×

เหมือนเดิมหรือแตกต่าง? มองข้ามช็อตนโยบายสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางหลังเลือกตั้ง

28.10.2020
  • LOADING...
นโยบายสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางหลังเลือกตั้ง

HIGHLIGHTS

ึ7 mins read
  • 4 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประสบความล้มเหลวในการจัดการปัญหาปาเลสไตน์และการผลักดันแผนสันติภาพตะวันออกกลาง
  • อันที่จริงไม่ว่าพรรคเดโมเครตหรือรีพับลิกันจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล นโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติ คงไม่มีความต่างระหว่างกันมากนัก เพียงแต่แนวทางและวิธีการอาจมีความแตกต่างกันบ้าง 
  • อย่างในกรณีอิหร่านนั้นมีแนวโน้มว่า ไบเดนอาจกลับไปยึดหลักการตามข้อตกลงนิวเคลียร์อีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การเปิดโต๊ะเจรจา และอีกสิ่งที่อาจเปลี่ยนไปก็คืออุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านอาจลดน้อยลง แม้จะยังไม่หมดไปก็ตาม

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เป็นเรื่องที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ว่า โดนัล ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันจะได้รับชัยชนะกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย หรือ โจ ไบเดน ผู้สมัครจากพรรคเดโมเครต จะคว้าชัยขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ล้วนมีผลต่อสถานการณ์ความเป็นไปของโลกทั้งสิ้น รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านขณะนี้ด้วย 

 

หากทรัมป์ได้รับเลือกให้เข้ามาสู่อำนาจอีกครั้ง นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อตะวันออกกลางก็คงไม่ปรับเปลี่ยนไปมากนัก แต่หาก โจ ไบเดน ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ นโยบายสหรัฐฯ ต่อตะวันออกกลางจะเปลี่ยนไปอย่างไร

 

บทความนี้มีเป้าประสงค์ที่จะเปรียบเทียบนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์กับนโยบายของ โจ ไบเดน ที่มีต่อตะวันออกกลาง โดยศึกษาผ่านประเด็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคในขณะนี้ และมองแนวโน้มบทบาทของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางหลังการเลือกตั้งครั้งนี้

 

สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์และหายนะในตะวันออกกลางต้องยอมรับว่าระยะหลังบทบาทของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางมีความเสื่อมคลายลงไปมาก กลยุทธ์ที่ประธานาธิบดีทรัมป์นำมาใช้เพื่อครองความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลางได้นำไปสู่ความเสียหายมากมาย อันทำให้สถานะของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

 

 

หายนะจากการขายอาวุธ

หลังจากที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ประเทศแรกที่ทรัมป์ได้ไปเยือนคือซาอุดีอาระเบีย มีการเจรจาซื้อขายอาวุธกันครั้งใหญ่ที่รวมมูลค่าทั้งหมดนับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทำเนียบขาวอ้างว่าเป็นความสำเร็จของสหรัฐฯ ที่สามารถขายอาวุธที่มีมูลค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีรายงานออกมาอีกว่าสหรัฐฯ กำลังขายเครื่องบินขับไล่แบบ F-35 ซึ่งเป็นอาวุธที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมถึงขายโดรนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ ทรัมป์อ้างมาตลอดว่า เขาไม่สนใจกิจการในตะวันออกกลาง

 

“สหรัฐฯ ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งและความรุนแรงที่นั่นตั้งแต่แรก” แต่การกระทำของเขากลับย้อนแย้ง เพราะขณะที่บอกว่าไม่ต้องการเข้าไปยุ่ง แต่กลับขายอาวุธจำนวนมากให้กับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลาง โดยอ้างว่าที่ทำไปก็เพื่อส่งเสริมการให้มีงานทำในสหรัฐฯ และสนับสนุนการผลิตในประเทศ แม้ว่าอาวุธที่ขายไปนั้นจะถูกนำไปใช้เข่นฆ่าผู้คนในภูมิภาคที่มีความขัดแย้งสูงอย่างตะวันออกกลางก็ตาม

 

 

หักหลังกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด

นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน (America First)’ ของทรัมป์ ถูกนำไปใช้ในสมรภูมิซีเรียเป็นที่แรกๆ หากยังจำกันได้เมื่อปลายปี 2019 หลังจากที่สหรัฐฯ ตัดสินใจถอนกองทัพออกจากซีเรีย แต่เหลือกองกำลังบางส่วนเอาไว้เพื่อประจำการอยู่ในพื้นที่บ่อน้ำมัน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาชี้แจงแถลงไขว่า “เราต้องปกป้องบ่อน้ำมันเอาไว้ก่อน แล้วค่อยมาตัดสินใจอีกทีว่าเราจะทำอะไรกับมันในอนาคต”

 

ข้อความดังกล่าวสะท้อนเป้าประสงค์ของสหรัฐฯ ในการคงกองกำลังไว้ในซีเรียได้อย่างชัดเจน เพียงแต่บ่อน้ำมันที่ทรัมป์พูดถึงมันเป็นของประชาชนคนซีเรีย ไม่ใช่เป็นของสหรัฐฯ ทว่าในความคิดของทรัมป์ สหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายที่ครอบครองผลประโยชน์จากบ่อน้ำมันเหล่านี้เพื่อชดเชยสิ่งที่สหรัฐฯ ได้ลงทุนลงแรงจากการส่งกำลังทหารเข้าไปดูแลประจำการ 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่งการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจถอนกองกำลังทหารออกไปจากซีเรีย แล้วปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดต้องเผชิญชะตากรรมแต่เพียงลำพังจากการปราบปรามโดยกองทัพตุรกี ก็ถือเป็นการ ‘ทรยศหักหลัง’ ชาวเคิร์ดอย่างรุนแรง เพราะชาวเคิร์ดถือเป็นกลุ่มที่ช่วยรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในซีเรียมาตลอด

 

เปิดศึกยั่วยุอิหร่าน

กรณีปัญหาอิหร่านคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง หากยังจำกันได้ สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ บารัก โอบามา ได้มีการพูดคุยเจรจากับอิหร่าน จนนำไปสู่การลงนามทำข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างกันในปี 2015 จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว พร้อมทั้งใช้มาตรการกดดันสูงสุดต่ออิหร่านด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างชนิดที่ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนไหนใช้ ‘ยาแรง’ ถึงขนาดนั้น นอกจากจะกดดันอิหร่านทางเศรษฐกิจ ทรัมป์ยังข่มขู่เอาเรื่องกับประเทศต่างๆ ในโลกที่ยังมีการติดต่อค้าขายกับอิหร่านอีกด้วย

 

อิหร่านตอบโต้ด้วยการแสดงท่าทีว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ที่มีการลงนามกันจะไม่มีผลในการหยุดยั้งไม่ให้อิหร่านเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศอีกต่อไป จนท้ายที่สุดในเดือนกันยายน 2019 ก็เกิดเหตุโจมตีคลังน้ำมันในประเทศซาอุดีอาระเบียครั้งใหญ่

 

หลายฝ่ายเชื่อว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน พุ่งถึงขีดสุด เมื่อสหรัฐฯ ลอบสังหาร นายพล กอซิม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองทัพกุดส์ของอิหร่านในช่วงต้นเดือนมกราคม 2020 ตามมาด้วยการตอบโต้ของอิหร่านด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าไปถล่มฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรัก

 

ล่าสุดสหรัฐฯ ยังได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติฟื้นมาตรการคว่ำบาตรทุกมาตรการของสหประชาชาติที่เคยถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงที่ 2231

 

มตินี้ได้ให้สิทธิแต่ละประเทศในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่เรียกว่า ‘Snapback’ โดยไม่มีเงื่อนไข หากอิหร่านฝ่าฝืนพันธสัญญาภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นฝ่ายที่ถอนตัวออกไปจากข้อตกลงนี้เสียเอง สหรัฐฯ จึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีประเทศไหนเลยที่สนับสนุนสหรัฐฯ ในเรื่องการนำมติที่ 2231 กลับมาใช้อีก

 

ริชาร์ด ฮาสส์ จากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสหรัฐฯ ได้พูดเหน็บแนมเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจว่า นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของทรัมป์ ทำให้สหรัฐฯ ดำรงอยู่ ‘คนเดียว’ อย่างแท้จริง และนโยบายดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวก็ทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากเสียยิ่งกว่าอิหร่านอีก

 

ข้อตกลงสันติภาพที่ล้มเหลว

แผนการสันติภาพในตะวันออกกลางของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เปิดเผยออกมาเมื่อปลายเดือนมกราคม 2020 เป็นการสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นการรับรองเมืองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเมื่อเดือนธันวาคม 2017, การย้ายสถานทูตของสหรัฐฯ จากเทลอาวีฟไปยังเมืองเยรูซาเลมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2018, การรับรองเขตที่ราบสูงโกลันว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของอิสราเอลเมื่อเดือนมีนาคม 2019 และการสนับสนุนอิสราเอลในการขยายนิคมชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ที่ยึดครองจากปาเลสไตน์

 

โดยท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ได้รับการประเมินจากประชาคมโลก (โดยเฉพาะโลกมุสลิม) ว่าเป็นการลำเอียงเข้าข้างอิสราเอล เรื่องนี้ถูกปาเลสไตน์และประเทศต่างๆ คัดค้าน อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง

 

ขณะเดียวกัน การเป็นตัวกลางปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับหลายประเทศที่เกิดขึ้นล่าสุดก็ถูกมองว่า เป็นเพียงความพยายามของประธานาธิบดีทรัมป์ ในการที่จะป่าวประกาศเพื่อเรียกคะแนนเสียงก่อนศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 

 

เรื่องนี้จึงไม่ใช่ความสำเร็จของสหรัฐฯ แต่อย่างใด เพราะอันที่จริงแนวโน้มและปัจจัยของการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการจัดการปัญหาปาเลสไตน์และการผลักดันแผนสันติภาพตะวันออกกลาง 

 

นโยบายสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางหลังเลือกตั้ง

 

นโยบายตะวันออกกลางของ โจ ไบเดน

อันที่จริงไม่ว่าพรรคเดโมเครตหรือรีพับลิกันจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล นโยบายของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติ คงไม่มีความต่างระหว่างกันมากนัก เพียงแต่แนวทางและวิธีการอาจมีความแตกต่างกันบ้าง

 

ในกรณีอิหร่านนั้น หากไบเดนชนะการเลือกตั้งก็มีแนวโน้มว่าเขาจะกลับไปยึดหลักการตามข้อตกลงนิวเคลียร์อีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การเปิดโต๊ะเจรจากับอิหร่าน

 

โจ ไบเดน เคยกล่าวในประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้เขาจะไม่ได้คาดหวังอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก แต่แนวทางที่ฉลาดที่สุดในการรับมือกับภัยคุกคามที่มาจากอิหร่านคือการกลับไปทำตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับอิหร่านเมื่อปี 2015 

 

ดังนั้นดูเหมือนว่าไบเดนจะเลือกใช้แนวทางการทูตและการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในลักษณะพหุภาคี เพื่อแก้วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านมากกว่าที่จะใช้การกดดันและการปะทะเผชิญหน้ากับอิหร่านเหมือนทรัมป์

 

แม้ว่าการทำอย่างนี้จะทำให้พันธมิตรบางประเทศของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางไม่พอใจก็ตาม 

 

ขณะเดียวกันเขาก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง ‘เปลี่ยนระบอบการปกครอง’ อิหร่านอย่างที่ทรัมป์พยายามทำมาตลอด ถึงอย่างนั้นไบเดนก็ไม่ลืมที่จะวิพากษ์วิจารณ์อิหร่านเรื่องการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ เขาต่อต้านนโยบายแทรกแซงประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางของอิหร่าน รวมถึงกล่าวหาอิหร่านว่าใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่างในประเทศ 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ไบเดนก็ออกมาประกาศชัดเจนที่จะยุติการสนับสนุนค่ำจุ้นอำนาจเผด็จการในตะวันออกกลาง แม้จะเป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ตาม นอกจากนั้นเขายังต่อต้านการทำสงครามในเยเมน และไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งและสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ในอีกด้านหนึ่งเขาส่งเสริมให้ซาอุดีอาระเบียปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมืองของประเทศให้มีความทันสมัย สนับสนุนให้พันธมิตรของตนในอิรักมีความเข้มแข็งและพึ่งพิงชาติพันธมิตรในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับตะวันออกกลางของสหรัฐฯ พร้อมๆ ไปกับการให้คำมั่นที่จะลดกองกำลังทหารสหรัฐฯ ในภูมิภาค

 

ในช่วงที่ไบเดนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เขาเน้นย้ำสร้างความมั่นใจว่าสหรัฐฯ จะยังคงยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงให้อิสราเอล สนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง และที่สำคัญคือการให้หลักประกันว่าอิสราเอลจะต้องเป็นประเทศที่มีความเหนือกว่าชาติอาหรับในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์

 

อันที่จริงทั้งเดโมเครตและรีพับลิกันต่างก็มีแนวปฏิบัติตามหลักการเช่นที่ว่ามานี้เหมือนกัน เพราะต่างก็ถือว่าการดำรงอยู่ของอิสราเอลคือผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง, ต่างฝ่ายต่างก็ยึดแนวทางการมีสองรัฐอยู่เคียงคู่กัน (Two State Solutions) เป็นกรอบในการแก้ปัญหาปาเลสไตน์และสนับสนุนให้อิสราเอลกับรัฐอาหรับมีการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพียงแต่พรรคเดโมเครตอาจแสดงบทบาทการแก้ปัญหาปาเลสไตน์โดยยึดโยงกับระเบียบเดิมที่ดำรงคงอยู่มาตลอด เช่น การไม่เห็นด้วยกับการขยายดินแดนเข้าไปในเวสต์แบงก์ของอิสราเอล หรือไม่เห็นด้วยกับการประกาศยอมรับเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล หากปัญหาปาเลสไตน์ยังไม่ได้รับการแก้ไข เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ หากไบเดนชนะการเลือกตั้ง นโยบายสหรัฐฯ ที่มีต่อตะวันออกกลางก็คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคของทรัมป์มากนัก โดยเฉพาะประเด็นปัญหาปาเลสไตน์และกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง เขาอาจมีนโยบายที่เน้นการพูดคุยเจรจาเหมือนยุคของโอบามา แต่การพูดคุยเจรจาก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคของทรัมป์ โดยเฉพาะการปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอล ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ปรับเปลี่ยนกรอบคิดในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง แต่ถึงอย่างนั้น หากคำนึงถึงกระบวนการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางที่ล้มเหลวตลอดมา ก็มีการคาดเดากันว่า แม้ไบเดนจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เขาเองก็คงทำอะไรไม่ได้มากนัก

 

อย่างหนึ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงไปคือ หากไบเดนได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านก็คงลดน้อยลงไป แม้จะไม่หมดไปเสียทีเดียว

 

ขณะที่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างซาอุดีอาระเบียและอื่นๆ อาจถูกกดดันจาก ไบเดนมากขึ้นให้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนอิสราเอลก็คงไม่สามารถผลักดันผลประโยชน์ของตนเองในดินแดนปาเลสไตน์ได้ง่ายๆ เหมือนอย่างที่เคยทำในยุคของทรัมป์

 

บทบาทของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางหลังเลือกตั้ง

ย้อนกลับไปในยุคหลังสงครามเย็น (ช่วงระหว่างปี 1990-2000) ถือเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ได้ขยายฐานอำนาจของตนเข้าไปในตะวันออกกลาง มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรในภูมิภาคผ่านการทำสัญญาความร่วมมือทางการทหาร นำไปสู่การสร้างฐานทัพอเมริกาในหลายประเทศ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังได้ฉันทามติจากประชาคมโลกในการโดดเดี่ยวชาติที่เป็นศัตรูกับตน จนสุดท้ายได้นำกองทัพเข้าไปรุกรานอิรัก (2003) และอัฟกานิสถาน (2001)

 

ทว่าความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างอำนาจครอบงำตะวันออกกลางกลับเสื่อมคลายถดถอยลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อันเกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในสงครามอิรักปี 2003, วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือแม้แต่การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 คนหลัง ทั้ง บารัก โอบามา และ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายคล้ายกัน (แม้จะแตกต่างกันในเชิงวิธีการ) ที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางมากนัก จนกลายเป็นที่มาของการแสดงบทบาทกล้าๆ กลัวๆ ยังผลให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางลดน้อยถอยลงในระยะหลัง

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯ ต้องเว้นระยะห่างจากกิจการระหว่างประเทศ เพราะต้องหันมาสนใจกิจการภายใน ทั้งเรื่องระบบสาธารณสุข ปัญหาเศรษฐกิจ และการแสดงความรับผิดชอบตามกรอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

 

ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯ ยังล้มเหลวที่จะเป็นผู้นำในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประกอบกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตัดสินใจถอนการสนับสนุนองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization ก็ยิ่งทำให้อิทธิพลที่เป็น ‘อำนาจอ่อน’ ของสหรัฐฯ (ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในภูมิภาค) ถูกกร่อนเซาะทำลายลงไปอีก

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม คงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐฯ จะถอนตัวออกไปจากตะวันออกกลางในเร็ววัน ในทางตรงข้าม อำนาจของสหรัฐฯ ก็คงยังดำรงอยู่ในภูมิภาค ฐานทัพของสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซียก็คงยังไม่หายไปไหน ขณะที่การค้าขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้ลูกค้าในตะวันออกกลางก็คงยังดำเนินต่อไป และการต่อต้านหยุดยั้งภัยคุกคามจากอิหร่านก็คงยังเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ ของสหรัฐฯ อยู่ เพียงแต่ว่าบทบาทและสถานะของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจครอบงำแต่ฝ่ายเดียวในภูมิภาคอย่างที่เคยเป็นมาในยุคหลังสงครามเย็นคงจะปรับเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เพราะมีทั้งจีนและรัสเซียที่กำลังผงาดขึ้นมาท้าทายอำนาจนำของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง

 

แต่ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ประธานาธิบดีคนใหม่คงจะให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรไปในกิจการภายในที่มีความสำคัญมากกว่าเรื่องกิจการต่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ดังที่ เบน โรดส์ ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “วันนี้โลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ได้จบสิ้นแล้ว” และที่สำคัญคือขณะนี้สถานการณ์การเมืองโลกได้ปรับเปลี่ยนไปมาก หากลำดับความสำคัญในเรื่องการต่างประเทศแล้ว สหรัฐฯ อาจให้ความสนใจกับสถานการณ์ความเป็นไปในยุโรป, อินโด-แปซิฟิก และลาตินอเมริกา มากกว่าจะมาใส่ใจกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่นับวันผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคจะยิ่งลดน้อยถอยลง

 

  

 

ภาพ: Getty Images, Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X