เอ่ยชื่อ เทอร์รี่ ริชาร์ดสัน (Terry Richardson) แล้ว คุณจะได้ความคิดเห็นที่ต่างกันสุดขั้ว บางคนจะรังเกียจเพราะงานถ่ายภาพมีความอนาจารและไม่ได้สวยหรูตามแบบฉบับของไฮแฟชั่น ส่วนอีกกลุ่มก็จะหลงรักสไตล์ผลงานสุดเหวี่ยงของช่างภาพสุดอื้อฉาวคนนี้ที่เคยนิยามในหนังสือถ่ายภาพของตัวเอง ‘Terry World’ ว่า “ภาพถ่ายสไตล์หนังโป๊ยุค 70s ที่กลายเป็นความชิคในวงการแฟชั่น” บวกกับ “เป็นช่างภาพที่เหล่าป๊อปสตาร์ ซูเปอร์โมเดล คนข้ามเพศ เพื่อน สัตว์เลี้ยง และเซเลบยอมถ่ายภาพให้ในบริบทที่ไม่เหมือนช่างภาพคนอื่น” เหล่านี้เลยทำให้เทอร์รี่ดูเหมือนเป็น Anti-Hero สำหรับข้างหนึ่ง และตัวร้ายสำหรับข้างหนึ่งในวงการแฟชั่นมาหลายทศวรรษ
ล่าสุดเมื่อคดีการล่วงละเมิดทางเพศของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน หนึ่งในโปรดิวเซอร์หนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดได้ถูกเปิดโปงเมื่อเดือนก่อน ภูมิทัศน์ของวงการบันเทิงก็ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และวงการแฟชั่นเองก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริบทนี้ เมื่อบริษัท Condé Nast ผู้ผลิตนิตยสาร Vogue, W, Vanity Fair และ GQ ได้ออกมาประกาศจุดยืนว่าขอไม่ทำงานกับเทอร์รี่อีกต่อไป เพราะประวัติข้อกล่าวหาการล่วงละเมิดทางเพศของเขา โดยเจมส์ วูลเฮาส์ ที่ควบตำแหน่ง Executive Vice President และ Chief Operating Officer ของ Condé Nast International ได้ส่งอีเมลหาพนักงานในบริษัทเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยขอให้ยกเลิกการตีพิมพ์ผลงานภาพถ่ายกับเทอร์รี่ทั้งหมดหลังจากนี้ แม้ว่าจะถ่ายมาแล้วก็ตาม
เทอร์รี่ ริชาร์ดสัน กับเอ็ดเวิร์ด เอ็นนินฟูล บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue อังกฤษ คนใหม่ที่ New York Fashion Week ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2001 เทอร์รี่ก็โดนข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนที่นางแบบ ลิสกูลา โคเฮน ตัดสินใจเดินออกจากการถ่ายแบบของนิตยสาร Vogue เพราะเทอร์รี่และทีมงานขอให้เธอเปลื้องผ้าและทำออรัลเซ็กซ์ให้เขา ต่อมาก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันนับครั้งไม่ถ้วนที่ถูกเปิดโปงเกี่ยวกับพฤติกรรมของเทอร์รี่ ซึ่งนางแบบและนายแบบต่างทยอยออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและเล่าเหตุการณ์ของตัวเองที่มีตั้งแต่การถ่ายภาพกิจกรรมทางเพศกับผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี จนถึงการที่เทอร์รี่ส่งข้อความขอนอนกับนางแบบเพื่อแลกกับการได้ถ่ายงาน
มิหนำซ้ำ พอมาในปี 2010 นางแบบ เจมี่ เพ็ก ก็ได้เขียนบทความในเว็บไซต์ The Gloss เล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอถูกชักจูงให้ไปที่สตูดิโอของเทอร์รี่หลังจากปาร์ตี้งานหนึ่งในนิวยอร์ก และได้ขอให้เธอถอดเสื้อผ้าออก แต่เมื่อเธอไม่ยอม เทอร์รี่ก็ขอให้เธอเป็นตากล้องถ่ายเขาขณะแก้ผ้าแทน และต่อมาก็ให้เจมี่ช่วยตัวเองให้เทอร์รี่ดูเพื่อแลกกับงานถ่ายภาพในนิตยสาร ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทางฝ่ายเทอร์รี่เองไม่ได้ออกมาชี้แจงอะไร
พอในปี 2013 ช่วงที่ข่าวของเทอร์รี่กำลังพีคสุดๆ อลิส ลูอิส ชาวอังกฤษ ก็ได้สร้างฟอร์มการร้องเรียนออนไลน์ บนเว็บไซต์ Change.org ที่มีคนมาลงชื่อให้หยุดการว่าจ้างเทอร์รี่สูงถึง 40,000 คน แต่ก็มีเพียงบางแบรนด์ เช่น H&M, Aldo และ Vogue ที่ตัดสินใจไม่ทำงานกับเทอร์รี่ต่อไป สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลต่อจำนวนงานของเทอร์รี่ ทั้งยังทำให้เขากลับมีงานล้นมือก็ว่าได้ ซึ่งหลายครั้งที่ตัวเทอร์รี่ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาต่างๆ เขาก็จะปกป้องตัวเองโดยยอมรับว่ากิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเป็นสไตล์การถ่ายภาพส่วนตัวที่เขาจะโพสต์ลงบล็อก (ที่คนตามเยอะมาก) เป็นประจำ เทอร์รี่ยังบอกอีกว่าผู้หญิงและนางแบบทุกคนก็บรรลุนิติภาวะ มีการยินยอมและรู้ขอบเขตของการถ่ายภาพตามแบบฉบับของเขาอยู่แล้ว
เทอร์รี่ ริชาร์ดสัน กับโอปราห์ วินฟรีย์ และบารัก โอบามา
แล้วทำไมถึงคนในวงการยังจ้างเทอร์รี่?
พูดง่ายๆ มันคืออำนาจในการต่อรองและพลังในกำมือของช่างภาพคนนี้ แม้กระแสจะรุนแรงขนาดไหน บารัก โอบามา และโอปราห์ วินฟรีย์ ก็ยังเลือกจะถ่ายงานกับเขา บียอนเซ่ให้เขามากำกับมิวสิกวิดีโอ XO, เลดี้ กาก้า ได้ออกหนังสือถ่ายภาพเชิงสารคดีกับเขา หรือแม้แต่แบรนด์ Supreme ที่ช่วยกำหนดทิศทางของสังคม Youth Culture ก็เลือกใช้งานเทอร์รี่เป็นประจำ ซึ่งแน่นอนว่าสไตลิสต์ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม หรือเอเจนซีหลายคนต่างก็รู้ว่ากิจกรรมทางเพศรูปแบบต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อนางแบบไปร่วมงานกับเทอร์รี่ แต่ในวงการที่มีการแข่งขันกันสูง พวกเขาอาจเลือกที่จะปล่อยผ่านและไม่พูดอะไร เพราะต้องทำมาหากิน และอาจรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับนางแบบเมื่องานถ่ายแบบจบลงก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่คนนอกไม่ขอยุ่งเกี่ยว
เทอร์รี่ยังเคยพูดแบบอารมณ์ขันในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร Hint ปี 2007 ว่า “มันไม่ได้เกี่ยวหรอกว่าคุณรู้จักใครในวงการ แต่มันเกี่ยวว่าคุณจะยอมอมให้ใคร ผมไม่ได้มีรูในกางเกงยีนส์เอาไว้เฉยๆ นะ”
ดุนยา เนเซวิก นางแบบและผู้ช่วยผลักดันองค์กร Equity Models Union ที่ร่วมรณรงค์เรื่องสิทธิของนางแบบในการรับงานไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้กล่าวว่า “เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ไม่มีใครอยากพูดถึงมัน พวกนางแบบต่างก็อยากได้งานและไม่อยากโดนแบล็กลิสต์”
เอดี้ แคมป์เบลล์ หนึ่งในนางแบบชาวอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดขณะนี้ก็ได้ออกมาพูดว่า “ทุกครั้งที่นางแบบเดินเข้าเซตถ่ายแบบ เราก็เหมือนต้องถวายตัวและใบหน้าให้ช่างภาพ สไตลิสต์ ช่างทำผม และช่างแต่งหน้า พวกเราต้องยอมทิ้งอำนาจในการตัดสินใจในวันถ่าย ซึ่งความไม่เท่าเทียมของอำนาจถือว่ามหาศาล และผลกระทบก็จะส่งผลต่อตัวนางแบบมากยิ่งขึ้น” ซึ่งเอดี้ก็เป็นหนึ่งในนางแบบที่ออกมาสนับสนุนคาเมรอน รัสเซลล์ นางแบบชาวอเมริกันที่ได้เริ่มแฮชแท็ก #MyJobShouldNotIncludeAbuse ในอินสตาแกรม หลังเหตุการณ์ของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ซึ่งเปิดช่องทางให้นางแบบและนายแบบได้ส่งข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศที่เคยเกิดขึ้น โดยจะมีการขีดฆ่าชื่อของผู้กระทำออก เพราะไม่ได้ต้องการชี้ความผิดไปที่ใคร แต่อยากให้เห็นว่าเรื่องละเมิดทางเพศเหล่านี้มีอยู่จริงและเกิดขึ้นจริง
ฟอร์มการร้องเรียนออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org และไอจีของนางแบบ คาเมรอน รัสเซลล์
สิ่งนี้จึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนที่ไม่ใช่แค่กับเทอร์รี่คนเดียว หรือแค่เมืองเดียว ประเทศเดียว ทวีปเดียว แต่คือปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่น่าเศร้าคือเหล่าดาราหรือนางแบบชื่อดังอย่างเคนดัลล์ เจนเนอร์ หรือจีจี้ ฮาดิด ไม่มีวันจะตกเป็นเหยื่อของการโดนล่วงละเมิดทางเพศ เพราะอิทธิพลของพวกเธอที่ช่างภาพคงไม่กล้าแม้แต่จะแตะต้องตัว เพราะพวกเธอมีสื่อโซเชียลที่เขียนถึงเมื่อไหร่ก็น่าจะดับอนาคตช่างภาพคนนั้นๆ ได้ทันที แต่ในขณะเดียวกัน ช่างภาพคนไหนที่ก้าวสู่ระดับที่ได้ถ่ายภาพเคนดัลล์หรือจีจี้ ก็สามารถใช้เป็นสิ่งล่อลวงพวกนางแบบหรือนายแบบโนเนมที่อยากเข้าสู่วงการซึ่งถูกวาดฝันว่าแพงและสวยหรู
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมวงการแฟชั่นมาตื่นตัวตอนนี้? ช้าเกินไปไหม? แก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า?
เรามองว่า Condé Nast หรือเครือ Hearst (ที่เพิ่งจ้างให้เทอร์รี่ถ่ายปก Elle อเมริกา ฉบับเดือนมกราคม ปี 2018 ภายใต้การดูแลของบรรณาธิการบริหารคนใหม่ นีน่า การ์เซีย ก่อนจะยกเลิกภาพถ่ายเซตนี้ไป) ต่างมองเห็นว่าอิมแพ็กต์ของคดีล่วงละเมิดทางเพศของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ในฮอลลีวูดช่วงนี้รุนแรงและรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งอีกไม่นานกระแสการล่วงละเมิดทางเพศย่อมลามมาถึงวงการแฟชั่น และชื่อของเทอร์รี่ต้องปรากฏเป็นชื่อแรกๆ ซึ่งการที่เครือนิตยสารไม่ยอมเอาตัวเองออกมาก่อนก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่โตเชิงภาพลักษณ์ และเอาเข้าจริง สิ่งนี้อาจช่วย Condé Nast ในทางอ้อมให้ดูเหมือนเป็นผู้นำและผู้สร้างบรรทัดฐานให้วงการ
ส่วนการที่แบรนด์ Bvlgari และ Valentino ออกมาประกาศว่าจะหยุดใช้งานเทอร์รี่ หลังจากที่เขาได้ถ่ายแคมเปญล่าสุดของ Fall/Winter 2017 เรามองว่าเป็นการเซฟตัวเองก่อนเช่นกัน และยิ่งต่อไปถ้านิตยสารในเครือ Condé Nast หรือ Hearst ออกมาตรการแบนเทอร์รี่อย่างสิ้นเชิง แบรนด์แฟชั่นที่ต้องพึ่งพาพื้นที่สื่อเหล่านี้ก็ไม่ควรมีผลงานของเทอร์รี่ ไม่ว่าจะในเชิง Editorial หรือการลงโฆษณาเช่นกัน
ผลงานต่างๆ ของเทอร์รี่ ริชาร์ดสัน
เราได้แต่หวังว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์ที่วงการแฟชั่นกำลังตามและก็จะเงียบหายไปเมื่อทุกอย่างซาลง แต่เหตุการณ์นี้ควรเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยนำพาโลกแฟชั่น โลกบันเทิง และโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ให้มีอนาคตที่ปราศจากบุคคลที่ฉวยโอกาสและคิดว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
นอกเหนือไปจากนั้น สิ่งที่นางแบบและนายแบบเองอาจต้องเริ่มทำคือการพูดว่า ‘ไม่’ และรู้จักคุณค่าของตัวเอง แค่คุณตั้งใจและพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าวันหนึ่งคุณก็เกิดได้โดยไม่ต้องยอมเป็นของเล่นของใคร
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.theguardian.com/artanddesign/2010/mar/19/terry-richardson-fashion-photography-pornography
- observer.com/2004/09/terry-richardsons-dark-room/
- www.huffingtonpost.com/entry/terry-richardson-conde-nast_us_59ef3c58e4b0d14acdcc7a73
- www.huffingtonpost.com/entry/sparked-by-weinstein-allegationsaccusations-models-start-to-share-stories-of-their-abuse-in-the-industry_us_59e0bc96e4b0a52aca17429d
- www.thegloss.com/fashion/terry-richardson-is-really-creepy-one-models-story/
- www.complex.com/style/2014/08/a-brief-history-of-terry-richardsons-worst-moments/freelance-model-felice-fawn