วันนี้ (9 พฤศจิกายน) สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมกันเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาได้มีการยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 และประชาชนเข้าชื่อยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 1 ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างประธานรัฐสภาเตรียมบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยปรากฏว่าญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับได้มีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น
โดยเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชน ‘ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ’ หมายความว่าหากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้จะกระทำมิได้ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจเฉพาะที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 คือให้มีแต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น
ดังนั้นการกระทำใดๆ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 จึงกราบเรียนประธานรัฐสภาโปรดพิจารณาบรรจุญัตตินี้เป็นญัตติด่วนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา
สำหรับสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนในการเสนอญัตติดังกล่าวมีทั้งสิ้นจำนวน 73 คน แบ่งเป็น ส.ว. 48 คน อาทิ กิตติ วะสีนนท์, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, พล.อ. อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, สังศิต พิริยะรังสรรค์, พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์, ภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นต้น
ส.ส. พรรคพลังประชารัฐจำนวน 25 คน อาทิ สมพงษ์ โสภณ, ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ, สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ, พรรณสิริ กุลนาถศิริ, ยงยุทธ สุวรรณบุตร เป็นต้น
ด้าน วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) แถลงข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเชิญวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และคณะรัฐมนตรี มาร่วมประชุมในวันที่ 11-12 พฤศจิกายน เพื่อหารือเรื่องการบรรจุระเบียบวาระการประชุม รวมทั้งการกำหนดเวลาในการอภิปราย จากนั้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน จะออกระเบียบวาระการประชุม
ทั้งนี้เบื้องต้นได้กำหนดการประชุม 2 วันคือ วันที่ 17-18 พฤศจิกายน โดยขณะนี้วิปรัฐบาลได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็น 2 แนวทางคือ 1. นำร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วลงมติในวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ฉบับ iLaw) มาพิจารณาต่อ หรือ 2. นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw มาพิจารณาพร้อมกับทั้ง 6 ร่าง ซึ่งหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ส่วนประเด็นความคืบหน้าของคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น รูปแบบของคณะกรรมการตามที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอมามี 3 รูปแบบคือ 1. คณะกรรมการ 7 ฝ่าย 2. คณะกรรมการ 5 ฝ่าย และ 3. คณะกรรมการซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทั้งหมด โดยรูปแบบจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประธานรัฐสภา
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า