×

เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: อาจยังไม่มีผู้ชนะในคืนวันที่ 3 พ.ย. ความโกลาหลอาจเกิดจากการโหวตทางไปรษณีย์

16.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ทำให้การเลือกตั้งในหลายรัฐเปลี่ยนไปใช้ช่องทางการส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์แทน ซึ่งอาจทำให้เราทราบผลการเลือกตั้งช้ากว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ และอาจเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายตามมาได้
  • การนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์นั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าการนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งในคูหา เช่น ต้องมีขั้นตอนในการเปิดซอง การตรวจสอบบัตรเลือกตั้งว่าเป็นของจริง และการตรวจสอบลายเซ็นของคนในบัตรว่าตรงกับที่เคยเซ็นไว้
  • นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนเชื่อว่าน่าจะต้องมีการต่อสู้กันในทางกฎหมายอีกมากระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกันภายหลังการเลือกตั้ง หากคะแนนของไบเดนและทรัมป์ห่างกันไม่มาก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้จะมีความแตกต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายมลรัฐต้องเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้งจากการให้ประชาชนเข้าคูหาเพื่อกาบัตรเลือกตั้งโดยตรงไปเป็นการส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นหลักแทน เพื่อลดความจำเป็นที่ประชาชนจำนวนมากจะต้องมารวมตัวกันในสถานที่แคบๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโควิด-19ได้ง่าย

อย่างไรก็ดี การโหวตผ่านไปรษณีย์ก็อาจจะทำให้เราทราบผลการเลือกตั้งช้ากว่าปกติ และอาจเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายตามมาได้



การโหวตทางไปรษณีย์ไม่ใช่สิ่งใหม่
การโหวตโดยการส่งบัตรเลือกตั้งผ่านไปรษณีย์นั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสหรัฐฯ แต่อย่างใด การอนุญาตให้ส่งบัตรเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์มีมาตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทหารในแนวหน้าสนามรบได้มีส่วนร่วมในกระบวนการอันสำคัญยิ่งในการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศ

ในยุคปัจจุบัน แม้แต่การเลือกตั้งในครั้งก่อนๆ (ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19) ทุกมลรัฐก็จะมีการอำนวยความสะดวก (อย่างน้อยในระดับหนึ่ง) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถขอให้รัฐบาลระดับมลรัฐส่งบัตรเลือกตั้งไปให้ที่บ้านเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกากบาทแล้วส่งบัตรเลือกตั้งกลับมาทางไปรษณีย์ได้

แต่ความยากง่ายของการโหวตในรูปแบบนี้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละมลรัฐ บางมลรัฐจะส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนถึงบ้านโดยอัตโนมัติ ส่วนบางมลรัฐผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องทำเรื่องร้องขอไปก่อน บางมลรัฐผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องทำหนังสือชี้แจงด้วยว่าทำไมจึงไปโหวตที่คูหาไม่ได้

มลรัฐที่มีแนวโน้มจะทำให้การโหวตผ่านไปรษณีย์ทำได้โดยง่ายมักจะเป็นมลรัฐที่มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเดโมแครต เพราะฐานเสียงของพวกเขาคือคนผิวสีที่มีอัตราการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำกว่าคนผิวขาว ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการจะทำทุกวิถีทางให้การออกมาเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด เพื่อที่ฐานเสียงของพวกเขาจะได้ออกมาเทคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคให้มากที่สุด ในทางตรงข้าม มลรัฐที่มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นรีพับลิกันก็มักจะทำให้การโหวตทางไปรษณีย์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก (เช่น ต้องมีหนังสือชี้แจงว่าทำไมจึงไปคูหาเองไม่ได้) เพราะฐานเสียงของพวกเขาคือคนขาวที่ออกมาใช้สิทธิในอัตราส่วนที่มากอยู่แล้ว

 



ภูมิทัศน์ของการโหวตที่เปลี่ยนไปหลังการระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ดี การระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในหลายๆ มลรัฐ (รวมถึงมลรัฐที่ครองอำนาจโดยรีพับลิกัน) จำเป็นต้องออกแคมเปญรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันมาโหวตผ่านไปรษณีย์แทนที่จะไปคูหา เพื่อลดความแออัดในวันเลือกตั้งและลดโอกาสแพร่กระจายของเชื้อ

ซึ่งนั่นก็แปลว่าการเลือกตั้งในปีนี้จะเป็นครั้งแรกสำหรับหลายๆ มลรัฐที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากใช้สิทธิผ่านบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์ ซึ่งอาจทำให้การนับคะแนนเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์นั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่าการนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งในคูหา เช่น ต้องมีขั้นตอนในการเปิดซอง การตรวจสอบบัตรเลือกตั้งว่าเป็นของจริง และการตรวจสอบลายเซ็นของคนในบัตรว่าตรงกับที่เคยเซ็นไว้ เป็นต้น

ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนแสดงความกังวลว่าหลายมลรัฐไม่เคยนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่ได้ทางไปรษณีย์ในปริมาณที่มากแบบนี้มาก่อน อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่เลือกตั้งไม่มีความชำนาญและนับคะแนนด้วยความล่าช้า และอาจจะนับคะแนนไม่เสร็จในคืนวันเลือกตั้ง



บัตรเลือกตั้งในหลายมลรัฐจะมาถึงหลังคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน
และแม้ว่าการนับคะแนนจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ก็ยังมีความเป็นไปได้สูงอยู่ดีว่าเราจะยังหาผู้ชนะในคืนวันที่ 3 พฤศจิกายนไม่ได้ เพราะในหลายๆ มลรัฐมีการออกกฎหมายที่ระบุว่าบัตรเลือกตั้งที่ได้รับการประทับตราไปรษณีย์ภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนจะต้องนับคะแนนด้วย แม้ว่าบุรุษไปรษณีย์จะนำบัตรเลือกตั้งมาส่งให้สำนักงานเลือกตั้งหลังวันที่ 3 พฤศจิกายนก็ตาม (กล่าวคือถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งหย่อนบัตรวันที่ 3 พฤศจิกายน และไปรษณีย์ประทับตราไปรษณีย์รับบัตรเลือกตั้งเข้ามาในระบบวันนั้นแล้ว บัตรเลือกตั้งใบนั้นจะต้องถูกนับคะแนน แม้ว่าตัวบัตรจะมาถึงจริงๆ หลังวันที่ 3 ก็ตาม)

ซึ่งหลายมลรัฐที่เป็นมลรัฐสีม่วง (Battleground States) เช่น เพนซิลวาเนีย, มิชิแกน, วิสคอนซิน และนอร์ทแคโรไลนา ก็มีกฎหมายในลักษณะนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าคณะกรรมการเลือกตั้งของมลรัฐเหล่านั้นจะยังไม่กล้าประกาศว่าใครจะเป็นผู้ชนะในคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน หากคะแนนของ โดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ยังทิ้งห่างกันไม่มาก เพราะเป็นไปได้ว่าจะยังมีบัตรเลือกตั้งเดินทางมาถึงสำนักงานเลือกตั้งหลังคืนวันนั้นอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะทำให้คะแนนพลิกผันอีกรอบได้

 



อาจจะมีการฟ้องร้องซ้ำรอยปี 2000
แน่นอนว่าพรรครีพับลิกันย่อมไม่พอใจกฎหมายในลักษณะนี้ เพราะมันจะทำให้ฐานเสียงของพรรคเดโมแครตออกมาใช้สิทธิใช้เสียงเทคะแนนให้ไบเดนในปริมาณที่มากขึ้น และพยายามต่อสู้ในศาลว่ากฎหมายเหล่านี้ของรัฐบาลมลรัฐขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในหลายๆ มลรัฐ พรรครีพับลิกันแพ้การต่อสู้ในศาลระดับมลรัฐและศาลอุทธรณ์ไปแล้ว แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าจะต่อสู้เรื่องนี้ไปจนถึงศาลสูงสุด (และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทรัมป์พยายามแต่งตั้ง เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ผู้พิพากษาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมขึ้นเป็นตุลาการศาลสูงสุดคนใหม่แทนที่ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง)

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนยังเชื่ออีกว่าน่าจะต้องมีการต่อสู้กันในทางกฎหมายอีกมากระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกันภายหลังการเลือกตั้ง หากคะแนนของไบเดนและทรัมป์ห่างกันไม่มาก

เพราะการตัดสินว่าบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์ใบหนึ่งๆ จะถูกนับเป็นคะแนนหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณารายละเอียดความน่าเชื่อถือประกอบด้วย เช่น เรื่องของการประทับตราไปรษณีย์ (ถ้าประทับตราไม่ชัดจะตัดสินอย่างไร) การตรวจสอบลายเซ็นว่าตรงกับที่เคยลงทะเบียนไว้หรือไม่ หรืออย่างบางรัฐ เช่น เพนซิลวาเนีย ก็มีกฎระเบียบยิบย่อยอีกว่าบัตรเลือกตั้งจะต้องห่อด้วยซองพิเศษอีกหนึ่งชั้น ไม่ใช่แค่ซองจดหมายทั่วไป ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้อาจต้องนับคะแนนซ้ำแล้วซ้ำเล่า (เพราะว่ามีการโต้เถียงกันว่าบัตรใบไหนควรจะนับหรือไม่นับ) เหมือนกรณีของการเลือกตั้งในปี 2000 ระหว่าง จอร์จ บุช คนลูก กับอัล กอร์ ที่สุดท้ายแล้วผลการเลือกตั้งต้องไปตัดสินกันที่ศาลสูงสุด



ทรัมป์อาจจะใช้โอกาสทำลายความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง
ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมาตลอดว่าเขาจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากเขาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทรัมป์กล่าวหา (โดยไม่มีหลักฐาน) ว่าไบเดนและพรรคเดโมแครตกำลังพยายามโกงการเลือกตั้งด้วยการส่งบัตรเลือกตั้งปลอมเข้ามาทางไปรษณีย์ และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงคัดค้านการออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนโหวตทางไปรษณีย์ได้ และต้องการให้การเลือกตั้งใช้ระบบคูหาแบบที่เคยทำมาเป็นหลัก (แต่ที่ตลกร้ายคือตัวทรัมป์เองกลับโหวตทางไปรษณีย์)

ด้วยความวุ่นวาย ความล่าช้าในการรายงานผล และการฟ้องร้องที่อาจจะตามมาหลังการเลือกตั้ง อาจจะเป็นชนวนอย่างดีที่ทำให้ทรัมป์ใช้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อว่ามีการโกงการเลือกตั้งโดยเดโมแครตจริงๆ ที่สำคัญมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ทรัมป์จะมีคะแนนนำในมลรัฐสีม่วงหลายๆ รัฐในคืนวันเลือกตั้ง เพราะผลโพลชี้ว่าฐานเสียงของเขาจะออกไปใช้สิทธิในคูหาเป็นส่วนใหญ่ (เพราะทรัมป์ตีฆ้องร้องป่าวมาตลอดว่าเขาไม่สนับสนุนการโหวตทางไปรษณีย์) ในขณะที่ฐานเสียงของไบเดนเลือกที่จะโหวตทางไปรษณีย์เป็นหลัก (ตามที่ไบเดนและเดโมแครตออกมาเชียร์) ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็นว่าทรัมป์มีคะแนนนำห่างในช่วงแรก เพราะบัตรเลือกตั้งที่ถูกนับในช่วงแรกมาจากคูหาเป็นหลัก จากนั้นคะแนนจะค่อยๆ บีบแคบลงเมื่อบัตรเลือกตั้งที่ส่งมาทางไปรษณีย์ซึ่งเป็นฐานเสียงของไบเดนเริ่มถูกนับ แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทรัมป์นำไปกล่าวอ้างว่าเขาถูกโกง ทรัมป์อาจอ้างได้ว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่เขามีคะแนนนำในคืนเลือกตั้ง แต่กลับมาแพ้ในวันหลังจากนั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X