กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเรื่องตั้งตาคอยของคนเมือง ขณะที่ประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มต้องประสบกับภาวะภัยหนาว และหลายหน่วยงานได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว
ไม่กี่วันที่ผ่านมามีฝนโปรยปรายลงมาในกรุงเทพฯ ชั้นใน ท่ามกลางบรรยากาศของลมหนาวที่กำลังแผ่ความเย็น โลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นถึงปรากฏการณ์นี้ ประหนึ่งว่าเมืองไทยมีสามฤดูได้ภายในวันเดียว
เพื่ออธิบายต่อปรากฏการณ์นี้ THE STANDARD ต่อสายไปยัง ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อให้ช่วยอธิบายไขข้อข้องใจ
ดร.อานนท์อธิบายว่า ภาพรวมของสภาพภูมิอากาศประเทศไทยในปีนี้ค่อนข้างจะเข้าสู่สภาวะหนาวเร็วกว่าปกติ และคาดว่าฤดูหนาวรอบนี้จะยาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 หรือประมาณ 4 เดือน ซึ่งจะยาวกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยจะหนาวอยู่ที่ประมาณ 2-3 เดือน โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานจะมีอากาศค่อนข้างเย็นมากกว่าปีที่แล้ว ส่วนภาคกลางและกรุงเทพมหานครอากาศจะเย็น แต่ไม่ต่อเนื่อง จะสัมผัสได้กับลมเย็นเป็นช่วงๆ แต่มีโอกาสที่คนกรุงเทพฯ จะได้สัมผัสอากาศหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนธันวาคม ทำให้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอากาศกำลังเย็นสบายดี
“สำหรับฝนที่ตกโปรยปรายลงมาในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันก่อน รวมถึงเมื่อช่วงเช้าในบางพื้นที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นลักษณะปลายฝนต้นหนาว หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตเอง เนื่องจากมีมวลอากาศเย็น ส่งผลให้มวลอากาศต่ำ ทำให้เกิดแนวหนาว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีฝนในช่วงต้นฤดูหนาว”
ส่วนพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ อย่างจังหวัดปริมณฑล สภาพอากาศจะเย็นกว่า เนื่องจากความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้างและอาคารน้อย ทำให้ความร้อนที่กักเก็บอยู่ตามอาคารกระจายตัวได้ดีกว่าในเขตเมือง ขณะที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนจะมีอากาศหนาวและหนาวจัดกว่าปกติ มีโอกาสประสบภัยหนาว และมีโอกาสที่อุณหภูมิในบางพื้นที่จะลงไปต่ำกว่าระดับ 10 องศาเซลเซียส