วันนี้ (22 ตุลาคม) ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก มีการนัด 3 ฝ่าย ประกอบด้วย วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. พรรคเพื่อไทย จังหวัดน่าน พร้อมด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 6 คน เพื่อฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในกรณีที่ทั้ง 3 ฝ่ายยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรณีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยทั้ง 3 ฝ่ายได้ยื่นขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ขณะที่กลุ่มนิสิต นักศึกษา รวมถึง นพ.ชลน่าน ได้ยื่นเพิ่มเติมให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
จากนั้นในเวลา 09.00 น ศาลแพ่งออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งกรณีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่ม ‘คณะจุฬาฯ’ และ ‘TPC Awaken’ นำโดย ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ กับพวกรวม 6 คน เดินทางมาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-3 ฐานละเมิด ขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพิกถอนประกาศและคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่งและการกระทำมาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุม พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย
ศาลแพ่งพิเคราะห์เห็นว่า ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เป็นคำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีในมาตรา 16 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีคำสั่งห้ามนำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องศาลปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจพิพากษาคดีทั้งปวง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลยุติธรรมจึงมีอำนาจรับไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งรับฟ้องและรับไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้ (22 ตุลาคม) เวลา 13.30 น.
เบื้องต้นห้องพิจารณาของฝั่งนักการเมือง ส.ส. พรรคเพื่อไทย และอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ศาลแพ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องเช่นกัน โดยสรุปคดีนี้ศาลแพ่งรับฟ้องทั้ง 3 สำนวน และนัดไต่สวนฉุกเฉินว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ในวันนี้เช่นกัน
ภายหลังศาลรับฟ้องแล้ว กลุ่มนิสิตนักศึกษาในฐานะโจทก์เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจเหมือนเห็นแสงสว่าง และยังมีความยุติธรรมให้เห็น ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีบอกถอยคนละก้าวนั้น ความจริงรัฐบาลนำกลุ่มผู้ชุมนุมไปก้าวหนึ่ง อย่างไรก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ต้องยกเลิกตรงนี้ และเราจะสู้ต่อไปให้ถึงที่สุด เรื่องอดีตไม่สามารถแก้ไขได้ คาดหวังว่าศาลจะเป็นที่พึ่งในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ
ด้าน ปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทีมทนายความโจทก์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้เตรียมพยาน 2 ปากที่จะให้การในชั้นไต่สวนฉุกเฉินช่วงบ่าย ประกอบด้วย นักศึกษาคือ ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ โจทก์ที่ 1 และ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 ปาก น่าจะครอบคลุม เชื่อว่าศาลจะรับฟังและมีคำสั่งจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ในวันนี้หรือพรุ่งนี้
ด้าน นพ.ชลน่าน ระบุว่า ศาลมีเมตตา มีไต่สวนฉุกเฉินเพื่อทำการคุ้มครองชั่วคราวผู้ชุมนุม เพราะอีก 3 วันจะมีการชุมนุม หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองจะเป็นเรื่องที่ดี ส่วนที่สภาจะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 26-27 ตุลาคมนี้ การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่หากศาลมีคำสั่งออกมาก็เชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ขณะที่มองว่าท่าทีของนายกรัฐมนตรีที่มีการแถลงว่าจะมีการยกเลิก พ.รก. ฉุกเฉิน โดยเร็ว แต่แท้จริงแล้วยังไม่ทำการยกเลิก ซึ่งจะขอให้ศาลทำการไต่สวนว่าการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน นั้นเป็นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า