควบคุมโดยอำนาจอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดลักษณะการห่มจีวร การกำหนดสีผ้าจีวร หรือแม้แต่การกำหนดแนวทางการเทศนาของพระสงฆ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ผูกโยงและถูกควบคุมด้วยอำนาจทางการเมืองฝ่ายอาณาจักรแทบทั้งสิ้น ทั้งที่ข้อห้ามหรือกฎต่างๆ เหล่านี้ไม่เคยถูกระบุไว้ในพระวินัยของพระพุทธเจ้า นั่นแสดงให้เห็นว่าทุกวันนี้อาณาจักรล้วนแล้วแต่มีอำนาจควบคุมพฤติกรรมหรือเรือนร่างของพระสงฆ์มากกว่าข้อห้ามในทางพระวินัย
เพราะฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์กับการเมือง หรือศาสนจักรกับอาณาจักรนั้นมีความสัมพันธ์กับอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน การเมืองกับศาสนาไม่เคยแยกตัวออกจากกัน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตลอด จนบางครั้งแทบจะมองไม่เห็นหรือมองข้ามเรื่องเหล่านั้นไปเลยด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เห็น สิ่งที่เป็น และที่ปรากฏจนกลายเป็นธรรมเนียมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งกับการเมือง หรือการเมืองไม่ใช่เรื่องของศาสนา จึงเป็นเพียงมายาคติเท่านั้น
ดังนั้นการเรียกร้องของพระสงฆ์ที่ปรากฏขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในปัจจุบัน ความน่าสนใจในประเด็นการเรียกร้องเรื่อง ‘คิ้ว’ จึงหมายถึงการเรียกร้องเพื่อปลดแอกตัวเองจากอำนาจฝ่ายอาณาจักรอย่างแท้จริง แล้วมุ่งเน้นหลักการของพระธรรมวินัยเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะเป็นยิ่งกว่า
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีเพียงเรื่องของป้ายประท้วงของกลุ่มพระสงฆ์ ความตกใจของคนในสังคมไทยกับป้ายประท้วงต่างๆ ของพระสงฆ์ และความตกใจต่อการออกมาร่วมชุมนุมของกลุ่มพระสงฆ์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน
ทั้งป้าย ‘เอาคิ้วเราคืนมา’ และบทบาทของพระสงฆ์ในการชุมนุมกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมออนไลน์ หลายคนไม่รู้ หลายคนสงสัย และอีกหลายคนต่อต้านปรากฏการณ์ดังกล่าว ทั้งคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มเยาวชน หรือแม้แต่คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มเยาวชนก็ตาม ความไม่รู้ ความไม่สงสัย และการต่อต้านเหล่านี้เกิดขึ้นจากชุดมายาคติที่ถูกปลูกฝังโดยรัฐพุทธศาสนาแบบไทยว่า ‘ศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ หรือ ‘การเมืองไม่ใช่เรื่องของศาสนา’ รวมถึงเชื่อว่า ‘พระสงฆ์ที่ดีควรมุ่งเน้นทางธรรม ไม่ควรยุ่งเรื่องทางโลก’ ทั้งสองสิ่งควรถูกแยกออกจากกัน ทางโลกและทางธรรมไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกัน และควรจะเป็นคนละเรื่อง
ชุดมายาคตินี้เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐในสมัยรัชกาลที่ 5-6 พยายามแยกสิ่งที่เรียกว่าทางโลกกับทางธรรมออกจากกัน (ในทางปฏิบัติ) สร้างคำอธิบายคุณค่าทางศาสนาและเป้าหมายของการเข้าสู่ศาสนาใหม่ แยกศาสนาและการศึกษาออกจากกัน พยายามมุ่งเน้นให้ศาสนาคือเรื่องของการมุ่งสู่ทางธรรมและนิพพานเป็นหลัก ไม่ใช่เป้าหมายในสังคมทางโลก ชุดคำอธิบายเหล่านี้ทำให้เรื่องทางโลกและทางธรรมแยกตัวออกห่างกัน
การรับรู้หรือมายาคติดังกล่าวฝังรากลึกในมโนทัศน์ของผู้คนในสังคม ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้แม้กระทั่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 การสร้างแนวคิดเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยก็ถูกจำกัดไว้ในพื้นที่ของทางโลกเพียงเท่านั้น คณะราษฎร พ.ศ. 2475 ไม่ได้ตระหนักที่จะทำให้ศาสนาเป็นเรื่องของเสรีภาพ อีกทั้งยังคงใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างระบอบใหม่ของตนเองด้วย มรดกชุดมายาคตินี้ยังคงถูกผลิตซ้ำและส่งต่อมาจนถึงคนในปัจจุบัน จนกลายเป็นชุดความคิดมายาคติของคนในปัจจุบันด้วย
ดังนั้นใครผู้ใดที่ทำให้สองยิ่งนี้เกี่ยวข้องกันหรือทำให้สัมพันธ์กัน (ในทางปฏิบัติ) เท่ากับการไปทำลายชุดความคิดมายาคติที่ฝังรากลึกในโลกทัศน์ทางศาสนาของคนในสังคม ผู้นั้นก็จะถูกกล่าวหาและโจมตีว่าเป็นผู้ไม่เข้าใจศาสนา หรือพระสงฆ์ใดที่ออกมาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็เท่ากับว่าเป็นพระสงฆ์ที่ไม่ดี ซึ่งการเข้าไปทำลายหรือเข้าไปแตะต้องชุดความคิดนี้ก็เท่ากับการเข้าไปสั่นคลอนอำนาจของรัฐไทยผู้ที่กำลังถูกอำนาจในการอธิบายชุดความคิดและชุดศีลธรรมความดีนี้ไว้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะมีหลายคนตกใจหรือเกิดอาการต่อต้านกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง รวมถึงผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพหลายคนตกหลุมพรางของชุดมายาคตินี้อย่างน่าเสียดาย
กล่าวโดยสรุป การเรียกร้องขอคืนคิ้วของกลุ่มพระสงฆ์ที่ออกมาร่วมการชุมนุมในปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่อง cute cute อีกต่อไป แต่คิ้วนั้นกลับสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวความสัมพันธ์และการผูกโยงกับเรื่องอำนาจทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐอาณาจักรใช้อำนาจในการควบคุมพฤติกรรมและเรือนร่างของพระสงฆ์ การเรียกร้องครั้งนี้จึงเท่ากับการเรียกร้องให้ศาสนามีความเป็นอิสระจากอำนาจของรัฐอย่างแท้จริง แล้วหวนกลับไปยึดหลักพระวินัยเป็นหลัก
ไม่เพียงแค่เท่านั้น ‘คิ้วพระที่ไม่ใช่เรื่อง cute cute’ นี้ยังสะท้อนให้เห็นและทำลายชุดมายาคติของคนจำนวนหนึ่งในสังคมที่ถูกผลิตและปลูกฝังโดยรัฐจนกลายเป็นชุดความคิดหลักในการมองโลกและศาสนาว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวกันด้วย หรือศาสนากับการเมืองคือคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นจงตระหนักไว้ว่าการรับรู้หรือความเข้าใจที่ว่า ‘ศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ ‘เสรีภาพไม่ใช่เรื่องทางศาสนา’ ก็คือความคิดทางการเมืองประเภทหนึ่งที่หลายคนกำลังตกหลุมพรางอยู่
ดังนั้นสิ่งที่ควรต้องตระหนักหรือควรเข้าใจใหม่ว่าสิ่งเหล่านี้ต่างสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกันมาตลอด และเสรีภาพทางโลกกับเสรีภาพทางศาสนาต้องดำเนินไปควบคู่กัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- พระสงฆ์ไทยกับคิ้วที่หายไป, ศิลปวัฒนธรรม, https://www.facebook.com/SilpaWattanatham/posts/3337701043025931
- สุรพศ ทวีศักดิ์, จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ จำกัด, 2560.
- พระไพศาล วิสาโล, (พิมพ์ครั้งที่ 4), พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2559.