การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในอดีตที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าเครือข่ายสถานีโทรทัศน์และสำนักข่าวยักษ์ใหญ่อย่าง CNN, AP, NBC, Fox News และอื่นๆ ต่างรายงานผลการนับคะแนนในแต่ละรัฐและประกาศผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว จนคนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมที่นั่นนับคะแนนกันเร็วจัง
แต่การนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 ใช้เวลาถึงเกือบ 5 วันก่อนที่สื่อมวลชนจะสามารถประกาศอย่างไม่เป็นทางการ (Projection) ว่า โจ ไบเดน ของพรรคเดโมแครตคือผู้ชนะที่ได้คะแนน Electoral College เกิน 270 เสียงและได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 เพราะการนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งจำนวนมากที่ส่งทางไปรษณีย์ในปีนี้มีขั้นตอนยุ่งยาก อย่างไรก็ดี การประกาศผู้ชนะนี้เป็นการประกาศกันเองของสื่อมวลชน เพราะรัฐบาลของแต่ละมลรัฐยังไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ผลอย่างเป็นทางการต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์
รูปแบบการลงคะแนนเสียงของสหรัฐอเมริกานั้นมีความหลากหลายกว่าประเทศไทยมาก เพราะอเมริกาพยายามทำให้การลงคะแนนเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้มีทางเลือกในการลงคะแนนหลากหลายรูปแบบ ทั้งการลงคะแนนที่คูหา เลือกตั้งล่วงหน้า หรือแม้กระทั่งส่งบัตรเลือกตั้งมาทางไปรษณีย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาทางเอกสาร (เช่น ลืมเอาเอกสารยืนยันตัวตนมา) สามารถลงคะแนนไปก่อนในบัตรเลือกตั้งกลุ่มพิเศษที่เรียกว่า Provisional Ballot
การทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ดีในแง่ที่ว่ามันทำให้การใช้สิทธิ์เป็นเรื่องง่าย เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีข้อเสียที่ทำให้การนับคะแนนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและยาวนานขึ้น เช่น กฎหมายของบางมลรัฐระบุว่า บัตรเลือกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์และได้รับการประทับตราไปรษณีย์ภายในวันเลือกตั้งจะต้องถูกนับด้วย ทำให้มลรัฐอาจจะต้องรออีกถึง 1 สัปดาห์กว่าที่จะสามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ เพราะต้องรอบัตรเลือกตั้งเหล่านั้นมาถึงสำนักงานเลือกตั้งเสียก่อน ในทำนองเดียวกัน บางมลรัฐก็จะอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์เช่นกันในการตรวจสอบ Provisional Ballot ที่มีปัญหาว่าสุดท้ายแล้วจะนำมานับคะแนนหรือไม่
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลมลรัฐจำเป็นต้องใช้เวลาเป็นหลักสัปดาห์ก่อนที่จะสามารถประกาศคะแนนอย่างเป็นทางการได้ และกฎหมายของรัฐบาลกลางก็ทราบดีถึงข้อจำกัดนี้ เลยระบุว่าการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Elector (ตัวแทนของแต่ละมลรัฐจะต้องมาประชุมลงคะแนนให้ผู้สมัครประธานาธิบดีที่ชนะเลือกตั้งในมลรัฐของตน) จะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันจันทร์แรกหลังวันพุธที่ 2 ของเดือนธันวาคม ห่างจากวันเลือกตั้งจริงกว่า 1 เดือน
แต่ชาวอเมริกันอยากรู้ผลคืนนั้นเลย
แน่นอนว่าชาวอเมริกันย่อมไม่อยากรออีกหลายสัปดาห์กว่าที่จะรู้ผลการเลือกตั้ง ดังนั้นสำนักข่าวต่างๆ จึงต้องพยายามหาวิธีในการที่จะประกาศผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาได้ให้เร็วที่สุด โดยวิธีที่พวกเขาใช้คือการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์มาทำนาย (Project) ว่าสุดท้ายแล้วคะแนนของผู้สมัครทั้งสองคนจะออกมาเป็นเช่นไร โดยอาศัยผลจากการนับคะแนนจริงบางส่วนจากหลายๆ ภูมิภาคในมลรัฐ, จำนวนการออกมาใช้สิทธิ์ (Turn Out) ของฐานเสียงของแต่ละพรรคร่วมกับผลจาก Exit Poll ซึ่งถ้าหากโมเดลระบุว่าผู้สมัครคนหนึ่งมีคะแนนนำผู้สมัครอีกคนหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ สำนักข่าวนั้นก็จะประกาศว่าผู้สมัครคนนั้นเป็นผู้ชนะอย่างไม่เป็นทางการ (Projected Winner)
แต่โมเดลก็ผิดพลาดได้
การใช้โมเดลที่ว่าเป็นเพียงการคาดการณ์ผล ซึ่งก็อาจจะผิดพลาดได้ถ้าตัวแปรต่างๆ ที่เอาไปใส่ในสมการมีความแม่นยำต่ำ โดยเฉพาะ Exit Poll ที่มีความคลาดเคลื่อนได้มาก ตัวอย่างของการคาดคะเน (Project) ผลที่ผิดพลาดและกลายเป็นข่าวดังที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์คือการที่สำนักข่าวหลายสำนัก Project กันตั้งแต่คืนเลือกตั้งว่า อัล กอร์ ของพรรคเดโมแครตจะชนะ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในการเลือกตั้งที่มลรัฐฟลอริดา และระบุว่ากอร์จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป (แต่คะแนนอย่างเป็นทางการออกมาปรากฏว่าบุชเฉือนชนะไปกว่า 500 คะแนน) ในรัฐนั้น
ความผิดพลาดในครั้งนั้นเกิดจากการที่ Exit Poll ประเมินคะแนนของกอร์สูงไปมาก ทำให้ในเวลาต่อมาสำนักข่าวก็ได้เรียนรู้บทเรียนและหันมาพึ่งพาผลคะแนนจริงมากขึ้นในการ Project และถ้าหากคะแนนของผู้สมัครสองคนที่ออกมาจากโมเดลสูสีกันมาก สำนักข่าวก็อาจที่จะเลือกไม่ Project หาผู้ชนะ แต่จะรอให้รัฐบาลมลรัฐนับคะแนนจนเสร็จสิ้นแล้วประกาศผู้ชนะอย่างเป็นทางการทีเดียว อย่างในกรณีของปีนี้ที่มลรัฐจอร์เจียไม่มีสำนักข่าวใด Project ว่าไบเดนหรือทรัมป์เป็นผู้ชนะ เพราะคะแนนของทั้งสองคนห่างกันเพียงไม่กี่พันคะแนน
ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ (ยกเว้นกรณีเจ้าปัญหาในปี 2000 ระหว่างบุชกับกอร์) สำนักข่าวมักจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถ Project หาผู้ชนะได้ตั้งแต่ในคืนเลือกตั้งเลย แต่อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำโมเดลเพื่อทำนายผลการเลือกตั้งในคราวนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าเดิมมาก เพราะการระบาดของไวรัสทำให้ชาวอเมริกันหวาดกลัวที่จะออกมาใช้สิทธิ์ที่คูหาเลือกตั้งและหันมาโหวตทางไปรษณีย์มากขึ้น
แต่ปัญหาที่สำนักข่าวต้องเจอก็คือไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าชาวอเมริกันจะหันมาออกเสียงทางไปรษณีย์เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากขนาดไหน และฐานเสียงของพรรคเดโมแครต/รีพับลิกันจะเปลี่ยนรูปแบบการออกเสียงแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการที่โมเดลจะคาดคะเนคะแนนของทรัมป์และไบเดนได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่เราต้องรอถึงเกือบ 5 วันก่อนที่สำนักข่าวต่างๆ จะกล้า Project ให้ไบเดนเป็นผู้ชนะที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย และได้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้เสียง Electoral College เกิน 270 เสียงในที่สุด ซึ่งสาเหตุที่สำนักข่าวต่างๆ ยังไม่กล้าฟันธงว่าไบเดนชนะที่เพนซิลเวเนีย เป็นเพราะมลรัฐนี้นับคะแนนของผู้ที่มาลงคะแนนเสียงที่คูหาเลือกตั้งก่อน ทำให้คะแนนของทรัมป์ในช่วงแรกนำถึงเกือบ 10% (เพราะฐานเสียงของรีพับลิกันไม่นิยมการโหวตทางไปรษณีย์) แต่พอหลังจากคืนวันเลือกตั้ง คะแนนของไบเดนก็ตีตื้นมาเรื่อยๆ เพราะเริ่มมีการนับบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์ (ซึ่งฐานเสียงของเดโมแครตชอบการลงคะแนนทางไปรษณีย์)
ในช่วง 2-3 วันแรกโมเดลยังไม่กล้าฟันธงว่าไบเดนจะชนะ เพราะยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์จะมีปริมาณมากน้อยขนาดไหน และไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าไบเดนจะชนะบัตรเลือกตั้งชุดนี้เป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากขนาดไหน จะเพียงพอที่จะเอาชนะคะแนนเลือกตั้งที่คูหาที่ทรัมป์นำมาในคืนเลือกตั้งหรือไม่ จนกระทั่งเช้าวันที่ 7 พฤศจิกายน (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่คะแนนของไบเดนพลิกกลับมานำ ทำให้โมเดลมั่นใจว่าเขาจะเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน เพราะบัตรเลือกตั้งที่เหลือที่ยังนับไม่เสร็จก็เป็นบัตรเลือกตั้งที่มาทางไปรษณีย์ทั้งสิ้น ซึ่งมีแต่จะทำให้ไบเดนได้คะแนนนำมากขึ้นไปอีก
และนี่ก็คือที่มาของการประกาศผู้ชนะเลือกตั้งโดยสื่อมวลชน โดยคะแนนที่เราเห็นกันยังไม่ใช่ตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาล
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า