×

ลงนามแล้ว ความตกลง RCEP ครั้งประวัติศาสตร์ ผู้นำประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน มุ่งยกระดับการค้าการลงทุนอาเซียน

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2020
  • LOADING...
RCEP

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) เวลา 10.30 น. ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล

 

ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุม ดังนี้ 

 

เหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังรายงานผลความสำเร็จของการเจรจาและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง RCEP ร่วมกับผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตจำนงที่จะลงนามในความตกลง RCEP โดยยินดีที่ได้เห็นถึงความพยายามของประเทศสมาชิกในการเจรจาร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งความตกลง RCEP ถือเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน

 

พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ และจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม RCEP ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ โดยทราบดีว่าประเทศสมาชิกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความอ่อนไหวที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ และล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

พล.อ. ประยุทธ์ เน้นย้ำว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคและประชาชนของพวกเราได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนต่อไป

 

หลังจากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้าร่วมพิธีลงนามความตกลง RCEP โดยผู้แทนจาก 15 ประเทศ ในส่วนของไทย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนาม และ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นสักขีพยานในการลงนาม 

 

อนึ่ง ในเวลา 14.00 น. พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 โดยในพิธี เหวียน ซวน ฟุก ได้กล่าวถ้อยแถลงและส่งมอบค้อนประธานอาเซียนให้แก่เอกอัครราชทูตบรูไนฯ ประจำเวียดนาม และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ทรงกล่าวถ้อยแถลงตอบ

 

ด้านจุรินทร์เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม RCEP ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประกาศความสำเร็จของการเจรจาความตกลง RCEP หลังจากความพยายามทุ่มเทเกือบ 8 ปี โดยผู้นำ RCEP ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลง ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน และสร้างความแข็งแรงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค 

 

จุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับและสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ผู้นำ RCEP ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งกระบวนการภายในสำหรับการให้สัตยาบันความตกลง เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับโดยเร็ว ซึ่งความตกลงจะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลง ในขณะเดียวกันสมาชิก RCEP ยังคงเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาเข้าร่วมความตกลงในฐานะที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม และมีบทบาทสำคัญในการเจรจา RCEP ตั้งแต่ปี 2555

 

จุรินทร์กล่าวเสริมด้วยว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดที่ริเริ่มโดยอาเซียน ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนของภูมิภาค 

 

ทั้งนี้ ความตกลง RCEP ซึ่งประกอบด้วย 20 บท เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจาก FTA ของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนมีเรื่องใหม่ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความตกลง RCEP เป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 

 

โดยข้อมูลทางการค้าในปี 2562 ความตกลง RCEP ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising