วันนี้ (16 พฤจิกายน) ที่ห้องประชุมพรรคก้าวไกล อาคารรัฐสภา เกียกกาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, ณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรค, รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรค และ ส.ส. พรรคก้าวไกล แถลงต่อสื่อมวลชน เพื่อยืนยันความพร้อมในการอภิปรายวาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม 7 ฉบับในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้
พิธากล่าวว่า หากย้อนกลับไปตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอก นำโดยนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ออกมายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เนื่องจากความไม่พอใจต่อการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีที่มาจากการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามาโหวตเลือกตัวเองให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีความชอบธรรมใดๆ รองรับ นำมาสู่ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม 3 ข้อ คือ พล.อ. ประยุทธ์ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
“แต่อย่างที่ทราบ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เคยตอบสนองใดๆ ต่อข้อเรียกร้องของพวกเขาเลย หนำซ้ำกลับอ้างตัวเองเป็นผู้รักสถาบันฯ ผูกขาดความจงรักภักดี ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งควรจะอยู่เหนือการเมืองให้ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน จนข้อเรียกร้องได้มีการยกระดับไปตลอดการชุมนุมหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วประเทศ จนถึงวันนี้การชุมนุมไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของผู้ชุมนุมยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีการจัดตั้งกลุ่มมวลชนผู้ที่อ้างตัวผูกขาดความจงรักภักดี ทำร้ายผู้เห็นต่าง สร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดชังและแตกแยกที่พล.อ. ประยุทธ์อ้างว่ามาเพื่อยุติปัญหานี้ น่าเสียดายที่แม้พี่น้องประชาชนจะออกมาส่งเสียงถึงความต้องการมากถึงเพียงนี้ แต่กลับไม่เห็นถึงการตอบสนองใดๆที่แสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาตามที่พี่น้องประชาชนเรียกร้องเลย”
พิธากล่าวต่อไปว่า เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประชาชนจึงริเริ่มแก้ปัญหาของประเทศชาติบ้านเมืองด้วยตนเอง แม้ไม่ได้นั่งในอยู่สภาอันทรงเกียรติ แต่พวกเขาแค่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ประเทศไทยอันเป็นที่รัก น่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนร่วมกันล่ารายชื่อนี้กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา จึงเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองทุกพรรคจะได้ทำหน้าที่ให้สมกับความเป็นตัวแทนประชาชน
“เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงว่าทางออกของประเทศยังสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยระบบรัฐสภา อยากขอร้องเพื่อน ส.ส. ทุกคน ให้วางคำสั่งที่สั่งท่านทิ้งไว้ข้างหลัง และจงฟังในสิ่งที่ประชาชนกำลังเรียกร้อง หนทางข้างหน้าของประเทศชาติ พวกเราช่วยกันกำหนดได้ สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 พรรคก้าวไกลมีความพร้อมในการทำหน้าที่เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนี้ โดยจะมีผู้อภิปรายทั้งสิ้น 6 คน ส.ส. จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ และ ส.ส. ธีรัจชัย พันธุมาศ จะอภิปรายในส่วนของรายงานของกรรมาธิการฯ ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. หรือร่างภาคประชาชนที่ จอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน เป็นผู้เสนอ ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเป็นผู้อภิปรายเปิด ต่อด้วย ส.ส. เบญจา แสงจันทร์, ส.ส. ปดิพัทธ์ สันติภาดา และส.ส. รังสิมันต์ โรม จะเป็นผู้อภิปรายปิดท้าย” พิธากล่าว
พิธายังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการลงมติ เบื้องต้นพรรคก้าวไกลจะลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 7 ร่าง ทั้งของพรรคฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล และประชาชน โดยพรรคก้าวไกลจะเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของประชาชนเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการจะได้รับความสำคัญเป็นประการแรก
“พรรคก้าวไกลขอส่งสารถึงเพื่อนสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน โดยเฉพาะเพื่อนสมาชิกที่เป็นผู้แทนราษฎร หากไม่ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพและเสียงเรียกร้องของประชาชน ก็อย่าเรียกตัวเองว่าผู้แทนราษฎร สำหรับสมาชิกวุฒิสภา การลงมติในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ท่านจะได้แสดงสปิริตทางการเมือง ในการร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทย และขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาถอนรายชื่อที่เสนอญัตติไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน และสมาชิกวุฒิสภา การลงมติในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่สมาชิกวุฒิสภาจะแสดงสปริตทางการเมือง ร่วมกันลงมติเพื่อหาทางออกให้ประเทศชาติ รองรับเจตจำนงประชาชน” พิธากล่าว
ด้านพิจารณ์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า มีความกังวลใจต่อท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา เพราะถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติในการจัดสรรเวลา ว่าแต่ละฝ่ายจะจัดสรรเวลาเท่าไร ส่วนตัวเห็นว่าในกรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่สมาชิกวุฒิสภามีธงในใจที่จะคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วใช่หรือไม่ แต่ขณะนี้เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในการประชุมในวาระสำคัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้สมาชิกวุฒิสภาทุกท่านเห็นแก่บ้านเมือง รับฟังเนื้อหาอย่างเป็นกลาง ละทิ้งคำสั่งจากผู้มีอำนาจ และหวังว่าการอภิปรายทั้ง 2 วัน จะอยู่ในการอภิปรายอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและมีวุฒิภาวะ
หลังการแถลงมีคำถามจากสื่อมวลชนว่า ส.ส. ฝั่งรัฐบาลจะลงมติรับร่างทั้ง 7 ร่างหรือไม่ พิธากล่าวว่า จากกรณีที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะเน้นพิจารณาที่ร่างที่ 1 ของรัฐบาล และร่างที่ 2 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านเกี่ยวการการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในมาตรา 256 ส่วนอีก 5 ร่างที่เหลือที่เป็นร่างของพรรคก้าวไกลและของประชาชนนั้น ไม่มีสัญญานตอบรับใดใด จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
“หากรัฐสภาไม่รับร่างของภาคประชาชน มีการประเมินสถานการณ์กันว่าจะเกิดการชุมนุมนอกสภา หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก พรรคก้าวไกลพยายามเสนอทางออกให้แก่ประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน เพื่อที่จะผ่าทางตัน ผ่าปัญหาวิกฤตของประเทศ เพื่อบรรเทาอุณหภูมินอกรัฐสภา ประคองปัญหาที่เกิดขึ้นให้อยู่ภายในระบบ เรียกร้องให้รัฐสภาเป็นต้นแบบในการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะในทุกๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ พล.อ. ประยุทธ์กลับโยนโอกาสเหล่านี้ทิ้งไปทุกครั้ง ในขณะที่สังคมต้องการความชัดเจน ต้องการสัญญาณจากผู้นำของประเทศว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับกลับมาคือความสับสน การเปลี่ยนจุดยืนไปมา ตั้งแต่กล่าวว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายก็ยื้อเวลาจนมีการตั้งคณะกรรมาธิการก่อนรับหลักการ จนถึงขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีความจริงใจ และไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน
“เรายืนยันว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล คิดว่าการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ จะมีผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองมากกว่าการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่รัฐบาลจะจัดตั้งขึ้นมา ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งคือทางออกที่ดีที่สุด จากนั้นค่อยไปคุยกันต่อในการแปรญัตติเพื่อคุยในเนื้อหาและรายละเอียด แก้หมวดไหนอย่างไรได้บ้าง องค์ประกอบของ สสร. หรือการทำประชามติควรเป็นย่างไร นี่คือการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในรัฐสภาตามกลไกระบอบประชาธิปไตยที่ดีที่สุด มากกว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ปรองดอง หรือการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการทำแบบนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไร” พิธากล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล