×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ดุเดือดแต่ไม่โกลาหล ทรัมป์กลับมาใช้กลยุทธ์โจมตีคู่แข่งแบบปี 2016, ไบเดนโต้ข้อกล่าวหาฉะฉานขึ้น: 5 ข้อสรุปจากศึกดีเบตยกสุดท้าย

26.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ผลดีต่อทรัมป์อีกอย่างที่ดีเบตคราวนี้ไม่สับสนอลหม่านเหมือนคราวก่อนก็คือ สารที่เขาพยายามจะสื่อออกมานั้นชัดเจนขึ้น ทรัมป์เลือกใช้กลยุทธ์คล้ายกับการดีเบตกับ ฮิลลารี คลินตัน ในปี 2016 คือเน้นการโจมตีที่ตัวบุคคลมากกว่าที่จะชูนโยบายของตัวเองมาเป็นจุดขาย
  • ทรัมป์พยายามโจมตีว่าไบเดนเป็นนักการเมืองจอมคอร์รัปชัน โดยหยิบยกเรื่องการทำธุรกิจในจีนและยูเครนของลูกชายไบเดนอย่างฮันเตอร์มาเป็นประเด็น (คล้ายกับการโจมตีเรื่องการปกปิดอีเมลและการขายแร่ยูเรเนียมกับอิหร่านของคลินตัน
  • ไบเดนตอบคำถามได้ฉะฉาน ลื่นไหลขึ้น และเข้าใจได้ง่ายขึ้น หลังศึกดีเบตรอบแรกเขาถูกวิจารณ์ว่าพูดตะกุกตะกัก จนทีมงานต้องออกมาชี้แจงว่า ไบเดนเคยเป็นโรคติดอ่างมาตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ไบเดนยังตอบโต้ได้ตรงประเด็นในดีเบตรอบนี้ โดยเฉพาะในข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลของไบเดนจะเป็นรัฐบาลสังคมนิยม

การดีเบตครั้งสุดท้ายระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรคริพับลิกัน และ โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต ได้สิ้นสุดลงไปแล้วในค่ำคืนวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งในการดีเบตครั้งนี้ คณะกรรมการจัดงานได้ออกกฎใหม่ให้ผู้ดำเนินรายการอย่าง คริสติน เวลเกอร์ สามารถปิดไมค์ของผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามในขณะที่ผู้สมัครอีกคนกำลังตอบคำถามเป็นเวลา 2 นาที เพื่อลดโอกาสการเกิดความโกลาหลเหมือนกับการดีเบตครั้งแรกที่ผู้สมัครทั้งสองคน (โดยเฉพาะทรัมป์) พูดแทรกกันไปมาจนผู้ชมทางโทรทัศน์ไม่สามารถจับใจความและเปรียบเทียบนโยบายของผู้สมัครทั้งสองคนได้ 

 

บทความนี้จะสรุปประเด็นที่น่าสนใจจาก 1 ชั่วโมงครึ่งที่ทั้งสองคนได้ประชันวิสัยทัศน์กันบนเวทีให้ผู้อ่านได้ทราบ

 

กฎใหม่ทำให้ภาพลักษณ์ของทรัมป์ดูดีขึ้น

ในการดีเบตครั้งแรกนั้นทรัมป์พยายามอย่างยิ่งที่จะช่วงชิงความได้เปรียบในการควบคุมเวทีด้วยการพูดแทรกไบเดนตลอดเวลา แต่นั่นทำให้ภาพที่ออกมาบนเวทีเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน จนชาวอเมริกันออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่เป็นดีเบตที่น่าผิดหวังที่สุดในประวัติศาสตร์ และคนส่วนมากเลือกที่จะโทษทรัมป์ว่าเป็นต้นเหตุ เพราะโพลที่ออกมาหลังดีเบตชี้ไปในทางเดียวกันว่าทรัมป์เป็นผู้พ่ายแพ้ในเกมนั้น (โพลของ CNN ระบุว่า ไบเดนชนะทรัมป์ 60% ต่อ 28% ในขณะที่โพลของ CBS ให้ไบเดนชนะที่ 48% ต่อ 41% และขององค์กร Data For Progress ให้ไบเดนชนะที่ 51% ต่อ 39%)

 

ด้วยกฎใหม่ที่เขาถูกปิดไมค์เป็นเวลา 2 นาทีในขณะที่ไบเดนตอบคำถามอยู่ทำให้ภาพของทรัมป์ออกมาดูสุภาพสมเป็นผู้นำประเทศไปโดยปริยาย นอกจากนี้ทรัมป์เองก็เหมือนจะรู้ตัวว่าภาพของเขาที่ออกไปในการดีเบตครั้งแรกนั้นค่อนข้างแย่ ทำให้ตัวเขาเองก็พยายามจะไม่พูดแทรกไบเดนเองด้วย (แม้จะพ้นช่วงปิดไมค์ไปแล้ว) 

 

 

ทรัมป์โจมตีไบเดนแบบเดียวกับที่เคยโจมตีคลินตัน

ผลดีต่อทรัมป์อีกอย่างที่ดีเบตคราวนี้ไม่สับสนอลหม่านเหมือนคราวก่อนก็คือ สารที่เขาพยายามจะสื่อออกมานั้นชัดเจนขึ้น ทรัมป์เลือกใช้กลยุทธ์คล้ายกับการดีเบตกับ ฮิลลารี คลินตัน ในปี 2016 คือเขาเน้นไปที่การโจมตีตัวบุคคลมากกว่าที่จะชูนโยบายของตัวเองมาเป็นจุดขาย 

 

เขาพยายามโจมตีว่าไบเดนเป็นนักการเมืองจอมคอร์รัปชัน โดยหยิบยกเรื่องการทำธุรกิจในจีนและยูเครนของลูกชายของไบเดนอย่างฮันเตอร์มาเป็นประเด็น (คล้ายกับการโจมตีเรื่องการปกปิดอีเมลและการขายแร่ยูเรเนียมให้กับอิหร่านของคลินตัน), โจมตีว่าไบเดนเป็นนักการเมืองที่ดีแต่พูด แต่ไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน แม้จะเล่นการเมืองมาแล้วกว่า 40 ปี (คล้ายกับคลินตันที่เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งมาตั้งแต่ปี 1992) และโจมตีอีกว่ารัฐบาลของไบเดนจะถูกครอบงำโดยนักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตซ ซึ่งจะทำให้อเมริกากลายเป็นประเทศสังคมนิยม ซึ่งอันที่จริงแล้วทรัมป์ก็พยายามจะโจมตีไบเดนโดยใช้ประเด็นเหล่านี้ตั้งแต่ในการดีเบตครั้งแรก แต่เพราะความโกลาหลที่เกิดทำให้สารที่เขาจะสื่อไปไม่ถึงคนอเมริกันส่วนใหญ่

 

ไบเดนตอบคำถามฉะฉาน การนำเสนอนโยบายชัดเจน

ภายหลังการดีเบตครั้งแรก มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไบเดนตอบคำถามตะกุกตะกักและเหมือนต้องใช้ความพยายามในการที่จะคิดคำพูดออกมา ทำให้เกิดความกังวลขึ้นมาในใจของชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งว่าไบเดนอาจมีอายุมากเกินไปและมีอาการของโรคสมองเสื่อมอย่างที่ทรัมป์พยายามจะชูขึ้นมาเป็นประเด็น

 

ทีมงานของไบเดนพยายามแก้ตัวว่า ลักษณะการตอบคำถามของไบเดนดูตะกุกตะกักเป็นเพราะว่าไบเดนเป็นโรคติดอ่างมาตั้งแต่เด็ก และถึงแม้ว่าทุกวันนี้เขาจะรักษาจนกลับมาพูดได้ใกล้เคียงกับคนปกติแล้ว แต่ธรรมชาติของคนเป็นโรคนี้จะคิดคำพูดได้ช้าเมื่อต้องแย่งพูดกับคนอื่นและอาการนี้ก็ยังคงติดตัวไบเดนอยู่ ซึ่งผลงานในการดีเบตครั้งนี้ทำให้ข้อแก้ตัวที่ว่ามามีน้ำหนัก เพราะไบเดนตอบคำถามได้ฉะฉาน ลื่นไหลขึ้น และเข้าใจได้ง่ายขึ้น (เพราะไม่ถูกขัดจังหวะด้วยการพูดแทรกของทรัมป์) 

 

นอกจากนี้ไบเดนยังโต้ตอบข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ทรัมป์พยายามโจมตีได้อย่างแข็งกร้าวและตรงประเด็น โดยเฉพาะในข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลของไบเดนจะเป็นรัฐบาลสังคมนิยม ไบเดนยืนยันเสียงแข็งว่า เขาไม่เคยสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (อันจะทำให้รัฐบาลต้องขึ้นภาษีและทำให้ประกันแบบเอกชนต้องหายไป) รวมถึงนโยบายการแบนการขุดเจาะน้ำมันโดยอาศัยเทคโนโลยี ​Fracking และ Green New Deal เมื่อทรัมป์พยายามโจมตีเขาหลายครั้งเข้า ไบเดนก็ตอกกลับไปว่า คุณกำลังสับสนหรือเปล่าว่าคุณกำลังดีเบตกับใคร ที่เขาชนะการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) ก็เป็นเพราะเขาเสนอนโยบายแบบสายกลางมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้เสนอนโยบายซ้ายจัดอย่าง เบอร์นีย์ แซนเดอร์ส หรือ เอลิซาเบธ วอร์เรน

 

 

ทรัมป์ยังติดหล่มโควิด-19

เซกชันที่ดูจะเป็นปัญหาที่สุดในการตอบคำถามของทรัมป์คือ เรื่องการจัดการโควิด-19 เมื่อผู้ดำเนินรายการหยิบยกสถิติที่แสดงถึงความล้มเหลวของรัฐบาลของทรัมป์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต รวมถึงแนวโน้มที่สหรัฐอเมริกากำลังจะมีจุดพีกที่ 3 ในฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้ ซึ่งทรัมป์ไม่สามารถโต้เถียงอะไรได้มากนอกจากบอกว่าเขาทำดีที่สุดแล้ว โดยอ้างจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ออกมาจริงๆ นั้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก แต่พอทรัมป์พูดไปแบบนี้ก็ถูกไบเดนตอกกลับทันทีว่า ทรัมป์รับรู้ถึงอันตรายของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว แต่กลับปกปิดไม่บอกความจริงกับประชาชน ถ้าทรัมป์บอกความจริงแต่แรก สถานการณ์คงไม่เลวร้ายขนาดนี้

 

นอกจากนี้เขายังอ้างอีกอีกว่า ตอนนี้เรากำลังจะชนะโควิด-19 แล้ว เพราะเรากำลังจะมีวัคซีนในอีกไม่กี่อาทิตย์ แต่พอถูกผู้ดำเนินรายการถามย้ำพร้อมกับอ้างคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุขว่าเราน่าจะต้องรอถึงปี 2021 กว่าจะมีวัคซีนใช้ เขาก็ยอมรับเสียงอ่อยว่าเขาก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีวัคซีนในอีกไม่กี่อาทิตย์จริงๆ 

 

แต่สุดท้ายแล้วดีเบตครั้งนี้คงจะไม่สามารถเปลี่ยนใจใครได้

โพลที่สำรวจผู้รับชมการดีเบตทางโทรทัศน์ระบุตรงกันว่า ไบเดนเป็นผู้ชนะในการประชันวิสัยทัศน์ในครั้งนี้ โดยโพลของ CNN ระบุว่า ไบเดนชนะทรัมป์ 53% ต่อ 39% ในขณะที่โพลของ YouGov ให้ไบเดนชนะที่ 54% ต่อ 35% และขององค์กร Data For Progress ให้ไบเดนชนะที่ 52% ต่อ 41%

 

อย่างไรก็ดี เมื่อมองลึกลงไปเราจะพบว่า ตัวเลขของโพลของผู้ชนะดีเบตนั้นใกล้เคียงกับโพลของคะแนนนิยมของทั้งทรัมป์และไบเดนมาก ซึ่งก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เราเห็นว่าดีเบตครั้งนี้น่าจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนอเมริกันส่วนใหญ่ เพราะในขณะนี้เหลืออีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง และคนส่วนใหญ่ก็คงตัดสินใจได้แล้วว่าจะลงคะแนนเสียงให้ใคร และคนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกไบเดนก็คงจะมองว่าไบเดนดีเบตได้ดีกว่า ในทางตรงข้ามคนที่ตั้งใจจะเลือกทรัมป์ก็คงมองว่าทรัมป์ตอบคำถามได้เหนือกว่า

 

พบกับเว็บไซต์พิเศษ US ELECTION 2020 เกาะติดศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ ทั้งสถานการณ์ล่าสุดและบทความเจาะลึก ได้ที่นี่ https://thestandard.co/us-election-2020/

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising