×

Telegram คืออะไร ทำไมถึง ‘ลับมาก’ และ ‘ด่วนที่สุด’?

19.10.2020
  • LOADING...
Telegram คืออะไร

HIGHLIGHTS

  • Telegram คือแชตแอปพลิเคชันที่ก่อตั้งและพัฒนาขึ้นโดยสองพี่น้องชาวรัสเซีย ‘นิโคไล และพาเวล ดูรอฟ’ คนเดียวกับผู้ให้กำเนิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย VK 
  • จุดขายของ Telegram คือการเป็นแชตแอปพลิเคชันเข้ารหัสแบบ End-To-End (End-To-End Encryption) ที่โฟกัสความเร็ว ความปลอดภัยของข้อมูล ใช้งานง่าย และสามารถแพร่ข้อมูลถึงคนจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว 
  • เมื่อปีที่แล้วชื่อของ Telegram ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในหมู่ผู้ใช้งานในฮ่องกง เนื่องจากมันถูกใช้งานเป็นแพลตฟอร์มสำหรับกระจายข่าวสารที่เป็นประโยชน์สำหรับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย 

ทันทีที่ภาพถ่ายหน้าเอกสารคำสั่งฉบับหนึ่งที่เชื่อกันว่าออกโดย ‘กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ กรณีการขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือระงับการใช้แอปพลิเคชัน ‘Telegram’ ในประเทศไทยได้ถูกเผยแพร่ออกไปเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาของวันนี้ (19 ตุลาคม) แรงกระเพื่อมของสังคมที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานรัฐในประเด็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพก็ดูจะยกระดับขึ้นไปอีกขั้น

 

Telegram

 

แม้จะยังไม่มีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมออกมาอย่างเป็นทางการจากฝั่งดีอีเอส (THE STANDARD ได้ติดต่อขอข้อมูลกับสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีฯ แต่ไม่ได้รับคำตอบและการติดต่อกลับ) ประกอบกับเมื่อช่วงเวลา 17.30 น. ที่ผ่านมาของวันนี้ก็ยังพบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถใช้งานได้ปกติอยู่ 

 

แต่ถึงอย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าชื่อของ Telegram จะได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมากในสังคมไปแล้ว แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักแอปพลิเคชันนี้ THE STANDARD จึงมาสรุปเรื่องราวของแชตแอปพลิเคชันชื่อแปลกหูนี้มาให้คุณได้ทำความรู้จักไปพร้อมๆ กัน

 

Telegram

 

Telegram แชตแอปพลิเคชันสัญชาติรัสเซีย ‘เร็ว ปลอดภัย กระจายข้อมูลถึงคนจำนวนมาก’ คือจุดขาย

Telegram คือแชตแอปพลิเคชันที่ก่อตั้งและพัฒนาขึ้นโดยสองพี่น้องชาวรัสเซีย ‘นิโคไล และพาเวล ดูรอฟ (Nikolai & Pavel Durov) คนเดียวกับผู้ให้กำเนิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย VK ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเฟซบุ๊กเวอร์ชันรัสเซีย (ปัจจุบัน VK อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Mail.ru Group)

 

Telegram เริ่มให้บริการครั้งแรกอย่างเป็นทางการเมื่อ 7 ปีที่แล้ว หรือในปี 2013 ด้วยจุดประสงค์ของการเป็นแชตแอปพลิเคชันที่เข้ารหัสแบบ End-To-End (End-To-End Encryption) ที่โฟกัสความเร็ว ความปลอดภัยของข้อมูล ใช้งานง่าย และสามารถแพร่ข้อมูลถึงคนจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็ว (สามารถสร้างกรุ๊ปที่มีสมาชิกสูงสุดกว่า 2 แสนราย แต่การสร้างแชนแนลจะสามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้แบบไม่จำกัดจำนวน) 

 

นอกเหนือจากฟีเจอร์ต่างๆ ที่มีเหมือนกับแชตแอปพลิเคชันทั่วๆ ไป เช่น การโทรด้วยเสียง, โทรด้วยวิดีโอ, การใช้สติกเกอร์และบอต, การทำโพล ฯลฯ Telegram ยังมีฟีเจอร์สุดเจ๋งอย่าง ‘Secret Chats’ ที่ช่วยให้ทุกบทสนทนากลายเป็นแชตลับสุดยอดได้

 

ซึ่งการใช้งาน Secret Chats จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งานทั้งสองฝ่าย (ทั้งผู้ที่เริ่มบทสนทนาและผู้ที่เข้าร่วมแชตลับนั้นๆ (Client-to-Client Encryption)) ซึ่งบทสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแชตลับดังกล่าวจะถูกเข้ารหัส ไม่ปรากฏร่องรอยใดๆ ก็ตามบนเซิร์ฟเวอร์ ไม่สามารถส่งข้อความนั้นๆ ต่อได้ รวมถึงสามารถตั้งเวลาให้ลบข้อมูลตัวเองได้ตลอดเวลา (Self-destruct) อีกด้วย ซึ่งถือเป็นจุดขายที่ทำให้ Telegram ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากผู้ใช้งานทั่วโลกนั่นเอง

 

อีกหนึ่งความต่างที่ Telegram เคลมว่าแอปพลิเคชันของพวกเขาไม่เหมือนกับ WhatsApp คือการเป็นแชตแอปพลิเคชันที่อิงการเชื่อมต่อข้อมูลบนคลาวด์เป็นหลัก นั่นจึงทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้แอปพลิเคชันผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ‘ในเวลาเดียวกัน’ ได้อย่างลื่นไหลโดยไม่จำกัดจำนวนอุปกรณ์ ซึ่งผู้ใช้งานยังสามารถสำรองข้อมูลต่างๆ ขึ้นคลาวด์ได้สูงสุดมากกว่า 2GB อีกด้วย

 

ส่วนประเด็นการทำเงินนั้น ด้วยความที่พาเวลให้ความสำคัญกับประเด็น ‘ความเป็นส่วนตัวมากๆ’ Telegram จึงยืนยันหนักแน่นว่าพวกเขาจะไม่นำข้อมูลผู้ใช้งานไปขายต่อเพื่อหารายได้ ขายพื้นที่ลงโฆษณาใดๆ ก็ตาม หรือแม้กระทั่งเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานให้กับรัฐบาล

 

“Telegram จะเป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการฟรีต่อไป จะไม่มีวันที่แพลตฟอร์มของเรามีโฆษณาหรือการสมัครใช้บริการในรูปแบบเก็บค่าธรรมเนียม Subscription ด้วยวิสัยทัศน์ของ พาเวล ดูรอฟ เขาต้องการให้ Telegram สามารถใช้งานได้ฟรี 

 

“แต่หากเราประสบปัญหาด้านการเงิน เราจะแนะนำตัวเลือกช่องทางการสนับสนุนเงินให้กับ Telegram เพื่อพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานและรายได้ทางการเงินให้กับนักพัฒนาของเราแบบสมัครใจ แต่ยืนยันว่าการ ‘สร้างกำไรให้กับบริษัท’ ไม่เคยเป็นเป้าหมายของ Telegram แต่อย่างใด” Telegram ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์

 

‘อาวุธลับ’ กลุ่มผู้ชุมนุมขับเคลื่อนประชาธิปไตยในฮ่องกง

ด้วยความนิยมและฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานแบบสุดๆ ของ Telegram นี่เองที่ทำให้เดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชันของพวกเขามียอดผู้ใช้งานรายเดือน (MAUs) มากกว่า 400 ล้านรายเป็นที่เรียบร้อย เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2018 ที่มีผู้ใช้งานราว 200 ล้านรายต่อเดือน

 

เมื่อปีที่แล้วชื่อของ Telegram ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในหมู่ผู้ใช้งานในฮ่องกง เนื่องจากมันได้ถูกใช้งานเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการนัดพบในสถานที่ทำกิจกรรมเพื่อการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ แจกแจงรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการ กำหนดนัดหมาย ทิปส์เด็ดในการจัดการกับแก๊สน้ำตา ตลอดจนถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรม

 

(ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า Telegram มีผู้ใช้งานในฮ่องกงที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันครั้งแรกผ่านทุกแพลตฟอร์มเมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 ที่ผ่านมามากกว่า 1.1 แสนราย)

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐของฮ่องกงและจีนพยายามเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานใน Telegram ด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือนั้น (ไม่ปรากฏข้อมูลว่าความพยายามดังกล่าวสำเร็จหรือไม่) มีรายงานว่าฝั่ง Telegram เองก็ได้ตอบโต้ทันควันด้วยการอัปเกรดฟีเจอร์ที่จะป้องกันการระบุตัวตนผู้ใช้งานด้วยวิธีการดังกล่าว

 

ส่งผลให้แอปพลิเคชัน Telegram ถูกแบนห้ามใช้งานในหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย และอิหร่าน (ซึ่งอาจจะนับรวม ‘ไทย’ ในอนาคต)

 

Telegram

 

ด้วยเหตุผลของการเป็นแพลตฟอร์มแชตแอปพลิเคชันที่ช่วยอำนวยความสะดวก ความลับ ความปลอดภัยในการกระจายข้อมูลข่าวสารถึงผู้คนจำนวนมากๆ นี่เองที่ทำให้ Telegram ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ โดยเฉพาะการใช้เป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารด้านการจัดกิจกรรมชุมนุมหรือเคลื่อนไหวทางสังคม

 

‘ด่วนที่สุด’ หรือ ‘ลับมาก’ ในที่นี้จึงอาจจะไม่ได้แค่ให้ความหมายถึงความสำคัญของเอกสารคำสั่งฉบับดังกล่าวเท่านั้น 

 

หากแต่คำสองคำนี้ยังเป็นการให้ ‘นิยาม’ ความหมายและจุดแข็งของ Telegram ได้อย่างถูกต้องที่สุดอีกด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X