เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้ทำพรีวิวผลประกอบการปีงบการเงินไตรมาส 4/63 ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) โดยในช่วงไตรมาส 4/63 นี้คาดว่าจะขาดทุนปกติ 2.2 พันล้านบาท พลิกจากกำไรปกติ 5.2 พันล้านบาทในไตรมาส 4/62 ที่ผ่านมา แต่ดีขึ้นจากการขาดทุนปกติ 2.6 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 3/63 โดยตัวการสำคัญที่ฉุดรั้งผลประกอบการคือ ‘การไม่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศ’ (-99%YoY) ขณะที่ผู้โดยสารภายในประเทศที่กลับมาใช้บริการ (-45%YoY) ไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด
กระทบอย่างไร:
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวานนี้ (8 ตุลาคม) ราคาหุ้น AOT ปรับลงมาแล้ว 22.9%YTD จาก 74.25 สู่ระดับ 57.25 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 19.3%YTD จากระดับ 1,579.84 จุด สู่ 1,274.83 จุด
มุมมองระยะสั้น:
แม้พรีวิวผลประกอบการไตรมาส 4/63 ข้างต้นจะดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ หลัง AOT เผยว่ากรมธนารักษ์ได้ปรับลดค่าเช่าที่ราชพัสดุในปีงบการเงิน 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ AOT ทำให้คาดว่า AOT จะประหยัดต้นทุนได้ราว 1.0 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ในไตรมาส 4/63 แต่ SCBS มองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง
โดยมีสาเหตุมาจากความผันผวนของวิวัฒนาการของโรคโควิด-19 และการดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจะส่งผลทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยล่าช้าออกไปเป็นครึ่งปีหลัง 2564 (จากไตรมาส 4/63)
โดยอิงกับมุมมองที่ว่าวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจะทำให้หลายๆ ประเทศกลับมาเปิดประเทศได้มากขึ้นด้วยการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทาง โดยเฉพาะเงื่อนไขการกักตัว (Quarantine) ดังนั้นเราจึงปรับสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของ AOT ลดลงสู่ 6.6 ล้านคนในปีงบการเงิน 2564 (ลดลงจาก 22 ล้านคน)
โดยคาดว่าการฟื้นตัวจะเริ่มได้ในไตรมาส 4/64 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) และจะฟื้นตัวสู่ 50.8 ล้านคนในปีงบการเงิน 2565 (ลดลงจาก 65 ล้านคน) ส่งผลให้ SCBS ปรับประมาณการผลประกอบการของ AOT ลดลงสู่ขาดทุนปกติ 6.8 พันล้านบาทในปีงบการเงิน 2564 (จากขาดทุนปกติที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.8 พันล้านบาท) จากนั้นจะฟื้นตัวกลับมามีกำไรปกติ 1.5 หมื่นล้านบาทในปีงบการเงิน 2565 (ลดลงจากกำไรปกติที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท)
มุมมองระยะยาว:
แม้ SCBS เชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดสำหรับการดำเนินงานของ AOT ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และเชื่อว่า AOT จะสามารถอยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ชะลอตัวลง โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท
โดยอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ในระดับต่ำที่ 0.1 เท่า (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) แต่อย่างไรก็ดี ระยะถัดไปจากนี้เรายังคงต้องจับตาความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนและเฝ้าระวังโอกาสเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวเร็วหรือช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม:
%YTD คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
%YoY คือเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเดียวกันเทียบกับปีก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์