ในที่สุด RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ก็บรรลุผลสำเร็จ หลังจาก 15 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และอีก 5 ประเทศ หรือ Plus 5 คือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลงนามความตกลงนี้เรียบร้อยแล้วในวันนี้ (15 พฤศจิกายน)
อาจมีคำถามว่า RCEP คืออะไร
RCEP ถือเป็นหนึ่งในความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาคที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่ง RCEP นับเป็นกรอบการค้าเสรีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 31% ของ GDP โลก และยังมีขนาดตลาดผู้บริโภคใหญ่ที่สุดด้วยจำนวนประชากรรวมกันราว 2.3 พันล้านคน
อย่างไรก็ตาม ความตกลงนี้ยังต้องรอให้รัฐสภาของชาติในหลายๆ ประเทศให้สัตยาบันก่อน ถึงจะมีผลบังคับใช้ได้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
RCEP ส่งผลกระทบอย่างไรกับไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า RCEP จะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของไทยใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก RCEP เป็นความตกลงที่เปิดกว้างที่สุดและมีมาตรการด้านต่างๆ สูงที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา เช่น การตั้งเป้าหมายลดภาษีสินค้าสูงที่สุดถึง 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะสร้างโอกาสให้สินค้าไทยทำตลาดได้มากขึ้นจากความตกลงเดิมที่มีอยู่ โดยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกไปตลาดเหล่านี้มูลค่า 9.18 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการส่งออกทั้งหมด
ประเด็นที่สอง RCEP ช่วยสร้างสมดุลการค้าและการลงทุนในสองฟากฝั่งของโลก โดยเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของชาติเอเชียที่มีจีนเป็นแกนนำความตกลง เพื่อให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ช่วยคานอิทธิพลชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า RCEP จะกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตเหนียวแน่น เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าในซีกโลกตะวันออก ด้วยจุดเด่นของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins) ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความยืดหยุ่นมากกว่าความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับประเทศในกลุ่ม Plus 5
ส่วนไทยซึ่งมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนอย่างเหนียวแน่นกับประเทศสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ระยะข้างหน้า ไทยจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น
โดยผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ขณะที่ผลทางอ้อมมาจากการที่ประเทศ Plus 5 จะลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งแรก ซึ่งการเกิดขึ้นของ RCEP จะยิ่งทำให้ไทยยังคงเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านการผลิตและส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยอาจได้อานิสงส์ด้านการค้าและการลงทุนจากการเข้าเป็นสมาชิก RCEP แต่ในความเป็นจริง ข้อตกลง RCEP อาจเอื้อประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่ม Plus 5 มากกว่า
โดยการเกิดขึ้นของ RCEP แทบไม่เปลี่ยนภาพโครงสร้างการค้าของไทยมากนัก เนื่องจากผลบวกทางตรงเพิ่มเติมจากการเปิดเสรีการค้ามีจำกัด เพราะสินค้าส่วนใหญ่ได้ลดภาษีไปแล้วตามกรอบ FTA อาเซียนกับประเทศ Plus 5 ขณะที่ผลบวกทางอ้อม กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งไปยัง Plus 5 อยู่แล้ว
นอกจากนี้การที่อินเดียยังไม่เข้าร่วมความตกลง RCEP ทำให้ข้อตกลงนี้มีความน่าสนใจน้อยลงในสายตาของนักลงทุนต่างชาตินอกกลุ่ม RCEP ซึ่งต้องรอดูว่าอินเดียจะตัดสินใจกลับเข้ามาร่วมกับกรอบความตกลงนี้อีกครั้งหรือไม่
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล