การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่จะถึงนี้ ช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงถือได้ว่าเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของแคมเปญเลือกตั้งอย่างแท้จริง
การจัดแรลลีปราศรัยหาเสียงของผู้สมัครทั้งสองคนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายน่าจะเป็นตัวบอกเราได้อย่างดีว่าทั้งสองพรรคประเมินสถานการณ์และวางกลยุทธ์กันไว้อย่างไร
ไบเดน: ทวงคืนมิดเวสต์และเอาชนะที่สภาสูง
การหาเสียงในสัปดาห์สุดท้าย: เพนซิลเวเนีย (5 ครั้ง), มิชิแกน (2 ครั้ง), จอร์เจีย (2 ครั้ง), ฟลอริดา (2 ครั้ง), วิสคอนซิน (1 ครั้ง), ไอโอวา (1 ครั้ง), มินนิโซตา (1 ครั้ง)
แรลลีในวันที่ 2 พฤศจิกายน (ก่อนวันเลือกตั้ง): โอไฮโอและเพนซิลเวเนีย
ยุทธศาสตร์การหาเสียงของไบเดนตั้งแต่เขาได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือการทวงคืนภูมิภาคมิดเวสต์จากทรัมป์ให้ได้ เพราะผู้แทนพรรคคนเก่าอย่าง ฮิลลารี คลินตัน พ่ายแพ้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College หรือ EC) ไป เพราะเธอไปแพ้ทรัมป์อย่างเฉียดฉิวใน 3 มลรัฐในภูมิภาคมิดเวสต์อย่าง มิชิแกน, วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย (เธอแพ้มลรัฐละไม่ถึงครึ่งเปอร์เซนต์)
รวมถึงที่มินนิโซตาที่เธอเกือบจะทำให้พรรคเดโมแครตแพ้ที่มลรัฐนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษ (เธอชนะอย่างฉิวเฉียดแค่ประมาณ 1%) มลรัฐในภูมิภาคนี้มีชนชั้นแรงงานผิวขาวอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้นโยบายของไบเดนที่ออกมานั้นค่อนข้างมาเป็นทางสายกลางไม่ซ้ายจัดเพื่อดึงดูดคะแนนจากคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ไบเดนยืนยันเสียงแข็งมาตลอดว่าเขาไม่เอาด้วยกับนโยบาย Green New Deal และการห้ามขุดเจาะน้ำมันด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Fracking ที่เป็นนโยบายชูโรงของนักการเมืองซ้ายจัดในพรรคอย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส
ไบเดนรู้ดีว่าอุตสาหกรรมคาร์บอนเหล่านี้เป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจของมลรัฐในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพนซิลเวเนียและโอไฮโอ ซึ่งการออกนโยบายลดโลกร้อนอย่างสุดโต่งนั้นคือการฆ่าตัวตายในทางการเมืองดีๆ นี่เอง
การหาเสียงของไบเดนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก็สะท้อนถึงกลยุทธ์ที่เขาใช้มาแต่แรกเริ่ม คือการให้ความสำคัญกับภูมิภาคมิดเวสต์ โดยที่การหาเสียงของเขาเกือบจะทั้งหมดจะวนเวียนอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยที่เขาเน้นความสำคัญไปที่มลรัฐเพนซิลเวเนียที่เขามีคะแนนนำแบบยังไม่ขาด (ประมาณ 4%) ในขณะที่มลรัฐที่เขานำขาดแล้ว (นำประมาณ 8-10%) อย่างมิชิแกน วิสคอนซิน และมินนิโซตานั้น เขาใช้เวลาไม่มากนักในการหาเสียง
ส่วนในมลรัฐโอไฮโอที่เขายังมีคะแนนตามอยู่ ดูเหมือนว่าเขาจะตัดใจไปแล้วและใช้เวลาที่มลรัฐนี้แค่เพียงครั้งเดียว นอกจากภูมิภาคมิดเวสต์ มลรัฐที่ไบเดนไปเยือนถึงสองครั้งในช่วงโค้งสุดท้ายคือฟลอริดาและจอร์เจีย ซึ่งอยู่ทางใต้
ไบเดนน่าจะมอง 2 รัฐนี้เป็นแผนสำรองในกรณีที่เขาไม่สามารถโน้มน้าวชนชั้นแรงงานผิวขาวมาโหวตให้เขาได้จนทำให้เขาแพ้ที่เพนซิลเวเนีย เพราะการมาชนะที่ฟลอริดาหรือจอร์เจียก็จะทำให้เขามีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (EC) ถึง 270 เสียงได้เช่นกัน ซึ่งที่ฟลอริดาและจอร์เจีย เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งคะแนนคนกลุ่มนั้น กล่าวคือเขาสามารถไปพึ่งคะแนนคนสูงอายุและคนฮิสแปนิกเพื่อชนะที่ฟลอริดา และไปพึ่งคนผิวสีและคนขาวที่มีการศึกษาเพื่อชนะที่จอร์เจียแทนได้
นอกจากนี้แผนการหาเสียงของไบเดนยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเขาให้ความสำคัญกับการเอาชนะที่สภาสูง เพราะหลายรัฐที่เขาไปหาเสียงมีการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีความสูสีคู่คี่ด้วย อย่างเช่นที่มิชิแกน ที่เจ้าของที่นั่งเดิมจากเดโมแครตอย่าง แกรี ปีเตอร์ส ต้องป้องกันเก้าอี้จากผู้ท้าชิงจากรีพับลิกันอย่าง จอห์น เจมส์
ที่จอร์เจียก็มีการเลือกตั้ง ส.ว. ถึง 2 ที่นั่งและผู้สมัครจากเดโมแครตอย่าง จอน ออซซอฟ และราฟาเอล วอร์นอค ก็มีโอกาสจะชิงเก้าอี้มาจากรีพับลิกันได้ทั้งคู่
แต่กรณีที่ชี้ให้เราเห็นชัดที่สุดว่าไบเดนแคร์กับการเอาชนะที่สภาสูงมาก คือการที่เขาไปหาเสียงที่ไอโอวา ซึ่งเป็นมลรัฐที่มีคะแนน EC น้อยเพียงแค่ 6 เสียง และไม่อยู่ในยุทธศาสตร์การไปสู่ 270 เสียงของไบเดน แต่เขาก็ยังไปหาเสียงที่นี่เพราะเขาอยากให้ผู้สมัคร ส.ว. ของพรรคอย่างเทเรซา กรีนฟิลด์ ล้มเจ้าของที่นั่งเดิมจากรีพับลิกันอย่าง จอนี เอิร์นสต์ ให้จงได้
ทรัมป์: ปกป้องมิดเวสต์และตัดทางแผนสำรองของไบเดน
การหาเสียงในรอบสัปดาห์สุดท้าย: เพนซิลเวเนีย (7 ครั้ง), ฟลอริดา (4 ครั้ง), มิชิแกน (3 ครั้ง), วิสคอนซิน (2 ครั้ง), นอร์ทแคโรไลนา (2 ครั้ง), แอริโซนา (2 ครั้ง), จอร์เจีย (1 ครั้ง), ไอโอวา (1 ครั้ง), มินนิโซตา (1 ครั้ง), เนแบรสกาเขต 2 (1 ครั้ง), โอไฮโอ (1 ครั้ง) และนิวแฮมป์เชียร์ (1 ครั้ง)
แรลลีในวันที่ 2 พฤศจิกายน (ก่อนวันเลือกตั้ง): เพนซิลเวเนีย, นอร์ทแคโรไลนา, มิชิแกน และวิสคอนซิน
ทรัมป์ก็รู้เช่นเดียวกันกับไบเดนว่าทางเดียวที่เขาจะชนะเลือกตั้งสมัย 2 ได้คือเขาจะต้องปกป้อง 3 มลรัฐในภูมิภาคมิดเวสต์ที่เขาเอาชนะคลินตันมาอย่างฉิวเฉียดให้ได้หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องรักษาเพนซิลเวเนียไว้ให้ได้อย่างน้อย 1 มลรัฐ
ดังนั้นแผนการหาเสียงของเขาจึงคล้ายกับไบเดน คือเน้นการทุ่มเททรัพยากรไปที่เพนซิลเวเนีย อย่างไรก็ดี ทรัมป์เสียเปรียบไบเดนตรงที่ว่าไบเดนยังมีแผนสำรองที่เขาสามารถจะไปชนะที่มลรัฐทางภาคใต้หรือตะวันออกทดแทนการแพ้ที่เพนซิลเวเนียได้ ทำให้ทรัมป์ต้องไปหาเสียงที่ฟลอริดา จอร์เจีย แอริโซนา และเนแบรสกาเขต 2 ด้วยเพื่อปิดทางแพลน B ของไบเดน
ซึ่งในบรรดามลรัฐแพลน B ทั้งหมดของไบเดน ทรัมป์ทุ่มเวลาหาเสียงไปที่ฟลอริดามากที่สุด (เขาไปแรลลีที่รัฐนี้ถึง 4 ครั้ง) ซึ่งเหตุผลที่เขาเลือกฟลอริดามากขนาดนั้น (มากกว่ามิชิแกนหรือวิสคอนซินเสียอีก) ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เป็นไปได้ว่าโพลภายในอาจจะบอกว่าเขามีคะแนนตามอยู่ที่ฟลอริดา และการแพ้ที่ฟลอริดาจะมีผลเสียหายอย่างมากต่อการไปถึง 270 เสียงของเขา เพราะฟลอริดาเป็นมลรัฐใหญ่ที่มี EC ถึง 29 เสียง
ถ้าไบเดนชนะที่ฟลอริดาได้ เขาจะต้องการอีกแค่มลรัฐเดียวจากภูมิภาคมิดเวสต์เพื่อชนะเลือกตั้ง นอกจากนี้ ทรัมป์เองก็เหมือนจะรู้ตัวดีว่าหนทางการไปสู่ 270 เสียงของเขาในคราวนี้จะอยู่ที่การเล่นเกมรับเพื่อรักษามลรัฐเดิมที่เขาเคยชนะเป็นหลัก ทรัมป์ไม่เปิดเกมบุก โดยเขาออกไปหาเสียงในมลรัฐที่คลินตันเคยชนะเพียงแค่สองครั้ง (คือที่มินนิโซตาและนิวแฮมเชียร์อย่างละครั้ง) ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย
เมื่อดูจากแผนการหาเสียงที่ว่ามานี้ ดูเหมือนเราพอจะคาดเดาได้ว่าทรัมป์อาจยอมยกธงขาวในมลรัฐที่เคยถือว่าเป็น Battleground State ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ อย่างเวอร์จิเนีย เนวาดา และโคโลราโดไปเสียแล้ว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์